มหกรรมสุขภาพชุมชน 2552
Community Health and Primary Care Expo 2009
สร้างคุณค่าความเป็นคน สร้างสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็ง
วันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2552 ณ อิมแพ็ค คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เมืองทองธานี |
มหกรรมสุขภาพชุมชนประจำปี 2552 ถูกจัดขึ้นจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายสุขภาพชุมชน เพื่อปลุกเร้าอุดมการณ์ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการ นวัตกรรมสำหรับคนทำงานบริการสุขภาพปฐมภูมิ ผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย ทั้ง การประชุมเวทีวิชาการ ลานกิจกรรม เวทีสันสาระ สานเสวนา ลานสุขศาลา ฯลฯ
จุดเด่นมหกรรมสุขภาพชุมชนประจำปี 2522 คือ ภาพเรื่องเล่า "คุณค่างาน คุณค่าคน" ที่สื่อถึงการสืบทอดเจตนารมณ์ และจิตวิญญาณงานสาธารณสุขของคนทำงานสุขภาพชุมชน สะท้อนผ่านผลงานภาพถ่ายจากช่างภาพมืออาชีพของไทย
ในช่วงเช้า วันที่ 18 ก.พ. ศ.นพ. ประเวศ วะสี ได้ปาฐกถา เรื่อง "สร้างคุณค่าความเป็นคน สร้างสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็ง" โดยเนื้อหาสำคัญกล่าวถึงการแก้วิกฤตประเทศในปัจจุบัน ควรเริ่มจากสิ่งแรกคือ สิ่งที่มีอยู่ มีมาก แข็งแรง และทำได้ด้วยตัวเอง นั้นคือ คุณค่าความเป็นคน การเคารพซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่สังคมประชาธิปไตย และความเป็นธรรมด้านสุขภาพ สิ่งที่สองคือ การร่วมคิด ร่วมทำ ทุกพื้นที่ ทุกองค์กร เพราะการแก้ปัญหาด้วยโครงสร้างเชิงดิ่ง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การพัฒนาแนวใหม่ต้องเริ่มต้นจากฐาน คือ การดูแลตนเอง การดูแลครอบครัว และการดูแลในชุมชน สำหรับโครงสร้างของระบบสุขภาพชุมชน ควรพัฒนาระบบในภาพรวม เชื่อมโยงทุกมิติ สร้างเป้าหมาย และวิสัยทัศน์ร่วมของระบบสุขภาพชุมชน เน้นเพิ่มการวิจัยพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนทุกจังหวัด
ในช่วงบ่าย วันที่ 18 ก.พ. มีการจัดประชุมเวทีวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริการสุขภาพปฐมภูมิ ในหลากหลายประเด็น เวทีหนึ่งที่ได้รับความสนใจ คือ บทบาทท้องถิ่นกับการจัดการระบบสุขภาพชุมชน ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ การถ่ายโอนศูนย์สุขภาพชุมชนหรือสถานีอนามัย ให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในเวทีนี้จัดให้มีการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดประสบการณ์ การทำงาน การประสานงานสุขภาพชุมชน จากตัวอย่างทั้ง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายโอนงานสุขภาพชุมชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่ยังไม่ได้รับการถ่ายโอน นอกจากนั้นยังได้รับข้อมูลจากผลการศึกษา การถ่ายโอนศูนย์งานสุขภาพชุมชน จากอาจารย์สมพันธ์ เตชะอธิก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสรุปว่า แม้การถ่ายโอนนั้นต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่ไม่มีการกำหนดบทลงโทษ และต้องการความชัดเจนในระดับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข การถ่ายโอนการบริการสุขภาพมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ในด้านความเห็นของท่านอาจารย์สมพันธ์ เตชะอธิก เห็นควรให้มีการถ่ายโอน แต่ให้เป็นไปตามความสมัครใจ และความพร้อมของทั้ง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และ สถานีอนามัยในตำบลนั้นๆ โดยให้มีการพิจารณาเป็นท้องที่ไป
คุณสมเกียรติ ธรรมสาร หัวหน้าสถานีอนามัยสร้างถ่อน้อย จ.อำนาจเจริญ และคุณสินธพ อินทรัตน์ นายก อบต.ท่าข้าม จ.สงขลา เป็นตัวอย่างการทำงานสุขภาพชุมชนที่ยังไม่มีการถ่ายโอนสถานีอนามัย ได้เล่าประสบการณ์ทำงานด้านสุขภาพชุมชน ซึ่งเน้นการประสานงานที่ดี และการใช้หัวใจทำงานเป็นหลัก ด้านคุณธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ องค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน จ.นครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งในกว่า 20 องค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้รับการถ่ายโอนสถานีอนามัยมาอยู่ในการบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล เล่าถึง ประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งเน้นการสร้างนโยบายโดยชุมชน การสร้างความตระหนักด้านสุขภาพจากข้อมูลสุขภาพชุมชน ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจากการตรวจสุขภาพของประชนชนทุกคนในชุมชน
โดยในที่ประชุมสรุปว่า การถ่ายโอนหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่การทำงานแบบองค์รวม และการประสานงานที่ดี จะสามารถขับเคลื่อนสุขภาพชุมชนได้
|
| ภาพประกอบการประชุม |
|
|
เขียนโดย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ |
|