Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 18/12/2562 ]
ปี 2563 อย่าให้สาธารณสุขไทยกลายเป็นสาธารณทุกข์

  พญ.ชัญวลี ศรีสุโข           (chanwalee@srisukho.com)
          เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยติดอันดับที่ 6 ประเทศที่มีระบบสุขภาพดีของโลก ประจำปี 2562 จากการสำรวจ 89 ประเทศทั่วโลก จัดอันดับโดยนิตยสารซีอีโอเวิลด์ (CEOWORLD) ประเทศสหรัฐอเมริกา พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ 1.โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข 2.ประสิทธิภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุข ตั้งแต่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ 3.ค่าใช้จ่ายในระบบ 4.การเข้าถึงยาคุณภาพ 5.ความพร้อมของรัฐบาลในการจัดการระบบ 6.ปัจจัยอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อม การเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด ระบบสุขอนามัย การควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น การจัดการกับบุหรี่ ยาสูบ และการจัดการโรคอ้วน
          เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจที่ผลออกมาเช่นนี้ เนื่องจากระบบสาธารณสุขของไทยเรามีจุดแข็งหลายประการ เมื่อเทียบกับระบบสาธารณสุขของประเทศอื่น เช่น
          มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประชาชนไทยกว่า 47.24 ล้านคน (พ.ศ.2559) ซึ่งไม่มีสิทธิอื่น เข้าถึงบริการทางการแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลดปัญหาความยากจนจากการล้มละลายเพราะค่ารักษาพยาบาล เป็นโครงการของรัฐที่ประชาชนพึงพอใจสูงสุดต่อเนื่องมาทุกปี
          ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ง่ายเมื่อเจ็บป่วย แพทย์ไทยประมาณ 50,000 คน เป็นแพทย์เฉพาะทาง 32,000 คน อัตราผลิตแพทย์ประมาณ 3,000 คนต่อปี (พ.ศ.2560) ประสิทธิภาพของบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยไม่ด้อยกว่าและอาจจะเหนือกว่าหลายประเทศ
          การจัดการกับบุหรี่ ยาสูบ โรคอ้วน และโรคเรื้อรังของประเทศไทยดีเด่นติดอันดับต้นของโลก ฯลฯ
          อย่างไรก็ตาม สิ้นปีงบประมาณ 2560 มีรายงานการขาดทุนของโรงพยาบาล พบว่า โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสาธารณสุข สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขาดทุนต่อเนื่องมาเรื่อย เป็นจำนวน 558 แห่ง เป็นจำนวนเงิน 12,701 ล้านบาท เงินทุนหมุนเวียนติดลบ 217 แห่ง เป็นจำนวนเงิน 3,160 ล้านบาท โรงพยาบาลมีวิกฤตทางการเงินระดับ 7 ที่ถือว่ารุนแรงมาก จำนวน 87 แห่ง ขาดทุนเป็นจำนวนเงิน 1,989 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณของกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้นทุกปี (THAIPUBLICA 19 ธันวาคม 2017)
          ดังนั้น แม้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศสุขภาพดี หากการเงินการคลังยังดำเนินไปเช่นนี้ต้องมีผลกระทบกับ
          1.การเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นของประชาชน จะเห็นชัดว่าตั้งแต่มีนโยบายหลักประกันสุขภาพ 17 ปีมานี้ มีการใช้บริการเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมร้อยละ 10-200 คนไข้ล้นโรงพยาบาล เกิดสัดส่วนที่ไม่เพียงพอระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับการรักษาพยาบาล มีความล่าช้า รอนาน รอคิว เกิดปัญหาการส่งตัวไปรักษา ตามมาด้วยความไม่พึงพอใจ ความขัดแย้ง การฟ้องร้อง เพิ่มทั้งปริมาณและความรุนแรง
          เป็นยุคที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เกิดความเครียดสูงสุด งานหนักเงินน้อย รู้สึกไม่ปลอดภัย กลัวถูกทำร้าย กลัวการฟ้องร้อง ตำหนิผ่านออนไลน์
          2.คุณภาพการให้บริการทางสาธารณสุข การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตประเทศไทยเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุ ปัญหาโรคเรื้อรัง ใช้ค่าใช้จ่ายสูง แม้มีการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติขึ้นมาให้ครอบคลุมยาที่จำเป็น แต่ในทางปฏิบัติ การลดต้นทุนให้ต่ำสุด ลดการซื้อเครื่องไม้เครื่องมือ ลดจำนวนบุคลากร ลดการพัฒนาบุคลากร ลดการใช้ยา ลดทางเลือกในการใช้ยา ท่ามกลางขวัญและกำลังใจบุคลากรถดถอย ฯลฯ ส่งผลทางลบให้กับคุณภาพการบริการ
          การปฏิรูประบบสาธารณสุขไทยเพื่อไม่ให้กลายเป็นระบบสาธารณทุกข์จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างรีบด่วน ควรยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นหลักการ การแพทย์พอเพียง ดังต่อไปนี้
          1.ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นเจ้าของสุขภาพ คนทั้งชาติต้องร่วมสร้างสุขภาพ รับผิดชอบดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง เจ็บป่วยเล็กน้อยควรพึ่งตนเองเป็นพื้นฐาน รับบริการห้องฉุกเฉินด้วยอาการป่วยฉุกเฉิน
          รัฐมีกลยุทธ์สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ มีส่วนร่วม ตระหนักในการดูแลสุขภาพ สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและท้องถิ่นช่วยกันดูแลสุขภาพ
          ประชาชนควรตื่นตัวเรื่องป้องกันโรค ได้รับการบริการวัคซีนป้องกันโรคอย่างไม่คิดมูลค่า มีการคัดกรองตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก การป้องกันอุบัติเหตุ ฯลฯ การป้องกันนั้นถึงแม้จะมีราคาแพง แต่เมื่อเทียบกับชีวิตและการทุพพลภาพของประชาชนจากโรคที่ป้องกันได้นั้นถือว่าคุ้มค่าหรือเกินค่า
          2.ประชาชนสุขใจ ประชาชนได้รับการรักษาโรคระยะเริ่มก่อนรุนแรง รักษาโรครุนแรงด้วยองค์ความรู้และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ รัฐต้องแก้ปัญหา การกระจายความเจริญทางการแพทย์ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะพยาบาล
          รัฐต้องแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ลดความแออัดของการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งรักษาโรคเมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว
          แม้ควรเร่งวิจัยการใช้ยาสมุนไพร สนับสนุนการผลิตยา การรักษาแบบไทยๆ ที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความสิ้นเปลืองความเสี่ยง และผลประโยชน์ที่ได้รับ แต่ไม่ควรเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง เช่น มุ่งเน้นแต่นโยบายกัญชา สารพิษ ขณะที่ปัญหาสาธารณสุขไทยที่บั่นทอนสุขภาพอนามัย ที่รีบด่วนมีอีกมากมาย
          เมื่อเจ็บไข้เป็นโรครุนแรงประชาชนควรได้รับการรักษามาตรฐานเดียวกัน โดยไม่ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ การมีบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าอาจเป็นข้อด้อยเพราะมีผู้ใช้บริการมาก จึงควรมีช่องทางพิเศษและความช่วยเหลือให้แก่ผู้ลำบากยากจนและผู้ด้อยโอกาสที่เจ็บป่วยรุนแรง
          3.บุคลากรทางการแพทย์ไม่ทุกข์ รัฐต้องแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในชนบท โดยสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมคนเก่งคนดีมีคุณธรรม แพทย์ต้องมีอิสระในการรักษา การใช้ยา
          รัฐควรสนับสนุนให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีจรรยาบรรณ สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต
          กฎหมายทางการแพทย์ควรเป็นกฎหมายเฉพาะ ไม่ควรเป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
          แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายหากทำงานอย่างสุจริต มีบรรยากาศในการทำงานดี สวัสดิการดี ค่าตอบแทนเหมาะสมกับชั่วโมงการทำงาน หากได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลคนไข้ หรือความรุนแรงในโรงพยาบาล ควรได้รับการดูแล และการคุ้มครองในมูลค่าที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้รับบริการ
          4.มีเครือข่ายความร่วมมือทางการแพทย์ระดับต่างๆ รัฐและเอกชนควรร่วมมือกัน ทุ่มเทสติปัญญา ขยายขอบเขตความสามารถในการดูแลรักษาประชาชน สร้างงานวิจัยที่เป็นประโยชน์
          ประชาชนควรมีส่วนร่วม มีเครือข่ายเชื่อมโยงสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี บทเรียนจากการดูแลรักษาไข้ ความรู้และการรักษาทางการแพทย์แผนต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ
          โดยเครือข่ายเหล่านี้ควรได้ช่วยเหลือกัน ไม่แบ่งรัฐเอกชน กว้างขวางไปจนถึงระดับนานาชาติอย่างแบ่งปันเฉลี่ยทุกข์สุข ไม่เบียดเบียนกัน เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาล ใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า
          5.ส่งเสริมการรักษาพยาบาลทุกระดับ ระดับปฐมภูมิควรผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้เพียงพอ แต่ไม่ควรละเลยส่งเสริมการรักษาพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ เพราะการรักษาพยาบาลล้วนแต่ต้องพึ่งพาอาศัยกันไม่สามารถแยกส่วนกันได้โดยเด็ดขาด
          หากระดับใดระดับหนึ่งไม่เข้มแข็งก็จะส่งผลให้ระดับอื่นๆ อ่อนแอไปด้วย ทั้งควรพัฒนาระบบส่งต่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีการประสานงานที่ดี มีแนวทางปฏิบัติของสถานพยาบาลทุกระดับ มีการทบทวนและแก้ไขปัญหาอย่างสม่ำเสมอ
          6.บริจาคทาน การจ่ายร่วมหรือร่วมจ่ายถือเป็นการบริจาคทานที่น่าภาคภูมิใจ สร้างความรักความผูกพัน สร้างความเห็นอกเห็นใจกันระหว่างพลเมืองในชาติ สร้างจิตสำนึกของการทดแทนคุณแผ่นดิน สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้เกิดขึ้น ช่วยค้ำจุนระบบการเงินการคลังสาธารณสุข ทำให้การแพทย์ได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ชะงักงันถอยหลังจากการขาดทรัพยากร ซึ่งสุดท้ายจะได้ประโยชน์สูงสุดแก่คนไข้ทุกคนไม่ว่ายากไร้หรือมีฐานะ การร่วมจ่ายมีหลายรูปแบบ เช่น ประชาชนช่วยกันทำกิจกรรมหารายได้ต่างๆ หรือบริจาคโดยตรง จ่ายเพิ่มเป็นรายปีในรูปภาษี หรือซื้อประกัน หรือจ่ายเป็นร้อยละของค่ารักษาพยาบาลบางอย่าง จ่ายค่าบริการพิเศษโดยอาจจะมีการจ่ายเป็นลำดับขั้น มีน้อยจ่ายน้อย มีมากจ่ายมาก ไม่มีไม่ต้องจ่าย
          การรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกัน หมายถึงสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ได้หมายถึงการได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษอย่างเท่าเทียมกัน
          การเพิ่มค่าใช้จ่ายให้เพียงพอ โดยไม่ลดประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล ไม่มีวิธีใดที่จะดีไปกว่าการบริจาคทานที่เหมาะสม
          7.โรงพยาบาลสามารถเลี้ยงตนเองได้ รายได้ของแต่ละโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีหลายทาง เช่น การบริจาคต่างๆ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิประกันสุขภาพ โดยสิทธิประกันสุขภาพเป็นรายได้มากสุดที่ชี้เป็นชี้ตายได้
          รพ.ควรมีวิธีหารายได้เพิ่มเติม เช่น มีคลินิกพิเศษ บริการพิเศษ ออกนอกระบบ ฯลฯ
          สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรทบทวนการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยบริการโดยมีการกำกับดูแลอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหา เปลี่ยนหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณ เพื่อความยั่งยืนของระบบ
          8.มีการดูแลระยะสุดท้าย ปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุในประเทศมีประมาณ 10 ล้านคน ถูกทอดทิ้งไร้ผู้ดูแลประมาณ 1 ล้านคน การฟ้องร้องทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นจนติดอันดับต้นๆ คือมาตรฐานการรักษาผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังต่างๆ เป็นอัมพาต ติดเตียง
          รัฐต้องสนับสนุน การตายดี ให้เห็นว่าการตายเป็นสัจธรรมของทุกชีวิต เมื่อถึงเวลาที่ต้องละโลกสามารถจากไปอย่างมีศักดิ์ศรี สงบ มีเกียรติ เป็นธรรมชาติ ตามความเชื่อของศาสนาที่ยึดเหนี่ยว ไม่ยื้อให้ทุกข์ทรมาน ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายจนสิ้นเนื้อประดาตัว สร้างความทุกข์ความแค้นเคือง ตามด้วยการฟ้องร้องของผู้ยังอยู่
          ทั้ง 8 ข้อ ที่ผู้เขียนเสนอ
          เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 52
          "บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการรักษาพยาบาลทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ การบริการทางสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมด้วยเท่าที่จะทำได้
          การป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตราย รัฐต้องจัดให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่าและทันต่อเหตุการณ์ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"

 pageview  1210956    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved