เวทีสร้างสุข 10 สถานการณ์เด่น สุขภาพคนไทย เรื่องร้อนๆที่คนไทยต้องรู้ วันอังคารที่ 24 มีนาคม 52 ลานกิจกรรม ชั้น35 สสส. อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ |
จากสถานการณ์ความรุนแรงของสังคมไทย ทั้งความขัดแย้งในเชิงความคิดทางการเมือง ปัญหาชายแดนภาคใต้ อันเป็นความรุนแรงทางวัฒนธรรม ปัญหาความรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น และความรุนแรงทางเพศ ปรากฎ ถี่ย้ำมากขึ้นในสังคมไทย นับว่าในปีที่ผ่านมาเป็นปีที่คนไทยมีความทุกข์ เป็นสังคมแห่งความทุกข์อย่างชัดเจน สถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งเรื่องพิเศษและแนวคิดหลักของหนังสือสุขภาพคนไทย ปี 2552 "เพื่อสุขภาวะแห่งมวลมนุษย์ หยุดความรุนแรง"
วันที่ 24 มีนาคม 52 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม โดยมี รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล และ อาจารย์อุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์ เปิดตัวหนังสือสุขภาพคนไทย ปี 2552 ณ ลานกิจกรรม ชั้น 35 สสส. โดยเนื้อหาในเล่มได้นำเสนอ 10 สถานการณ์ร้อนๆที่คนไทยต้องรู้ทั้งในเรื่องดี เช่น การเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็งมากขึ้นของคนไทย จากการทำ CL ยา การเกิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะของชาติ และในเรื่องทุกข์ของสังคมไทยที่ต้องตระหนัก เช่น ภาวะซึมเศร้าการฆ่าตัวตาย การค้ามนุษย์ กรณีโรฮิงญา ภัยคุกคามทางเพศในสถานศึกษา และอื่นๆ
อีกส่วนประกอบที่สำคัญ 1 ใน 3 ของหนังสือสุขภาพคนไทยคือ ชุดดัชนีชี้วัด ซึ่งในปีนี้เป็นประเด็นด้านระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งสะท้อนภาพรวมระบบบริการสาธารณสุขของไทยว่า มีการขยายตัวทุกระดับทั้งระดับปฐมภูมิ และทุติยภูมิ เพิ่มการครอบคลุมเกือบทุกกลุ่มประชากร และที่สำคัญระบบบริการสาธารณสุขยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างมาก อย่างไรก็ตามระบบบริการสาธารณสุขยังพบปัญหาด้านคุณภาพ การกระจุกตัวของบุคคลากร และเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยเฉพาะในภาคเอกชน และพื้นที่ส่วนกลาง การตายของประชาชนในภาวะไม่พึ่งประสงค์ และระบบบริการที่ยังไม่ครอบคลุมโรคสำคัญบางโรคเช่น การตรวจหามะเร็งปากมดลูก การตรวจคัดกรองเบาหวาน เป็นต้น
รศ.ดร.กฤตยา ได้ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า ปัญหาความรุนแรงเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน ในตัวมันเอง การกระทำความรุนแรง ผู้กระทำจะไม่รับรู้จนกว่าตนเองจะเป็นผู้ถูกกระทำ สังคมไทยเคยชินกับการใช้ความรุนแรงยุติความรุนแรงเสมอมา ดังนั้นสังคมไทยจำเป็นต้องได้รับความรู้ว่า ความรุนแรงไม่สามารถยุติด้วยความรุนแรง และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อน หยุดความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อสุขภาวะแห่งมวลมนุษย์
สำหรับในฉบับนี้ ท้ายเล่มทางคณะผู้จัดทำ หนังสือสุขภาพไทยได้จัดทำแบบสอบถาม เพื่อให้ผู้ติดตามหนังสือสุขภาพคนไทยทุกท่านได้แลกเปลี่ยนความเห็น ติชม เพื่อนำความเห็นต่างๆจากผู้อ่านใช้เป็นแนวทางสำหรับหนังสือสุขภาพคนไทย |
| ภาพประกอบการประชุม |
|
|
เขียนโดย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ |
|