สรุปการประชุมวิชาการ
"ประเทศไทยจะได้อะไรจากการทำสำมะโนประชากรและเคหะ 2553"


นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ ประธานคณะกรรมมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ กล่าวเปิดการประชุมโดยมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

วัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นประโยชน์และมีส่วนร่วมในการทำสำมะโนประชากรของประเทศไทย ในการรณรงค์ผลักดันให้ผู้บริหารประเทศ ผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายการผลักดันขับเคลื่อนนโยบายและโครงการต่างๆ ที่ส่งผลให้ประเทศก้าวหน้าพัฒนาต่อไป และเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และเห็นประโยชน์ของการทำสำมะโนและเคหะ 2553


การทำสำมะโนประชากรเป็นโครงการที่ถูกจัดทำอย่างต่อเนื่อง มานานนับเป็น 100 ปี ในประเทศต่างๆ มาก
กว่า 200 ประเทศ ประเทศที่ทำสำมะโนประชากรเป็นครั้งแรกคือ ประเทศแคนาดา เมื่อปี ค.ศ. 1666 ซึ่งเป็นเวลา 343 ปีมาแล้ว ส่วนประเทศไทยได้จัดทำสำมะโนประชากรมาแล้ว 10 ครั้ง ในครั้งแรกทำเมื่อ ปี พ.ศ. 2452 และในปี พ.ศ. 2553 เป็นการทำสำมะโนครั้งที่ 11 และถือเป็นการทำสำมะโนครบ 100 ปี ในการนับจำนวนผู้คนทั้งหมดที่อาศัยในราชอาณาจักรไทย รวมทั้งการแจกแจงว่าผู้คนเหล่านั้น มีคุณลักษณะอย่างไร มีการกระจายตัวอยู่ที่ไหนในประเทศไทย การแจกนับคนทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทยนี้ เรียกว่า "การทำสำมะโนประชากร" ซึ่งเสมือนเป็นการฉายภาพนิ่งทั้งประเทศในเวลาเดียวกันคือ 1 กรกฎาคม 2553 ประชากร
กลุ่มที่สำคัญที่รัฐบาลต้องดูแลและให้ความสนใจ คือ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งข้อมูลการทำสำมะโนและเคหะ สามารถสะท้อนภาพลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของกลุ่มคนเหล่านี้ ดังนั้น ผู้บริหารประเทศ ภาคราชการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลที่ได้ในการวางแผนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสได้ตรงกับสภาพปัญหาที่แท้จริง ของแต่ละกลุ่ม ในแต่ละพื้นที่ ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นการทำสำมะโนประชากรและเคหะในปี 2553 จะได้มีข้อมูลสะท้อนข้อเท็จจริงของประชากรทั้งประเทศ ในพื้นที่ต่างๆในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เทศบาลและอบต. ที่ใช้ในการบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้าและประชาชนอยู่ดีมีสุขต่อไป อบการตัดสินใจในการ

นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ประธานในที่ประชุม) ได้กล่าวถึง การประชุมในครั้งนี้ เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการที่ประเทศต้องทำสำมะโนประชากรและเคหะ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำสำมะโนประชากรและเคหะ และประชาชนทุกคนจะมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยได้อย่างไร ประเทศไทยได้จัดทำสำมะโนประชากรมาแล้ว 10 ครั้ง ทำสำมะโนประชากรและเคหะมาแล้ว 4 ครั้ง และในการทำสำมะโนประชากรและเคหะในปี พ.ศ. 2553 จะเป็นครั้งที่ 5 จะเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติ เกี่ยวกับจำนวน และลักษณะข้อมูลทางประชากรทุกคนในครัวเรือน ณ ที่อยู่ปกติ ในวันที่จัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ อันจะทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับประชากรที่อาศัยอยู่จริงตามพื้นที่ต่างๆในประเทศไทย ในทุกระดับตั้งแต่ระดับ หมู่บ้าน ตำบล/เทศบาล อำเภอ และจังหวัด ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำมาช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารระดับต่างๆ ในการวางแผนนโยบายและโครงการต่างๆ เพื่อให้สามารถลงลึกไปถึงระดับท้องถิ่น ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรม ซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ในการประเมินผลจากพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ใช้ในการบริหารจัดการและประเมินโครงการต่างๆ ทั้งในด้านการพัฒนาครอบครัว ที่อยู่อาศัย การศึกษา สุภาพ การคมนาคมขนส่ง และพัฒนาเมือง/ชนบท อีกทั้งภาคเอกชนยังสามารถนำข้อมูลจากสำมะโนประชากรและเคหะ ไปใช้ในการตัดสินใจในการประกอบธุรกิจสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าและบริการ ข้อมูลจากสำมะโนประชากรและเคหะสามารถนำไปใช้กำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดทั้งคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น

การกล่าวปาฐกถานำเรื่อง "สำมะโนประชากร 2553 สำคัญอย่างไรต่อรัฐบาลและต่อสังคมไทย" โดย ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยสรุปได้ดังนี้

ประเทศไทยเริ่มทำสำมะโนประชากรสมัยใหม่ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 โดยการนับจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆทั่วราชอาณาจักร และแจกแจงว่าเป็นใครบ้าง เช่น มีผู้ชาย ผู้หญิง จำนวนเท่าไร อายุเท่าไร เป็นคนชาติพันธุ์อะไรบ้าง และนำเสนอรายงานอย่างเป็นทางการ การนับจำนวนคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ สมัยนั้นเรียกว่า "การทำบัญชีพลเมือง" ในปี พ.ศ.2448 แต่การนับพลเมืองครั้งแรกสามารถทำได้ในพื้นที่บางส่วนคือ ในเขตบริหาร 12 มณฑลจาก 17 มณฑล ที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2452 ได้เริ่มนับจำนวนประชากรอีกครั้งให้ครบทุกมณฑล ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ปี กล่าวคือ เริ่มนับพลเมืองในมณฑลกรุงเทพฯ ซึ่งสังกัดกระทรวงนครบาล สำรวจเสร็จในปี พ.ศ.2453 ที่เหลืออีก 17 มณฑล สังกัดกระทรวงมหาดไทย นับเสร็จในปี พ.ศ.2454 เรียกจำนวนประชากรรวมนี้ว่า "ยอดบัญชีพลเมืองทั่วราชอาณาจักร" ซึ่งนับได้ 8.1 ล้านคน (เป็นจำนวนประชากรที่นับได้อย่างเป็นทางการครั้งแรก) นั่นคือ "การจัดทำสำมะโนประชากรครั้งแรก" ซึ่งในปี พ.ศ. 2553 เป็นการทำสำมะโนครั้งที่ 11 และถือเป็นการทำสำมะโนครบ 100 ปี โดยจัดทำทุกๆ 10 ปี

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการทำสำมะโนประชากรตั้งแต่ครั้งที่ 6 พ.ศ.2503 และในครั้งที่ 7 ก็เริ่มทำการสำรวจเคหะเพิ่มขึ้นมา เป็นการทำสำมะโนประชากรและเคหะ และในครั้งต่อไปมีกำหนดการจัดทำระหว่างวันที่ 1 - 31 กรกฎาคม 2553 โดยคาดหวังว่าจะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง เพื่อเป็นหลักฐานทางประว้ติศาสตร์ว่า ประชากรไทยในปี พ.ศ.2553 มีจำนวนเป็นเท่าไร คนเหล่านี้มีคุณลักษณะอย่างไร มีการกระจายตัวอยู่ที่ใดบ้าง เป็นชาย หญิง เด็ก คนทำงาน คนชรา คนพิการ จำนวนเท่าใด ฯลฯ ข้อมูลระดับประเทศเหล่านี้ สามารถนำมาใช้ช่วยในการตัดสินใจของรัฐบาลและผู้บริหารระดับต่างๆมากมาย เช่นใช้ในการวางแผนนโยบายและโครงการต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ในพื้นที่ที่มีเด็กมาก ก็ควรต้องมีโรงเรียน ครู และวัคซีนที่ใช้ในการฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคของเด็กแต่ละวัยให้เพียงพอ ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นต้องมีระบบสาธารณูปโภคอย่างเพียงพอ ต้องมีระบบการขนส่งมวลชนให้เหมาะสมกับจำนวนประชากร เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้ในการกำหนดประเด็นปัญหา ตั้งเป้าหมายและติดตามความก้าวหน้าในการทำงาน สำหรับการบริหารจัดการและประเมินโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาครอบครัว เคหะที่อยู่อาศัย การศึกษา สุขภาพอนามัย การขนส่งคมนาคม การพัฒนาเมือง/ชนบท ใช้ในการประเมินแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 พ.ศ. 2550 - 2554 เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้ในการวางแผนต่อเนื่องทางด้านวิชาการต่างๆ สภาพัฒน์ ตลอดจนนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ ยังได้นำข้อมูลสำมะโนไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน ในการคาดการณ์ประมาณการณ์ประชากรของประเทศไทยในอนาคต โดยข้อมูลนี้สามารถใช้ในการจัดเตรียมแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555 - 2559 ได้ ส่วนในภาคเอกชนก็สามารถนำข้อมูลสำมะโนไปใช้ได้กล่าวคือ สามารถนำเสนอข้อมูลไปถึงระดับพื้นที่ย่อย เช่น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ นำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจตั้งร้านค้า ธุรกิจ หรือผลิตสินค้าเพื่อขาย ขณะที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. อบจ. หรือเทศบาล ก็สามารถนำข้อมูลไปใช้ร่วมกับข้อมูลแหล่งทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อการวางแผนพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นของตนเองได้เช่นเดียวกัน สำหรับรัฐบาล ข้อมูลสำมะโนประชากรที่จัดทำทุกๆ 10 ปีนี้ ถือเป็นแหล่งข้อมูลหลักระดับประเทศ ที่เกี่ยวกับขนาด การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ ที่อยู่อาศัย รวมทั้งลักษณะทางสังคมเศรษฐกิจ และประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทำให้ผู้บริหารในระดับต่างๆ สามารถนำข้อมูลช่วยไปใช้ในการตัดสินใจวางแผน และช่วยในการตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรไทยมีอายุยืนขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชากรจากชนบทย้ายถิ่นเข้ามาในเมืองมากขึ้นโดยไม่ได้จดทะเบียนย้ายที่อยู่ ขณะเดียวกันคุณภาพประชากรทุกรุ่นวัยเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขปรับปรุง เพื่อการพัฒนาชีวิต ที่อยู่อาศัยในประเทศ ทั้งหมดนี้ล้วนต้องการสถิติข้อมูลที่ถูกต้อง มาใช้ในการวางแผนนโยบายทั้งสิ้น

ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 เป็นวันอ้างอิงของข้อมูลแต่ละคนในการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ เหตุการณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเวลา ไม่ว่าจะเป็น การเกิด การตาย การย้ายถิ่น จะถือเอาวันดังกล่าวเป็นเกณฑ์ ทุกๆท่านจึงควรสละเวลาเพียงเล็กน้อยเพื่อร่วมฉลอง 100 ปีของการทำสำมะโนประชากร โดยการใช้ข้อมูลตามความเป็นจริงเกี่ยวกับบุคคลในครัวเรือนของตนเอง

การทำสำมะโนประชากรมีหลักการในการรักษาความลับข้อมูลส่วนบุคคลในทุกขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนในการเก็บรวบรวม ประมวลผลและการวิเคราะห์ข้อมูล แต่จะนำผลในภาพรวมมาแสดง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลตำบล/เทศบาล อำเภอ จังหวัด ภาคและประเทศ ไม่มีการโยงข้อมูลไปถึงตัวบุคคลหรือครัวเรือนจนทำให้เกิดความเสียหายอย่างเด็ดขาด

เวทีอภิปราย "การใช้ข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะในการตอบโจทย์ใหญ่ๆของประเทศ" โดย วิทยากร 3 ท่าน ได้แก่

1. คุณจิราวรรณ บุญเพิ่ม : รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ
2. ศ.กิตติคุณ ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ : นายกสมาคมสถิติแห่งประเทศไทย
3. นพ.สุวิทย์ วิบูลผลประเสริฐ : ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการควบคุมป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยแต่ละท่านได้อภิปรายในประเด็นต่างๆดังนี้

คุณจิราวรรณ บุญเพิ่ม : รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ

การทำสำมะโนประชากรและเคหะ คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประชากรทุกคนในประเทศตามที่อยู่จริง และที่อยู่อาศัยจริงของประชากรนั้น เพื่อนำมาเสนอผลในภาพรวม (หมู่บ้าน ตำบล/เทศบาล อำเภอ จังหวัด ประเทศ โดยจัดทำทุกๆ 10 ปี ตามข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ (ในปี ค.ศ. ที่ลงท้ายด้วย 0)

และในวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 การทำสำมะโนประชากรและเคหะ เปรียบเสมือนเป็นการฉายภาพนิ่งเพื่อแสดงภาพประชากรตามที่อยู่จริงทุกคนและที่อยู่อาศัยทุกประเภททั่วประเทศ โดยมีประชากรที่อยู่ในคุ้มรวม คือ 1) คนไทยทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในวันสำมะโน (1 ก.ค. 2553) และ 2) คนที่มีสถานที่อยู่ปกติในประเทศไทย หรือในวันสำมะโนได้ไปต่างประเทศชั่วคราว ไม่ได้ตั้งใจจะตั้งหลักแหล่ง 3) ข้าราชการฝ่ายทหาร/พลเรือน รวมทั้งคณะฑูตของประเทศไทยพร้อมทั้งครอบครัวซึ่งสำนักงานอยู่ต่างประเทศ และ 4) คนต่างชาติ/ต่างด้าว ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปนับถึงวันสำมะโน ทั้งนี้ไม่รวมเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร/พลเรือน และฑูตต่างประเทศ/องค์กรระหว่างประเทศพร้อมทั้งครอบครัว ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย คนต่างด้าว/ต่างชาติผู้ซึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 3 เดือนนับถึงวันสำมะโน และผู้อพยพหรือผู้หลบหนีเข้าเมืองซึ่งอยู่ในค่ายอพยพที่รัฐบาลกำหนดขึ้น ส่วนคุ้มรวมเคหะนั้นหมายถึง สถานที่ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรทุกแห่งทั่วประเทศ (บ้าน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ที่สาธารณะ ห้องภายในสำนักงาน ใต้สะพาน ฯลฯ)

วิธีการจัดเก็บข้อมูล ทาง สสช. จะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปแจงนับทุกครัวเรือนทั่วประเทศพร้อมกัน โดยใช้เวลาปฏิบัติงานภาคสนามประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ จำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภาคสนามประมาณ 71,200 คน

การนำเสนอผลและเผยแพร่ข้อมูล แบ่งเป็น 1) จัดทำรายงานผลเบื้องต้น (3 เดือนหลังงานสนาม), รายงานผลล่วงหน้า (6 เดือนหลังงานสนาม) และรายงานผลฉบับสมบูรณ์ (ปี พ.ศ. 2553 - 2554 : ทยอยทีละจังหวัด) 2) จัดทำ Web Page รายงานผล : http://www.nso.go.th/pop-census 3) จัดทำคลังข้อมูลสถิติ (Data Warehouse) 4) จัดทำระบบการนำเสนอข้อมูลด้วยแผนที่ (GIS) 5) วิเคราะห์เฉพาะเรื่อง (ร่วมกับสถาบันการศึกษา)

ความยาก/ความท้าทายในการจัดเก็บข้อมูล มาจาก 1) ประชากรมีคว่ทเป็นอยู่ที่หลากหลาย 2) ที่อยู่อาศัยซับซ้อนมากขึ้น 3) คนมีความเป็นส่วนตัวสูง 4) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินน้อยลง 5) มิจฉาชีพมากขึ้น และ 6) มีความไว้วางใจน้อยลง โดยมีช่องทางการนับไม่ว่าจะเป็นไปสัมภาษณ์ที่บ้าน, ตอบทางโทรศัพท์, ตอบทาง Internet หรือให้กรอกข้อมูลเองแล้วส่งทางไปรษณีย์

สสช.ได้จับมือร่วมกับ 8 หน่วยงานพันธมิตรและเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งได้แก่

1. กระทรวงสาธารณสุข
2. กระทรวงศึกษาธิการ
3. กระทรวงแรงงาน
4. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
5. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
6. สภาพัฒน์
7. บริษัทไปรษณีย์ไทย
8. สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.)
เพื่อทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ทั้งใช้ทรัพยากรและองค์ความรู้ที่มีอยู่ในแต่ละหน่วยงานร่วมกัน พัฒนาการทำงานสำมะโน รวมทั้งยังได้ลงนามในข้อตกลงร่วมมือกับกรุงเทพมหานครด้วยเช่นกัน

เป้าหมายของความสำเร็จในการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ 2553 คือ

1. สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน (รัฐบาล เอกชน และประชาชน)
2. เป็นเจ้าของข้อมูลร่วมกัน
3. ใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกัน
4. ช่วยกันประชาสัมพันธ์ เสมือนเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกๆคน

ศ.กิตติคุณ ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ : นายกสมาคมสถิติแห่งประเทศไทย

ทำไมถึงต้องทำสำมะโนประชากรและเคหะ ทั้งๆที่มีการจัดทำระบบทะเบียนราษฎร์อยู่แล้ว??? คำตอบคือ ระบบทะเบียนราษฎร์ให้ข้อมูลได้ไม่ครบเหมือนกับการทำสำมะโน ซึ่งในระบบทะเบียนราษฎร์อาจจะมีปัญหาเรื่อง การเกิด การตาย การย้ายถิ่น แต่ไม่ให้รายละเอียดอื่นๆ เช่น การศึกษา อาชีพ สภาพบ้านเรือน ฯลฯ สำหรับการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ประชาชนในสังคมอยู่ดีมีสุข ซึ่งเริ่มจากการวางแผนเชิงนโยบายที่ดี โดยต้องมีข้อมูลพื้นฐานด้านคนที่ชัดเจน ถูกต้อง สมบูรณ์ เพื่อให้สามารถทราบโครงสร้างประชากรที่ชัดเจน เช่น ประชากรในแต่ละอายุเป็นจำนวนเท่าใด และการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในภาครัฐและเอกชน

นพ.สุวิทย์ วิบูลผลประเสริฐ : ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการควบคุมป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุข

ดังคำกล่าวของ อัลเบิรต์ ไอสไตน์ ที่ว่า "สิ่งบางอย่างที่ไม่ควรนับ ก็สามารถนับได้ แต่ในบางสิ่งที่มีคุณค่า กลับนับไม่ได้" ซึ่งเหมือนกับการทำสำมะโนประชากรและเคหะ ที่มีความสำคัญต่อการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือเปรียบเช่นกับการรับรู้ของระบบประสาท ซึ่งงานสำมะโนประชากรและเคหะเหมือนประสาทส่วนรับ ไปสู้ส่วนประมวลผล ส่วนสั่งการ ส่งต่อไปยังส่วนปฏิบัติการต่างๆของอวัยวะ นั่นคือ ระบบข้อมูลข่าวสารระดับประเทศที่มีความสำคัญ

การทำสำมะโนประชากรและเคหะ มีความสำคัญต่อระบบสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง เช่น การนำข้อมูลฯมาเพื่อวางแผนการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ และ การที่ประชากรไทยที่มีสภาวะทางเศรษฐกิจต่อครัวเรือนที่ต่างกัน ย่อมจะมีผลต่อการตายในรูปแบบที่ต่างกันหรือไม่ อย่างไร

เวทีอภิปราย "สำมะโนประชากรและเคหะ 2553 จะช่วยขับเคลื่อนสังคมได้อย่างไร" โดย วิทยากร 4 ท่าน ได้แก่

1. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร : ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาปะเทศไทย (TDRI)
2. นพ.พินิจ ฟ้าอำนวยผล : ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
3. รศ.ดร.วิลาสินี พิพิทธกุล อดุลยานนท์ : ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.
4. ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก : กรรมาธิการและโฆษกกรรมาธิการการต่างประเทศ โดยแต่ละท่านได้อภิปรายในประเด็นต่างๆดังนี้

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร : ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาปะเทศไทย (TDRI) กับ การใช้ข้อมูลสำมะโน ประชากรและเคหะขับเคลื่อนการพัฒนาระดับมหภาค

สำมะโนประชากรและเคหะ เป็นสินค้ามหาชนที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยมีความสำคัญคือเป็นข้อมูลสถิติที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และสามารถตอบคำถามที่สำคัญระดับประเทศได้ รวมถึงการจัดการระบบข้อมูลประชากรที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยชราที่เพิ่มขึ้น

การใช้ประโยชน์ : 1) สามารถนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง
                           2) ใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินนโยบายและแผนตั้งแต่ระดับ
                                ท้องถิ่นถึงระดับชาติ
                           3) ใช้ในการตัดสินใจของธุรกิจภาคอุตสาหกรรม/ภาคสังคม
                           4) ใช้ในการติดตามการเติบโต/การเคลื่อนย้ายแรงงาน
                           5) ใช้ในการติดตามการกระจุกตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
                           6) ตารางชีพกับการประกันชีวิตและค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข
                           7) การคาดคะเนอุปสงค์ต่อสินค้าคงทนถาวร บ้าน การศึกษา การสาธารณสุข
                               ขนาดครัวเรือน จำนวนครัวเรือนที่เกิดขึ้นใหม่ จำนวนบ้านและบ้านว่าง
                           8) การพัฒนาประชาธิปไตยและการเมือง : ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลง
                               ทาง ประชากรกับการลงคะแนน
                           9) การศึกษาแผนที่ความยากจน (Poverty Map)

การปรับปรุงในการจัดเก็บข้อมูลสถิติ
                           1) ครัวเรือนที่ไม่ถูกสำรวจ
                           2) คนต่างชาติ/คนต่างด้าว
                           3) เพิ่มคำถามสำคัญเพื่อรองรับคนชราในอีก 30 ปีข้างหน้า
                           4) ข้อมูล GIS
                           5) ต้นทุนในการจัดเก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะสูง ดังนั้นจึงต้องใช้ประโยชน์
                               กับข้อมูลให้คุ้มค่า

นพ.พินิจ ฟ้าอำนวยผล : ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ กับ การใช้ข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับต่างๆ 8 ด้าน คือ

1) การบริการเฉพาะ โดยวัดจากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ และสัดส่วนครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว
2) ผังเมือง โดยวัดจากความหนาแน่นของประชากร
3) สถานพยาบาล โดยวัดจากการกระจายสถานพยาบาลต่อจำนวนประชากร
4) การศึกษา โดยวัดจากสัดส่วนประชากรวัยทำงานที่จบต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษา
5) สุขาภิบาล โดยวัดจากสัดส่วนของการมีน้ำสะอาดดื่มและใช้
6) ไฟฟ้า โดยวัดจากสัดส่วนครัวเรือนที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า
7) โทรคมนาคม โดยวัดจากสัดส่วนครัวเรือนที่มีโทรทัศน์/โทรศัพท์
8) คมนาคมขนส่ง โดยวัดจากครัวเรือนที่มีรถยนต์/รถจักรยานยนต์

โดยสรุป

1. ข้อมูลจากสำมะโนประชากรและเคหะ สะท้อนความเป็นจริงในพื้นที่ สามารถใช้ในการจัดบริการในกลุ่มประชากรที่ต้องการพัฒนาในด้านต่างๆ และใช้ในการจัดพื้นที่ให้เหมาะสมได้

2. ข้อมูลจากสำมะโนประชากรและเคหะ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าถึงสาธารณูปโภคและการบริการที่สำคัญ ซึ่งถ้าเป็นข้อมูลทางตรง เช่น น้ำประปา โทรคมนาคม และการศึกษา ซึ่งหากเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ดี ก็สามารถพัฒนาได้ดีขึ้นเช่นกัน ส่วนข้อมูลเรื่อง ไฟฟ้า และการคมนาคมขนส่ง เป็นข้อมูลทางอ้อม ซึ่งตอบเพียงว่า มีรถ มีเครื่องใช้ไฟฟ้า ในการประเมินอย่างหยาบ

3. ข้อมูลจากสำมะโนประชากรและเคหะ เป็นข้อมูลที่ได้ถึงในระดับพื้นที่ย่อยที่สุด ดังนั้นในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในพื้นที่ดังกล่าว ก็สามารถได้ข้อมูลอย่างละเอียด รวมถึงการให้ข้อมูลระดับบุคล ครัวเรือน ที่สามารถศึกษาวิจัยได้ว่า มีความสัมพันธ์หรือไม่ ในการเข้าถึงสาธารณูปโภคและบริการค่างๆ

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิทธกุล อดุลยานนท์ : ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. กับ การใช้ข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะเพื่อขับเคลื่อนงานภาคประชาสังคม

ประโยชน์ของข้อมูลจากสำมะโนประชากรและเคหะได้แก่

1. สามารถนำไปคาดประมาณ (Projection) จำนวนประชากรในอนาคตได้
2. สามารถนำไปใช้ในการวางระบบการให้สวัสดิการสังคม
         2.1 สุขภาพผู้สูงอายุ
         2.2 การมีส่วนร่วมในสังคมของผู้สูงอายุ
         2.3 การมีหลักประกันของผู้สูงอายุ
3. ใช้ในการเตรียมพร้อมรับมือกับประชากรที่มีสถานการณ์การจ้างงานที่เป็นลูกจ้าง (มนุษย์เงินเดือน) เพิ่มขึ้น และมีการย้ายถิ่นจากภาคเกษตรกรรมมาสู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
4. ใช้ในการดำเนินโครงการ Happy Workplace โดยเน้นการนำความเจริญไปสู่ระดับท้องถิ่น เพื่อให้แรงงานกลับไปทำงานยังภูมิลำเนาเดิมเพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก : กรรมาธิการและโฆษกกรรมาธิการการต่างประเทศ กับ ความสำคัญของ สำมะโนประชากรและเคหะในกิจการรัฐสภาและการประสานงานต่างประเทศ

ประเทศไทยมีสังคมส่วนใหญ่ที่มีความรู้จากข้อมูลเป็นอย่างดี หากแต่ผู้บริหารประเทศหรือนักการเมือง ยังใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆเหล่านี้ ได้ไม่ดีเท่าที่ควร/น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ในปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลจากสำมะโนประชากรและเคหะกับการทำงานด้านรัฐสภานั้น ยังคงสะท้อนมุมมองของการช่วยเหลือผู้สูงอายุในสังคมไทยเพิ่มขึ้น เช่น เบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อคนต่อเดือน หรือกับการช่วยเหลือครัวเรือน เช่น โครงการเรียนฟรี 15 ปี โดยใช้ข้อมูลครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกับปัญหาของการส่งเสียให้บุตรได้เรียนหนังสือ

ประโยชน์ของข้อมูลจากสำมะโนประชากรและเคหะ ได้แก่ การประสานงานด้านต่างประเทศ : ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง/พม่า ที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งการจัดการหรือประสานงานความร่วมมือกับโลกมุสลิม สำหรับการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศ

สรุปประเด็นการประชุมโดย คุณจิราวรรณ บุญเพิ่ม : รองเลขาธิการสถิติแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ประโยชน์ของข้อมูลจากสำมะโนประชากรและเคหะในระดับต่างๆ ได้แก่

1. ด้าน Macro : ในระดับระหว่างประเทศ เช่น ผู้ลี้ภัย/ค่ายอพยพผู้ลี้ภัย, องค์กรมุสลิม รวมถึงจากการที่ประเทศอื่นๆ ก็จัดทำสำมะโนประชากรและเคหะเช่นกัน ย่อมเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (รู้เขารู้เรา) ในการแบ่งปันข้อมูลความรู้ซึ่งกันและกัน อันนำไปสู่การพัฒนาในด้านต่างๆร่วมกันระหว่างประเทศ

2. ด้าน Micro : 1) นำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น หมู่บ้าน ตำบล/เทศบาล อำเภอ จังหวัด ภาค และระดับประเทศ 2) ใช้ในการคาดประมาณการณ์ความต้องการบ้าน/ที่อยู่อาศัย ซึ่งหากคาดประมาณไปถึงในระดับพื้นที่ย่อยได้ ย่อมส่งผลต่อการวางแผนการตลาด และพัฒนาแนวทางธุรกิจในภาคเอกชนได้ 3) ใช้ในการประเมินผลความสำเร็จของกิจกรรมหรือโครงการต่างๆที่ดำเนินการไปแล้วในระดับต่างๆ ของพื้นที่ ในการลงมือวางแผนการพัฒนาตามนโยบายต่างๆ ที่ภาครัฐดำเนินการลงไปได้

ทั้งนี้ประโยชน์ต่างๆที่ได้กล่าวมาจะสามารถเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อข้อมูลจากสำมะโนประชากรและเคหะ มีความถูกต้อง ครบถ้วนและสมบูรณ์ โดย

1. สำนักงานสถิติแห่งชาติ ต้องทุ่มเท/ร่วมมือร่วมใจกัน และต้องมีใจในการทำงานเป็นทีม ในการจัดเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บข้อมูลให้ดีที่สุด และจัดลำดับความสำคัญของงาน โดยนำเอา Resource ที่มีอยู่มาทุ่มเทกับการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะในครั้งที่ 11 ปี พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นงานหลักของประเทศ เพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลตามหน่วยงานต่างๆที่มีอยู่

2. มีการพัฒนาคุณภาพงานจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยเน้นการนำระบบ IT เข้ามาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและประมวล/วิเคราะห์ผล และการนำระบบ GIS เข้ามาใช้ในการนำเสนอข้อมูล รวมทั้งการนำ ICT มาใช้เพื่อเป็นข้อมูลมหาชน/สินค้ามหาชน สำหรับประชาชนที่ให้ความสนใจกับการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อไป

3. มีการให้ความรู้กับประชาชนในการสร้างเครือข่าย เพื่อให้ดำเนินงานร่วมกัน

4. มีการสนับสนุนองค์ความรู้/เจ้าหน้าที่/สถานที่ ของเครือข่ายภาคี ในการร่วมมือกันสำหรับการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ 2553

5. การสนับสนุนส่งต่อข้อมูลข่าวสารไปยังหน่วยงานของท่าน เพื่อการสื่อสารไปยังหน่วยงานต่างๆ เพราะกาดสื่อสารได้มาก ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยงข้องในการให้ข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ 2553




ภาพประกอบการประชุม


ภาพ 1


ภาพ 2


ภาพ 3


ภาพ 4


ภาพ 5


ภาพ 6
   




เขียนโดย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ