สืบเนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพของประเทศไทย ทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการพัฒนาระบบและการจัดเก็บข้อมูลเป็นของตนเอง จึงทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ขาดการบูรณาการเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ และการจัดเก็บข้อมูลร่วมกันยังมีอยู่น้อย อีกทั้งข้อมูลที่มีอยู่ก็ยังขาดมาตรฐานในการเชื่อมโยงจึงไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ดังนั้น สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ภายใต้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์ข้อมูลข่าวสารสุขภาพแห่งชาติขึ้น โดยกระบวนการทำงานที่ผ่านมามีการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ (ร่างที่ 1) และนำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวผ่านการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนนโยบายคณะที่ 5 จากนั้นได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็น (เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 50) ในสร้างกรอบของแผนยุทธศาสตร์ และกระบวนการทำประชาพิจารณ์ต่อแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "เรื่อง การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ข้อมูลข่าวสารสุขภาพแห่งชาติ" ขึ้นในวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นกรอบและเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลในประเทศต่อไป ผู้เข้าร่วมการประชุมวันนี้ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาคีเครือข่าย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพจากทุกภาคส่วน นักวิชาการและผู้จัดทำประมาณ 150 คน ในการนี้ นพ.สุริยะ วงศ์คงคมเทพ สาธารณสุขนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้เกียรติ์เป็นประธานเปิดการประชุม และบรรยายเรื่องนโยบายด้านข้อมูลข่าวสารสุขภาพและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสุขภาพ โดยท่านได้กล่าวถึง สาระสำคัญ สิ่งที่สำคัญที่จะต้องคำนึงถึงในการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพก็คือ ทำให้มีการนำข้อมูลที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นแนวทางการพัฒนาระบบจึงต้องมองความต้องการของผู้ใช้ สร้างความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของข้อมูล และสร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ใช้ข้อมูลร่วมกันเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ใช้จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่นั้น ผู้จัดทำระบบจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น วิเคราะห์ถึงความครอบคลุม หรือระดับความพร้อมและศักยภาพของผู้ใช้ข้อมูลซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันออกไปด้วย และเพื่อให้การประชุมเป็นไปในทางเดียวกัน นพ.พินิจ ฟ้าอำนวยผล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าสารสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนทั้งงานด้านวิชาการและงบประมาณในการจัดประชุมครั้งนี้ จึงได้ให้กรอบแนวคิดกระบวนการและแนวทางในการพิจาณาแผนยุทธศาสตร์ฯ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความเข้าใจที่ตรงกัน โดยแผนยุทธศาสตร์ที่นำมาพิจารณาทั้งหมดมีอยู่ด้วยกัน 5 ยุทธศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 พิจารณา ยุทธศาสตร์ที่ 1 กลไกสนับสนุน กลุ่มที่ 2 พิจารณา ยุทธศาสตร์ที่ 2.1 ดัชนีชี้วัดสุขภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 2.2 ข้อมูลสถิติชีพ กลุ่มที่ 3 พิจารณา ยุทธศาสตร์ที่ 2.3 ข้อมูลเฝ้าระวังโรค บาดเจ็บ ยุทธศาสตร์ที่ 2.5 ข้อมูลทะเบียนโรค กลุ่มที่ 4 พิจารณา ยุทธศาสตร์ที่ 2.4 ข้อมูลปัจจัยคุกคามสุขภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 2.8 ข้อมูลการสำรวจสุขภาพ กลุ่มที่ 5 พิจารณา ยุทธศาสตร์ที่ 2.6 ข้อมูลบริการสุขภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 2.7ข้อมูลทรัพยากร ค่าใช้จ่าย กลุ่มที่ 6 พิจารณา ยุทธศาสตร์ที่ 2.9 ข้อมูลสุขภาพระดับพื้นที่ กลุ่มที่ 7 พิจารณา ยุทธศาสตร์ที่ 3 มาตรฐานและคุณภาพข้อมูล กลุ่มที่ 8 พิจารณา ยุทธศาสตร์ที่ 4 ระบบจัดการ เชื่อมโยงข้อมูล ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสื่อสาร การใช้ประโยชน์ จากการพิจารณายุทธศาสตร์แต่ละยุทธศาสตร์ โดยภาพรวมสิ่งที่ต้องมีการปรับแก้ ได้แก่ การปรับแก้วิสัยทัศน์การวางยุทธศาสตร์ให้กว้างขึ้น โดยเน้นเรื่องการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ และสามารถเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ และการปรับโครงสร้างกรรมการ ซึ่งเห็นว่าควรระบุคุณลักษณะของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสุขภาพแห่งชาติว่า ควรประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และนักวิชาการ ด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมส่วนใหญ่อยากให้มีการกำหนดคำนิยามและขอบข่ายของระบบสุขภาพไว้ด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งคณะทำงานจะนำข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ไปปรับแก้ โดยท่านผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งคณะผู้จัดทำจะนำมาลงใน www.hiso.or.th ครั้งต่อไป