HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



เด็กต่ำ 5 ขวบเสี่ยง!! โรคมือ เท้า ปาก








เป็นโรคที่ถือว่าพบได้บ่อยมาก สำหรับโรค "มือ เท้า ปาก" หรือ Hand Foot Mouth Disease โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนจะพบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enterovirus โดยติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย อาทิ น้ำมูก น้ำลาย เสมหะอุจจาระ เป็นโรคสำคัญที่เกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบการระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะเอเชียแปซิฟิก เช่น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา เวียดนาม และไทย ซึ่งแนวโน้มการเกิดโรครุนแรง และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรายที่ติดเชื้อไวรัสเอนเตอโร 71 อาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก เช่น ไวรัสเอนเตอโร 71 ไวรัสคอกซากี เอ ไวรัสคอกซากี บี และไวรัสเอสโฆ่ เป็นต้น

สถานการณ์ในอดีตโรค มือ เท้า ปาก


สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 – 2554 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยพบจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ 769 - 16,846 ราย ดังภาพที่ 1


ภาพที่ 1  อัตราป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก ต่อแสนประชากร ปี พ.ศ. 2546 – 2554 ในประเทศไทย




ที่มา : รายงานโรค มือ เท้า ปาก สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อ้างใน http://beid.ddc.moph.go.th/th_2011/

สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจุบันโรคมือ เท้า ปาก

ทั้งนี้จากการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค มีรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 - 15 ก.ย. 2556 พบผู้ป่วย 32,321 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 50.88 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 2 ราย

ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ 85.95 ต่อแสนประชากร ภาคใต้ 51.70 ต่อแสนประชากร ภาคกลาง 48.71 ต่อแสนประชากร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33.50 ต่อแสนประชากรตามลำดับ ดังภาพที่ 2


ภาพที่ 2  จำนวนผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก (อัตราป่วยต่อแสนประชากร) ปี 2556 จำแนกตามภาค




ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Hand, foot and mouth disease (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2556 - 15 ก.ย. 2556) โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/

จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ เชียงราย (200.68 ต่อแสนประชากร) ระยอง (168.60 ต่อแสนประชากร) พะเยา (148.42 ต่อแสนประชากร) พัทลุง (121.12ต่อแสนประชากร) และ น่าน (108.07 ต่อแสนประชากร) ดังภาพที่ 3


ภาพที่ 3  แสดงลำดับจังหวัดที่พบผู้ป่วยจากโรคมือ เท้า ปาก มากที่สุด ปี 2556 (อัตราป่วยต่อแสนประชากร)




ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Hand, foot and mouth disease (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2556 - 15 ก.ย. 2556) โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/

ส่วนกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด เรียงตามลำดับ คือ 1 ปี (30.20 %) 2 ปี (25.49 %) 3 ปี (17.82 %) ดังภาพที่ 4


ภาพที่ 4  แสดงร้อยละกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยจากโรคมือ เท้า ปาก มากที่สุด ปี 2556 (อัตราป่วยต่อแสนประชากร)




ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Hand, foot and mouth disease (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2556 - 15 ก.ย. 2556) โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/

เนื่องจากโรคนี้ติดต่อง่ายและอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง การป้องกันไม่ให้มีการระบาดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยการดูแลรักษาความสะอาดทั่วไป และสุขอนามัยส่วนบุคคล ด้วยการล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนเตรียมอาหารก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่ายทุกครั้ง ซึ่งการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลไม่สามารถฆ่าเชื้อได้

นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร ไม่ใช้แก้วน้ำหลอดดูด ช้อน ขวดนมร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการคลุกคลี อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย

หลีกเลี่ยงการนำเด็กทารกและเด็กเล็กเข้าไปในสถานที่แออัด หรือที่ที่เด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก หรือเล่นของเล่นร่วมกันในที่สาธารณะในช่วงที่มีโรคระบาดมาก ผู้ดูแลเด็กต้องตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ และรีบล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว เมื่อเช็ดน้ำมูกน้ำลายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม เสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระ ไม่ไปเล่นในสระว่ายน้ำ และควรฆ่าเชื้อในสระว่ายน้ำด้วยคลอรีนในจำนวนที่เหมาะสม






เรียบเรียงโดย :  ธัญญรัตน์ เกิดสุวรรณ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  - สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานโรคในระบบเฝ้าระวังโรค 506 Hand,
   foot and mouth disease อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/boedb/d506_1/ds_wk2pdf.php?ds=23&yr=55

 - รายงานโรค มือ เท้า ปาก สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
   อ้างใน http://beid.ddc.moph.go.th/th_2011/

 - 'มือเท้าปาก'โรคยอดฮิตหน้าฝน สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 - 20 กันยายน พ.ศ. 2556

 - วิจัยสายพันธุ์-เชื้อโรคมือเท้าปาก เร่งป้องกันเด็กต่ำ5ขวบเสี่ยง ข่าวสด ฉบับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556