การประชุมวิชาการสุราระดับชาติครั้งที่สองนี้ จัดขึ้นที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ในวันที่ 13 14 ธันวาคม 2549 เวลา 9.00 16.00 น. ภายใต้หัวข้อ แอลกอฮอล์ : ผลกระทบและมาตรการเชิงประจักษ์ ประกอบด้วยการบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิในห้องประชุมใหญ่ 4 หัวข้อ และการบรรยายห้องประชุมย่อย 4 ห้องรวมทั้งหมดมีเรื่องที่บรรยายประมาณ 39 เรื่องอาทิเช่น Global Alcohol Impacts and Interventions , Economic Impact of Alcohol Consumption , เหตุผลความจำเป็นของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แห่งชาติ,ข้อเสนอแนะการขึ้นภาษีสุราสำหรับประเทศไทย,มาตรการห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์,รู้ทันกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจสุรา เป็นต้น โดยมีวิทยากรต่างประเทศ 4 ท่าน อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และวิทยากรในประเทศไทย 42 คนและมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม 600 คนนอกจากนี้ยังมีการนำเสนอโปสเตอร์มาจัดแสดงอีก 38 เรื่อง
หลังจากการประชุม ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ทำข้อตกลงร่วมกัน 8 ข้อ โดยเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. รัฐและสังคมต้องเข้าใจแจ่มแจ้งว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำลายสุขภาพ ครอบครัว และสังคม จึงไม่ใช่สินค้าธรรมดาและต้องมีมาตรการในการควบคุมปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. รัฐต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการเป็นนักดื่มหน้าใหม่ในหมู่เยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการขยายตลาดของธุรกิจสุรา
3. รัฐต้องให้ความสำคัญกับนโยบายที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิผลสูงและมีต้นทุนในการปฏิบัติต่ำ ได้แก่ การขึ้นภาษี การควบคุมการโฆษณา การจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสุ่มตรวจระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ รวมถึงการคัดกรองและให้ความช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย
4. รัฐควรดำเนินการผลักดันนโยบายในการห้ามการโฆษณาโดยสิ้นเชิง โดยที่ประชุมเรียกร้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาหาทางออกทางกฎหมายโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์เพื่อปกป้องเยาวชนเป็นสำคัญ
5. ผู้เข้าร่วมประชุมขอสนับสนุนคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ... โดยขอให้ตรากฎหมายดังกล่าวให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด
6. กระทรวงการคลังควรขึ้นภาษี รวมถึงจำกัดการออกใบอนุญาตในการผลิตและจำหน่ายสุรา อันเป็นมาตรการสำคัญที่ยังขาดไป เพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย โดยเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำและเยาวชน ตลอดจนผลักดันให้มีการนำเงินงบประมาณจากภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อท้องถิ่นมาใช้ในการลดและป้องกันปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับชุมชน
7. รัฐบาลและองค์การต่างๆของประเทศไทยควรมีบทบาทในการผลักดันนโยบายในการป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับภูมิภาคและนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิจารณาทบทวนเพื่อการนำสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี เนื่องจากผลของข้อตกลงเขตการค้าเสรีส่งผลให้ราคาสุราลดต่ำลงอันเป็นแรงจูงใจให้เยาวชนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
8. เครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันอย่างแข็งขันและมีมาตรการต่างๆต่อไปในการลดปัญหาจากสุราให้เป็นผลสำเร็จและยั่งยืน
|