Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 20/11/2562 ]
ปรับสมดุล ดูแลสุขภาพในฤดูหนาว

     การดูแลรักษาสุขภาพมีความสำคัญ ทั้งนี้สุขภาพดีจะช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วยลงได้ ยิ่งช่วง "ฤดูหนาว" สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง!
          อาจารย์นิเวศน์ บวรกุลวัฒน์ แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้โรคที่มักมาพร้อมกับฤดูหนาว รวมทั้งนำคำแนะนำการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่เคยนำเสนอนำกลับมาบอกกล่าวอีกครั้งเพื่อเป็นแนวทางการดูแลสุขภาพ ทั้งนี้จะเห็นว่านับแต่ช่วงรอยต่อของฤดูกาล เปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว อาการเจ็บป่วยที่เริ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวที่คนโบราณและทางการแพทย์แผนไทยกล่าวกันก็คือ ไข้หัวลม
          "ลมหนาวที่เข้ามากระทบกับตัวเรา กับร่างกายของเราซึ่งความเย็นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย ร่างกายจึงพยายามปรับสมดุล โดยสร้างความร้อนเข้ามาเพื่อต่อต้านความหนาวเย็นที่อยู่ภายนอก ซึ่งถ้าเตรียมร่างกายไว้ไม่ดีพอ หรือร่างกายไม่แข็งแรง
          หากปรับสมดุลไม่ได้ก็จะเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ดังเช่น ร่างกายปรับอุณหภูมิได้ไม่ดี มีความร้อนในร่างกายมากเกิน ทำให้ป่วยเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว ร้อนใน อาจมีอาการไอ ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะมีสีเข้ม ผิวแห้ง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าร่างกายขาดน้ำ ต้องดื่มน้ำทดแทนเพื่อเพิ่มขึ้นจากเดิม หรือเลือกทานอาหารที่บำรุงธาตุน้ำ ธาตุน้ำก็จะอุดมสมบูรณ์ อาการต่างๆ เหล่านี้ก็จะหายไปได้ "
          ในช่วงฤดูหนาวจึงมักเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับธาตุน้ำ ทั้งนี้เนื่องจากอากาศหนาวเย็นมากระทบธาตุน้ำในร่างกายให้เสียสมดุล จากที่กล่าวแม้ร่างกายจะมีกลไกพยายามปรับ แต่หากไม่สามารถปรับได้ก็ต้องมีสิ่งที่เข้ามาช่วยสร้างสมดุล โดยสิ่งที่ดีที่ไม่ไกลจากตัวเราก็คือ "อาหารการกิน"
          อาจารย์นิเวศน์ ให้ความรู้อีกว่า เวลาที่เราเจ็บป่วย สิ่งที่แสดงออกให้ได้รับรู้ ที่จะสังเกตเห็นได้โดยง่ายก็คือ "ร่างกาย" จึงควรต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีสิ่งใดผิดปรกติ สิ่งใดไม่สมดุลหรือไม่ ทั้งนี้วิธีแก้ไขที่ช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกายได้ก็คือ สิ่งใดที่มากเกินไปก็ปรับลดให้น้อยลง ขณะที่สิ่งใดที่น้อยก็เพิ่มให้เพียงพอ หากมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นก็ควรปรับสมดุลร่างกายนับแต่เนิ่น ๆ
          การดูแลสุขภาพเบื้องต้น ช่วงฤดูกาลนี้ควรเน้นสมุนไพรรสเปรี้ยว และรสขมเล็กน้อย เพื่อให้เสมหะ (ธาตุน้ำ) ในร่างกายเพิ่มขึ้น หรือลดลงจนเข้าสู่สมดุล นอกจากนี้หากรู้สึกหนาวสั่นจนตัวเย็น ควรกินอาหารที่มี รสเผ็ด เช่น  พริก ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด กะเพรา โหระพา แมงลัก ผักชี กระเทียม หอมแดง ฯลฯ จะช่วยบำรุงธาตุไฟ ทำให้ร่างกายอบอุ่น กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และช่วยให้อาการหนาวชาบริเวณปลายมือและปลายเท้าลดลงได้
          นอกจากพืชผักสมุนไพร น้ำสมุนไพรรสร้อน ที่ควรดื่มในช่วงฤดูนี้ได้แก่ น้ำขิง ซึ่งสามารถทำขึ้นเองได้ง่าย ๆ โดยการนำขิงแก่มาต้มก็จะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นได้ดีขึ้น  เช่นเดียวกับ น้ำตะไคร้ น้ำมะตูม ซึ่งช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายได้ดีเช่นเดียวกัน
          นอกจากนี้ยังมี สมุนไพรรสเปรี้ยว อย่าง เช่น มะขามป้อม มะนาว กระเจี๊ยบแดง ใบชะมวง ยอดผักติ้ว สับปะรด ฯลฯ ซึ่งช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ และทำให้ชุ่มคอ ส่วน สมุนไพรรสขม อย่างเช่น สะเดา มะระ ใบบัวบก จะช่วยในเรื่องแก้ไข้ ส่วน มะแว้งต้น มะแว้งเครือ มะเขือพวง ฯลฯ จะช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอได้อีกด้วยเช่นกัน
          พืชผักสมุนไพรที่กล่าวมายังสามารถนำมาประกอบเป็นเมนูอาหารได้อีกหลากหลาย อย่างเช่น ไก่ผัดขิง ผัดกะเพรา ต้มยำปลา แกงส้มดอกแค น้ำพริก ฯลฯ ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเมนูอาหารที่ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายได้ดี นอกจากนี้ อาจารย์นิเวศน์ แนะนำการดูแลสุขภาพทิ้งท้ายอีกว่า การรักษาอุณหภูมิร่างกายให้เหมาะสมกับสภาพอากาศก็มีความสำคัญ ควรสวมใส่เสื้อกันหนาวเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย การดื่มน้ำอุ่นๆ รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะยิ่งช่วยรักษาสุขภาพให้แข็งแรงไกลจากความเจ็บป่วย.

 pageview  1210959    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved