Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 25/11/2562 ]
ส่องโรค มะเร็งทวารหนัก เมื่อตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเพราะพฤติกรรมทางเพศที่เปลี่ยนไป

สถิติองค์การอนามัยโลก พบมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักคร่าชีวิตติดอันดับ 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมด ส่วนไทย มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในโรคมะเร็งของระบบทางเดินอาหาร

จากสถิติขององค์การอนามัยโลก พบว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมด ส่วนประเทศไทย มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในโรคมะเร็งของระบบทางเดินอาหาร พบได้ในทุกช่วงอายุแต่อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคจะสูงขึ้นในผู้สูงอายุ

ขณะที่ในประเทศสหราชอาณาจักร พบผู้ป่วยโรคมะเร็งทวารหนักน้อยกว่า 1,200 คนต่อปี สำหรับประเทศไทยมีข้อมูลว่า พบโรคมะเร็งทวารหนักในผู้หญิง 0.1 รายต่อประชากรหญิง 100,000 ราย และในผู้ชายพบ 0.2 ราย ต่อประชากรชาย 100,000 ราย

ล่าสุด ผลการวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเทกซัสในฮุสตัน (UTHealth) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐ พบว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งที่มีการลงทะเบียนทุกชนิดทั่วประเทศระหว่างปี 2001-2016 มีผู้ป่วยมะเร็งทวารหนักทั้งสิ้น 68,809 ราย เสียชีวิต 12,111 ราย

หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะมีผู้ป่วยมะเร็งทวารหนักเพิ่มขึ้นราว 2.7% และเสียชีวิตจากมะเร็งทวารหนักเพิ่มขึ้น 3.1% ทุกๆ ปีในช่วงเวลาดังกล่าว โดยชายผิวดำอายุระหว่าง 23-38 ปี และผู้หญิงผิวขาวติดเชื้อมากที่สุด รองลงมาเป็นผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า

การวิจัยครั้งนี้ยังพบอีกว่านับตั้งแต่ช่วงปี 1950 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้ก็เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการร่วมเพศ การเปลี่ยนคู่นอนหลายคน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ล้วนเพิ่มโอกาสที่จะติดเชื้อเอชพีวีทั้งสิ้น นอกจากนี้ การระบาดของโรคเอชไอวีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชายรักชายก็มีส่วนทำให้มีผู้ป่วยมะเร็งทวารหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยเอชไอวีมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทวารหนักด้วย และยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ

#  โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ถ้าพบเร็วรักษาให้หายขาดได้

มะเร็งทวารหนักจะเกิดขึ้นกับทางเดินอาหารส่วนปลาย จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) ระบุว่า กว่า 90% ของมะเร็งทวารหนักเกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับมะเร็งปากมดลูก โดยคู่ชายรักชายที่เป็นฝ่ายรับ (receptive anal intercourse) มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งทวารหนักมากที่สุด

#  สาเหตุของมะเร็งทวารหนัก

สาเหตุหลักมักเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวีที่เป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ ด้วย เช่น มะเร็งปากมดลูก และหูดที่อวัยวะเพศ เป็นต้น ซึ่งจะติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งทวารหนัก คือ HPV-16 และ HPV-18

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดมะเร็งทวารหนักได้ ดังนี้

  * มีอายุมากกว่า 50 ปี

  * สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย

  * มีประวัติเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด หรือมะเร็งช่องคลอด

  * ประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

  * มีปัญหาภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)

  * เคยผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ หรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

  * มีพฤติกรรมทางเพศในทางที่เสี่ยง เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เป็นต้น

  * รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและกากใยน้อย

  * มีประวัติลำไส้อักเสบเรื้อรังโดยเฉพาะผู้ที่เป็นนานเกิน 7 ปี หรือเคยตรวจพบมีติ่งเนื้อในลำไส้หลายก้อน

#  อาการ

ในระยะแรกไม่มีอาการแสดง จนกว่าเนื้องอกจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่จึงจะมีอาการแสดง และอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  * อุจจาระเหลวกับอุจจาระแข็งสลับกันบางครั้งเหมือนถ่ายไม่หมด

  * อุจจาระเลือดปน

  * อุจจาระลำเล็กกว่าปกติ

  * ท้องอืดแน่นท้องตลอดเวลา

  * น้ำหนักลด

  * อาเจียน

  * คลำพบก้อนบริเวณท้อง

#  ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งทวารหนัก

มะเร็งทวารหนักอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ โดยเฉพาะตับและปอด ซึ่งจะทำให้การรักษายากขึ้น แต่โอกาสที่จะแพร่กระจายนั้นก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมะเร็งทวารหนักอาจเสี่ยงกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้งในบริเวณอื่นๆ ภายในร่างกาย

#  การป้องกันมะเร็งทวารหนัก

แม้ยังไม่สามารถป้องกันโรคมะเร็งทวารหนักได้โดยสมบูรณ์ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่โดยทั่วไปอาจลดความเสี่ยงของโรคได้ ดังนี้

  * ไม่สูบบุหรี่  การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งทวารหนัก อีกทั้งยังทำให้สุขภาพแย่ลงทั้งตนเองและคนรอบข้าง ดังนั้น ไม่ควรสูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่ และไม่อยู่ในบริเวณที่เสี่ยงได้รับควันบุหรี่มือสอง

  * เลี่ยงพฤติกรรมทางเพศในเชิงเสี่ยง  การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศอาจช่วยลดปัจจัยที่ไปกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งทวารหนักได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อเอชพีวีและเชื้อเอชไอวี เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่ใช้ถุงยางอนามัย มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เป็นต้น รวมทั้งควรเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ

  * ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี  การฉีดวัคซีนอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีบางชนิด จึงอาจช่วยลดโอกาสการติดเชื้อที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็งทวารหนักได้ดูแลสุขภาพ

  * หมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย  และไปพบแพทย์เมื่อมีอาการป่วย มีข้อสงสัย หรือกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเผชิญโรคมะเร็งทวารหนัก เช่น สูบบุหรี่ มีอายุมาก จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เคยป่วยด้วยโรคมะเร็งหรือมีประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ เป็นต้น

#  การรักษา

  1. การผ่าตัด  เป็นการรักษาหลักของมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยการตัด เอาลำไส้ส่วนที่เป็นโรคและต่อมน้ำเหลืองออกไป การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นต้องเอาปลายของำลไส้ที่เหลืออยู่มาเปิดออกทางหน้าท้อง เพื่อเป็นทางระบายของอุจจาระ

  2. รังสีรักษา  เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด อาจได้รับการฉายรังสีก่อนหรือหลังผ่าตัด

  3. ยาเคมีบำบัด  เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด อาจได้รับยาเคมีบำบัดก่อนหรือหลังผ่าตัด

อ่านต่อ : พบผู้ป่วยมะเร็งทวารหนักเพิ่มอย่างน่าตกใจเพราะพฤติกรรมทางเพศที่เปลี่ยนไป  https://www.posttoday.com/world/607083

 pageview  1210959    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved