Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 15/11/2562 ]
พื้นที่อยู่ดีมีสุข ใน รพ.สมเด็จพระยุพราชทั่วไทย

 ถ้14 สังคมาไม่จำเป็นไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาล ถ้าเราหรือคนในครอบครัวไม่ต้องมารับการรักษาพยาบาลจากอาการเจ็บป่วย เพราะเป็นที่รู้กัน โรงพยาบาลไม่ใช่สถานที่จรรโลงใจ ทั้งความแออัดและการรอคอยของผู้คนที่มานั่งรอคิวตรวจตั้งแต่เช้าตรู่ ไม่นับญาติอีกจำนวนมาก จนถึงบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความทุกข์กายทุกข์ใจ นี่เป็นสิ่งที่พบเจอและต้องอดทน
          จากต้นเหตุนี้ทำให้เกิด "โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย" ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ร่วมกันจัดขึ้น ภายใตัแนวคิด "พื้นที่อยู่ดีมีสุข" เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของคนในชุมชน เนื่องในโอกาสเข้าสู่ทศวรรษที่ 5 ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (รพร.) โดยเปิดตัวไปเมื่อวันก่อน ตั้งใจให้ รพร. 21 แห่งทั่วประเทศ มุ่งสู่โรงพยาบาลแห่งความสุข นอกจากบริการรักษาพยาบาล ทุกคนยังสามารถเข้าใช้พื้นที่ต่างๆ ของโรงพยาบาลได้แม้สบายดี
          นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กล่าวว่า รพร.ทั้ง 21 แห่ง ได้ประกอบภารกิจตามแนวทางแห่งพระราชปณิธานขององค์นายกกิตติมศักดิ์ ซึ่งมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชมุ่งมั่นเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นสัญลักษณ์แห่งศรัทธา การพัฒนา ตลอด 40 ปี แบ่งเป็น 4 ยุค ได้แก่ ยุคที่ 1 มุ่งสร้างคุณค่าและการยอมรับของประชาชน ยุคที่ 2 พัฒนาโครงสร้างและจัดระบบบริการ ยุคที่ 3 ถูกท้าทายด้วยระบบคุณภาพ กระทั่งสามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยุคที่ 4 ยกตัวเป็นยุคแห่งการเป็นผู้นำของการให้บริการ และการก้าวสู่ยุคที่ 5 ช่วง 10 ปีต่อจากนี้ มุ่งเน้นการเป็นโรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุข สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบาย สธ.ที่ต้องการให้ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน
          "โครงการนี้จะก้าวข้ามมิติสำคัญของการมาโรงพยาบาล สู่มิติดูแลความสุขของทุกคน จากเดิมเมื่อคิดถึงโรงพยาบาลจะคิดถึงผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว ฉะนั้น โครงสร้างและสิ่งต่างๆ จะมีเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายหลักเท่านั้น  แต่ขาดการดูแลกลุ่มบุคลากรของโรงพยาบาล ผู้ใช้พื้นที่ในโรงพยาบาลมากที่สุดและญาติผู้ป่วย จากนี้ของ รพร.จะเป็นโรงพยาบาลต้นแบบแห่งสุขภาวะ สถานที่ที่ทุกคนในชุมชนสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ เริ่มด้วยการพัฒนาภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลให้สอดคล้องกับบริบทของผู้คนและชุมชน ควบคู่พัฒนาคนให้เข้าใจและร่วมรักษาสิ่งที่จะเกิดขึ้น" นพ.ณัฐวุฒิเผยยุทธศาสตร์ 10 ปี
          พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส.ร่วมกับกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มก. สร้างองค์ความรู้ด้านการออกแบบสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง รวมถึงการให้บริการวิชาการที่มีความใส่ใจต่อสังคมชุมชนเพื่อส่งเสริมสุขภาวะและความยั่งยืนขับเคลื่อนผ่านโครงการต่างๆ ตั้งแต่ปี 2555 เช่น โครงการสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนออกแบบปรับปรุงพื้นที่แผนกผู้ป่วยนอก (OPD) และพื้นที่พักคอยญาติผู้ป่วยรวมถึงจัดตั้งหน่วยวิจัยและพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ แล้วยังมีโครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดยร่วมมือกับภาคีสถาปนิกจัดทำผังแม่บทและออกแบบอาคารสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ของโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 10 แห่งทั่วประเทศ และโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย
          "โครงการพัฒนาฯ รพร. เป็นการขยายผลองค์ความรู้และการจัดการพื้นที่ต้นแบบด้วยการพัฒนารูปแบบการจัดการพื้นที่ที่มีผลต่อวิถีชีวิตผู้คน ชุมชนและสังคม เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะ เพราะการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพในประเทศไทยยังไม่ได้รับความสนใจ โดยเฉพาะโรงพยาบาล ปัจจุบันเน้นการออกแบบโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการให้การรักษามากกว่าคำนึงถึงการส่งเสริมสร้างสุขภาวะต่อการดำเนินชีวิตอย่างจริงจัง" พญ.ขจีรัตน์กล่าว
          ด้าน ผศ.ดร.สรนาถ สินอุไรพันธ์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มก. กล่าวว่า โครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ รพร. 21 แห่ง มีแนวคิดหลักสร้างองค์ความรู้เฉพาะถิ่นที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนและชุมชนผ่านระบบบริการสุขภาพภายใต้หลักคิดทางสถาปัตยกรรมและความเป็นอยู่ที่ดี โดยส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการเยียวยา และพื้นที่ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม โดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตในโรงพยาบาลของทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องให้โรงพยาบาลมีพื้นที่สำหรับการใช้ชีวิตและสร้างความอยู่ดีมีสุข เจ้าหน้าที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพและมีความสุขกับการทำงาน ผู้เข้ารับบริการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยและญาติได้รับความสะดวก โรงพยาบาลมีสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดปัจจัยเครียด
          "ส่วนการออกแบบอาคารและการจัดการพื้นที่ภายในโรงพยาบาล นอกจากจะให้ความสำคัญกับศักยภาพและการให้บริการ เช่น พื้นที่ตรวจรักษาหอพักผู้ป่วยหรือพื้นที่จัดเก็บและเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการบริการแล้ว พื้นที่ส่วนอื่นๆ ที่มีส่วนเติมเต็มการบริการและส่งเสริมสุขภาพชุมชนทางอ้อมจะต้องไม่ถูกมองข้าม เพื่อให้โรงพยาบาลเป็นพื้นที่อยู่ดีมีสุข คือ พื้นที่ในโรงพยาบาลที่รองรับการทำงาน และการดำเนินชีวิตและกิจกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ผู้ป่วย ญาติ และชุมชนทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการรับบริการทางสุขภาพ" ผศ.ดร.สรนาถกล่าว
          ขณะที่ นพ.เกรียงศักดิ์ ธนอัศวนนท์ ผอ.รพร.เด่นชัย จ.แพร่ กล่าวว่า รพร.เกิดขึ้นจากความรักและความศรัทธาของประชาชนคนไทยซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเน้นภารกิจ 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การดูแลสุขภาพประชาชนทั่วถึงเสมอหน้ากัน พัฒนาคุณภาพ และออกทำงานกับชุมชน นอกจากนี้ ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กำชับว่า ในส่วนของงานภูมิทัศน์โรงพยาบาลนั้นจะต้องสง่างามสมพระเกียรติ
          "การพัฒนา รพร. จะเน้นความสะดวกสบายของคนไข้ ญาติ และบุคลากรของโรงพยาบาล รวมถึงมีความสะอาด ปลอดภัย ร่มรื่น สวยงาม และเป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้ามาแล้วมีทั้งความสุขกายและสุขใจ โดยเฉพาะเปิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในโรงพยาบาล" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว
          ทั้งหมดนี้คือแนวทางสร้างโรงพยาบาลแห่งความสุข มากกว่านั้นเป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะที่ตอบโจทย์ความต้องการตามบริบทพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งช่วยกันทำให้เป็นรูปธรรม.

 pageview  1210960    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved