HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



ส่อระบาด.........ไข้คอตีบ








โรคคอตีบ (Diphtheria) หรือไข้คอตีบ เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบและมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ อาจทำให้เสียชีวิตลงได้ จากพิษ (exotoxin) ของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและเส้นประสาทส่วนปลาย ระยะฟักตัวจากการติดเชื้อจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ส่วนเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ ในบางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย เมื่อตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิล และบริเวณลิ้นไก่ แผ่นเยื่อนี้เกิดจากพิษที่ออกมาทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อทับซ้อนกันเกิดเป็นแผ่นเยื่อ (membrane) ติดแน่นกับเยื่อบุในลำคอ

ตำแหน่งที่จะพบการอักเสบและมีแผ่นเยื่อได้ คือ

1. ในจมูก ทำให้มีน้ำมูกปนเลือดเรื้อรัง มีกลิ่นเหม็น

2. ในลำคอและที่ทอนซิล ซึ่งแผ่นเยื่ออาจจะเลยลงไปในหลอดคอ จะทำให้ทางเดินหายใจตีบตันหายใจลำบาก ถึงตายได้

3. ตำแหน่งอื่นๆ ได้แก่ ที่ผิวหนัง เยื่อบุตา ในช่องหู

โรคคอตีบพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย เป็นโรคที่พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักไม่พบในเด็กอ่อนที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน เนื่องจากเด็กช่วงอายุนี้ได้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจากแม่ ซึ่งจะหมดไปเมื่อเด็กมีอายุได้ประมาณ 6 เดือน โดยทั่วไปในประเทศที่ยังไม่พัฒนามักพบโรคเกิดในเด็กเล็ก แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อเกิดโรคมักพบในวัยตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เนื่องจากขาดการฉีดวัคซีนกระตุ้น ซึ่งต้องฉีดทุกๆ 10 ปี ปัจจุบันโรคไข้คอตีบพบได้น้อยในประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน

ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ คือ ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) รวมทั้งผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแออัด ขาดสุขอนามัย และในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ

การดูแลตนเอง หรือ การดูแลเด็ก คือ การรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการดังกล่าว เนื่องจากโรคคอตีบเป็นโรคติดต่อได้ง่าย รวดเร็ว และรุนแรง ดังนั้นผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย รวมทั้งผู้ดูแลผู้ป่วย ควรพบแพทย์เสมอ เพื่อขอรับคำแนะนำ อาจต้องตรวจเชื้อจากโพรงหลังจมูก และอาจจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ หรือ ฉีดกระตุ้น (ในคนที่เคยได้วัคซีนมาก่อนแล้ว) รวมทั้งการได้รับยาปฏิชีวนะเมื่อตรวจพบเชื้อทั้งๆที่ยังไม่มีอาการ ทั้งนี้ขึ้นกับคำ แนะนำของแพทย์

การป้องกันโรคคอตีบที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งเริ่มฉีดเมื่ออายุ 2 เดือน โดยอยู่ในรูปแบบของวัคซีนรวมโรคคอตีบ โรคบาดทะยัก และโรคไอกรน ฉีดทั้งหมด 5 เข็ม เป็นระยะๆจาก อายุ 2 เดือน จนถึงอายุ 6 ปี ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของกระทรวงสาธารณสุข



สถานการณ์ โรคไข้คอตีบ ในอดีต

โรคไข้คอตีบมีการแพร่ระบาดมากในช่วง ปี 2520-2532 เนื่องจากยังไม่มีการป้องกันโรค จากการสังเกตกราฟ จะเห็นได้ว่ามีการระบาดสูงสุดในปี 2520 ติดต่อกันจนถึงปี 2532 และในปี 2534-2552 มีการระบาดลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีมาตราการในการป้องกันโรคไข้คอตีบ ด้วยการฉีดวัคซีนกับเด็กทารกที่อยู่ในช่วง 2-3 เดือน ดังภาพที่ 1


ภาพที่ 1 อัตราป่วยโรคคอตีบ (อัตราต่อแสนประชากร) ประชากรรวม ปี 2520-2552



ที่มา : อัตราป่วยโรคคอตีบ เครื่องมือสุขภาพ ค้นหาเชิงประเด็น / http://www.healthinfo.in.th/



สถานการณ์ โรคไข้คอตีบ ในปัจจุบัน

จากรายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Diphtheria (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2555 – 3 ก.ย. 2555) พบภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 0.11 ต่อแสนประชากร ภาคใต้ 0.07 ต่อแสนประชากร ภาคเหนือ 0.02 ต่อแสนประชากร และภาคกลาง 0.00 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ ดังตารางที่ 1


ตารางที่ 1 จำนวนผู้ที่ป่วยจากโรคคอตีบ (อัตราป่วยต่อแสนประชากร) ปี2555 จำแนกตามภาค

ภาค อัตราป่วย (ต่อแสนประชากร)
  อีสาน   0.11
  ใต้   0.07
  เหนือ   0.02
  กลาง   0.00



ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Diphtheria (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2555 – 3 ก.ย. 2555) โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/



ในส่วนของระดับจังหวัด จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ เลย (3.71 ต่อแสนประชากร) ปัตตานี (0.62 ต่อแสนประชากร) ยะลา (0.42 ต่อแสนประชากร) พิษณุโลก (0.12 ต่อแสนประชากร) และเชียงราย (0.08 ต่อแสนประชากร) ตามลำดับ ดังตารางที่ 2


ตารางที่ 2 แสดงลำดับของจังหวัดที่พบผู้ป่วยจากโรคคอตีบ มากที่สุด ปี 2555 (อัตราป่วยต่อแสนประชากร)

ลำดับ จังหวัดป่วยมากที่สุด อัตราป่วย (ต่อแสนประชากร)
1 เลย 3.71
2 ปัตตานี 0.62
3 ยะลา 0.42
4 พิษณุโลก 0.12
5 เชียงราย 0.08



ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Diphtheria (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2555 – 3 ก.ย. 2555) โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/



กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศภาวะฉุกเฉิน การอุบัติหมู่ของโรคไข้คอตีบ จากสถานการณ์การระบาดล่าสุด มีความรุนแรงใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่มีการรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการ โดยคาดการณ์เส้นทางการระบาดของโรคมาจากชายแดนไทย-ลาว บริเวณ จ.เลย







เรียบเรียงโดย :  ธัญญรัตน์ เกิดสุวรรณ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  - สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. ระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) Diphtheria อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/boedb/d506_1/ds_wk2pdf.php?ds=23&yr=55
 - http://blog.eduzones.com/pingpong/3441
 - http://www.bumrungrad.com/cancerstory1/