Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 21/11/2562 ]
เยลลี่กัญชา เตือนภัย ขนมเสพติด

 ประเด็นฮอตโลกโซเชียล จากนักศึกษาสาวฝึกงานรายหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กเตือนภัยผู้หญิง
          อ้างว่าถูกดาราชาย "ฟ" มอมยาที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านลาดกระบัง คุ้ยเขี่ยลงไปพบภาพซองขนมเยลลี่กัญชา เชื่อมโยงกับผลตรวจปัสสาวะนักศึกษาสาวยืนยันว่ามีสารกัญชาเจือปนอยู่ด้วย
          ขณะที่ดาราหนุ่มกึ่งรับกึ่งสู้ อ้างว่าเยลลี่ไม่ใช่ของตัวเอง แต่ได้มาจากการสั่งขนมหลายอย่างรวมๆ กันมา
          ข้อมูลจากตำรวจปราบปรามยาเสพติดให้ข้อมูลเรื่องการนำกัญชาไปเป็นส่วนผสมในขนมหรืออาหาร ไม่ว่าจะทำโดยตั้งใจหรือไม่ ก็ยังถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
          มีความผิด หากไม่ได้ผลิตขึ้นเพื่อการบำบัดรักษาความเจ็บป่วย และต้องมีแพทย์รองรับถูกต้อง
          ประเด็น "เยลลี่กัญชา" ที่เป็นข่าวในตอนนี้ เป็นไปได้ว่ามีผู้ที่ไปเที่ยวในประเทศที่กัญชาไม่ผิดกฎหมาย เช่น เนเธอร์แลนด์ หรือบางรัฐในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา เป็นต้น แล้วนำเข้ามากินกันเองหรือขายให้ผู้อื่น
          ปัจจุบันก็มีผู้ดัดแปลงสูตรอาหารต่างๆ ที่ผสมกัญชาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ มีทั้งในไทยและต่างประเทศ
          การจะวางมาตรการป้องกันสกัดกั้นไม่ให้นำเข้ามา คงเป็นไปได้ยาก หากจะตรวจสอบสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะสิ่งที่ผู้ลักลอบนำเข้ามาในรูปแบบขนมหรือของกินเล่นนานาชนิด อาจไม่ได้มีสัญลักษณ์หรือระบุส่วนประกอบของกัญชาก็ได้ แต่ถ้าตรวจสอบแล้วชัดเจนว่ามีส่วนผสมของกัญชา ก็ถือเป็นหน้าที่ของตำรวจทุกหน่วยที่ต้องจับกุมดำเนินคดี
          อย่างไรก็ตาม ในการออกกฎหมายหรือมาตรการพิเศษในเวลานี้ยังไม่จำเป็น เพราะ พ.ร.บ.ยาเสพติด ปัจจุบันก็ควบคุมครอบจักรวาลอยู่แล้ว เพียงแต่เจ้าหน้าที่ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารให้มากกว่าเดิม จะได้ทราบว่าปัจจุบันมีรูปแบบการเสพสารเสพติดอย่างไร ซุกซ่อนอย่างไร หรือมีวิธีลำเลียงอย่างไร
          สำหรับพิษภัยจากการกินขนมผสมกัญชา นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ประเทศไทยจัดกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด ให้โทษ พ.ศ.2522 โดยกัญชาเป็นพืชที่มีสารเคมีเป็นองค์ประกอบอยู่มากกว่า 750 ชนิด ออกฤทธิ์แบบผสมผสาน ทั้งกระตุ้นประสาท กดประสาท และหลอนประสาท สารสำคัญที่พบมากคือ สารทีเอชซี (THC) และสารซีบีดี (CBD) ซึ่งทีเอชซีเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและมีฤทธิ์เสพติด เมื่อเสพกัญชาสารทีเอชซีจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็วและเข้าสู่สมอง จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-3 นาที และออกฤทธิ์นาน 3-5 ชั่วโมง ปัจจุบันในต่างประเทศนิยมนำสารทีเอชซีมาผสมในอาหารหรือขนม เช่น เยลลี่ ลูกอม ช็อกโกแลต และเป็นสินค้าถูกกฎหมายในบางประเทศ
          ในประเทศไทยกัญชายังเป็นยาเสพติด แม้ล่าสุดได้มีการปรับกฎหมายเพื่อผ่อนปรนให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย ดังนั้น การผลิต นำเข้า ครอบครอง หรือใช้สินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด หากไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีความผิดตามกฎหมาย
          นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด แห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า สำหรับเยลลี่กัญชา เป็นที่นิยมในต่างประเทศที่สามารถใช้กัญชาได้อย่างถูกกฎหมายเพื่อนันทนาการ แต่ประเทศไทยยังถือว่าผิดกฎหมายอยู่ โดยเยลลี่ กัญชา หรือ "เยลลี่เมา" มีส่วนผสมหลักคือ กัญชา และมีสารทีเอชซีอยู่ในปริมาณที่สูง
          "เยลลี่กัญชาออกแบบให้มีสีสันสดใสน่ารับประทาน จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นใช้เพื่อทำให้ผ่อนคลาย เคลิ้มสุข ล่องลอย ลดอาการเครียด และอารมณ์ดี แต่หากรับประทานในปริมาณมาก หรือในผู้ที่ไม่เคยใช้มาก่อน จะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว อาเจียน มึนงง ตาพร่า กล้ามเนื้อไม่มีแรง อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้กัญชาและสารทีเอชซียังมีผสมในอาหารรูปแบบต่างๆ เช่น ลูกอม ช็อกโกแลต คุกกี้ บราวนี่ หรือแม้กระทั่งในรูปแบบครีมทาผิว หากบริโภคหรือใช้บ่อยครั้งจะทำให้เสพติด จึงฝากย้ำเตือนกลุ่มวัยรุ่น รวมถึงผู้ที่จะทดลองรับประทานหรือใช้สินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชา ให้ตระหนักถึงอันตรายและผล กระทบต่อตนเองให้มาก ที่สำคัญผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานรวมถึงบุคคลใกล้ชิด หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรพูดคุย บอกกล่าวถึงอันตรายและผลกระทบที่จะตามมา" นพ.สรายุทธ์กล่าว ขณะที่ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ย้ำเตือนเช่นกันว่า ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้กัญชาเฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น โดยต้องสั่งจ่ายยากัญชาในสถานพยาบาล แพทย์ผู้สั่งจ่ายยาได้ต้องเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแพทย์แผนไทยที่ผ่านการอบรมจาก สธ.แล้วเท่านั้น กัญชาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาเป็นยาเสพติด ให้โทษประเภท 5 ห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย ครอบครอง หรือส่งออก และไม่สามารถซื้อขายผ่านทางออนไลน์ได้ หากพบการนำเข้าไม่ว่าจะนำเข้ามาด้วยตนเอง หรือสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนผู้จำหน่ายและผู้ครอบครอง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งผู้โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
          จึงขอเตือนประชาชนผู้บริโภคอย่าสั่งซื้ออาหารหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชาเข้ามาในประเทศไทย เพราะถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายและจะถูกดำเนินคดีทันที และหากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วน 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จ.ปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี

 pageview  1210959    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved