Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 10/03/2563 ]
หมอแก้ว-ธนรักษ์ จะหยุด โควิด-19 อย่างไร

เจอมาหลายศึกในการระบาดของโรค แต่ศึกนี้ 'โควิด-19' ทั้งยาก หนัก และเหนื่อย
          "เราสู้เท่าที่เรามี เราสู้เท่าที่เขาให้ เรามา" หมอแก้ว-ธนรักษ์  ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เขียนไว้ใน เฟซบุ๊ค ตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 ระบาดในหลายประเทศ และในประเทศไทยด้วย เขาและทีมงานทำงานแทบจะไม่มีวันหยุด
          เนื่องจากเป็นปราการด่านหน้าในการควบคุมโรคระบาด จึงต้องควานหาคนติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มารักษาโดยด่วน  เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น อีกทั้งต้องรายงานสถานการณ์ให้รัฐบาลทราบ ให้ข่าวสารประชาชนผ่านผู้สื่อข่าว วางแผนกับทีมงานหามาตรการในขั้นต่อไป ฯลฯ
          เรียกว่า การทำงานทุกวินาที มี ความหมายต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 และในวันที่อิดโรย เหนื่อยล้า ก็ยังมีความพยายามที่จะความรู้
          แม้บทสัมภาษณ์นี้จะไม่หวือหวา แต่จะทำให้คุณตื่นกลัวน้อยลง ระวังตัวมากขึ้น และสิ่งที่หมอแก้วพยายามจะบอกประชาชนทุกคนก็คือ คุณได้ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัสหรือยัง และเมื่อป่วยแล้ว ต้องพยายามไม่แพร่เชื้อ
          ถ้าอย่างนั้น คงไม่ได้แล้ว... "ป่วยนิดน้อย ไอ จาม ใส่หน้ากากอนามัยไปทำงาน เพราะไม่อยากถูกนับเป็นวันลา", "สิบ ยี่สิบชีวิต นั่งประชุมในห้องปิดเป็นชั่วโมงๆ", "พาลูกตัวเล็กๆ ไปเดินในสถานที่แออัด" ฯลฯ
          เหล่านี้จึงเป็นที่มาของคำถามว่า ทุกคน รู้วิธีป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 มากน้อยเพียงใด จะทำอย่างไรที่จะไม่แพร่เชื้อให้คนในครอบครัว และคนที่ทำงาน
          หมอแก้วเล่าว่า "บางองค์กร  มีมาตรการเข้ม วางเป้าหมายไว้ว่า จะไม่ให้พนักงานสักคนเลยติดไวรัสโควิด-19 "...
          - คาดการณ์ว่าไวรัสโควิด-19 จะขยายวงการระบาด ยืดเยื้อเป็นปีๆ ไหม ?
          ใช่ครับ ทั่วโลกเริ่มมีการระบาดในประเทศแล้ว มีการขยายวงออกไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนอาจเฝ้าระวังในประเทศจีน ถ้าเรามีวัคซีนสามารถฉีดให้คนไข้อย่างรวดเร็ว โรคก็จะแพร่ระบาดลดลงในทันที
          - ไวรัสตัวนี้จะหยุดแพร่ระบาดได้อย่างไร
          ตามเหตุผลทางการแพทย์ ก็ขึ้นอยู่ว่า ไวรัสแพร่ได้เร็วแค่ไหน เมื่อถึงตอนนั้นก็จะมีผู้มีภูมิคุ้มกันเยอะขึ้นจำนวนหนึ่ง ข้อสำคัญคือ ตอนนี้ ยังไม่วัคซีนป้องกันโรค  ภาครัฐและเอกชนของทุกประเทศที่มีความสามารถในการพัฒนาวัคซีน พยายามทำอยู่ ใครคิดได้ก่อนก็รวย  ส่วนยารักษาโรคมีแล้วคนคิดค้นเป็น ชาวญี่ปุ่น ซึ่งทางญี่ปุ่นอนุญาตให้ จีนผลิตยาตัวนี้
          - ยารักษาไวรัสโควิด-19 มีอยู่ในเมืองไทยมากน้อยเพียงใด
          เท่าที่ปรากฏ ถ้าเป็นตอนนี้คนไข้ 80 เปอร์เซ็นต์ มีอาการเบาและหายได้เอง คนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยา คนที่ต้องใช้ยาคือ กลุ่มที่ป่วยระดับปานกลางและเข้าสู่ภาวะรุนแรง ถ้าให้ยาในภาวะรุนแรงจะไม่ดีเท่าในภาวะที่โรคขยับไปอีกขั้น
          - ตอนนี้ยารักษาโรคเพียงพอสำหรับคนไทยไหม
          ก็ขึ้นอยู่ว่า จะมีคนป่วยมากน้อยเพียงใด มียาอยู่จำนวนหนึ่งสำหรับเดือนสองเดือนข้างหน้า เราคาดการณ์จำนวนคนป่วยไว้แล้ว ตอนนี้มียาใช้สำหรับคนไข้ 100 คนและจะได้ยามาอีกสำหรับคนไข้ 800 คน
          - สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในเมืองไทยอยู่ระยะไหน
          ตอนนี้ยังมีการแพร่ระบาดในวงจำกัด ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เริ่มเจอผู้ป่วยที่ติดเชื้อในประเทศ แต่ยังน้อยมาก มาตรการล่าสุดที่เราทำคือลดความเสี่ยงจากผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ส่วนที่ 1 คือ การคัดกรองที่ด่าน ส่วนที่ 2 ขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว คนทำงานรับผิดชอบนักท่องเที่ยว ทั้งในต่างชาติและคนไทยที่กลับจากต่างประเทศ ถ้ามีอาการป่วยเป็นไข้ ไอ เจ็บคอ ให้รีบมาพบแพทย์ เราพยายามทำเต็มที่ คัดกรองตั้งแต่บนเครื่องบินถึงภาคพื้นดิน รวมถึงให้คำแนะนำแพทย์ในโรงพยาบาล ถ้ามีผู้ป่วยไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก และเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงให้สงสัยว่า มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโคโรนาไว้ก่อน
          ส่วนในคนไทยที่อาจติดเชื้อ เราก็เฝ้าระวังกลุ่มที่มีโอกาสสัมผัสโรค อย่างเช่น ไกด์นำเที่ยว คนขับแท็กซี่ คนขับรถตู้ พนักงานโรงแรม ถ้ามีอาการก็รีบไปพบแพทย์ ตอนนี้เราอยู่ในระยะหาคนไข้ให้เจอ โดยเฉพาะคนที่มีประวัติใกล้ชิดกับคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง อาทิ คนขายของที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะๆ
          - ทางกรมควบคุมโรค ประเมินไว้ว่าจะเข้าสู่ระยะที่ 3 เดือนไหน
          ตอบไม่ได้ อาจโชคดี กว่าจะเข้าระยะที่ 3 อาจเป็นปีหน้า หรืออาจพรุ่งนี้ หลายปัจจัย ยกตัวอย่างถ้ามีคนไทยสักคนไม่ให้ความร่วมมือทำตัวแบบคุณป้ามหาภัย ก็แย่
          - เตรียมการไว้อย่างไร
          เราเตรียมสองส่วน คือ หอผู้ป่วยและคลินิกโรคติดต่อทางเดินหายใจ สั่งการณ์ไปที่โรงพยาบาลทุกแห่งที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหลายโรงพยาบาลขยับทำเรื่องนี้แล้ว เราวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน มีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะไปทางไหน
          - ในฐานะกรมควบคุมโรค ตอนนี้ขาดแคลนอะไรบ้าง
          ไม่ได้ขาดแคลน เราสู้เท่าที่มีกำลัง แต่เราไม่ได้มีเตียงรองรับผู้ป่วยเท่าประเทศที่ร่ำรวยเหมือนอเมริกา เราทำเท่าที่ทำไหว และเท่าที่รับมอบทรัพยากรมา
          - ปัญหาที่กังวลมากที่สุดคือเรื่องใด
          กังวลเรื่องความร่วมมือของประชาชน และสารที่ส่งกันในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะข่าวที่ไม่ได้สร้างพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง โดยเฉพาะข่าวที่บอกว่า เกิดเหตุการณ์ตรงนั้นตรงนี้ ผมถามว่าข่าวแบบนี้นำไปสู่การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องไหม
          และสนใจกันว่า ภาครัฐทำอะไรอยู่ ผมอยากถามกลับว่า วันนี้คุณรู้หรือยังว่าต้องทำตัวยังไง เรายังเห็นคนเดินไอจามไม่ปิดปาก ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่พกเจลแอลกอฮอล์เช็ดมือ แล้วรู้ไหมว่าเมื่อไหร่ต้องล้างมือ เมื่อมีอาการแค่ไหนต้องไปโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่า คนไทยทุกคนต้องรู้
          - การเผชิญหน้ากับไวรัสโควิด-19 คุณหมอกลัวเรื่องใดมากที่สุด
          เตียงในโรงพยาบาลทุกแห่งค่อนข้างแน่น ถ้าปล่อยให้ระบาดแบบอู่ฮั่น เตียงมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ สิ่งที่เราพยายามทำคือ ให้มีจำนวนผู้ป่วยในระดับที่จัดการได้ เราทำแผนขนาดที่ว่า ถ้ามีผู้ป่วยเต็มที่ โรงพยาบาลจะรับได้กี่คน
          - นอกจากล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อ และแพร่เชื้อ ยังมีขั้นตอนอื่นๆ ที่คนไทยต้องเตรียมตัวอีกไหม
          ระยะนี้คือ ป่วยแล้วรีบพบแพทย์ แต่เมื่อเข้าระยะที่ 3 มีคนป่วยเยอะขึ้น คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยจะเปลี่ยนไป ถ้าป่วยธรรมดาไม่ต้องไปหาหมอ ให้พักอยู่บ้านดูอาการ เมื่อมีอาการถึงจะไปพบแพทย์ เหมือนที่นายกรัฐมนตรีประเทศสิงคโปร์พูดว่า ไม่ว่าเราจะมีจำนวนเตียงในโรงพยาบาลพร้อมแค่ไหน แต่ถ้าคนไข้อาการเบาๆ เป็นหวัดทั่วไป ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
          ข้อสำคัญคือ ต้องไม่แพร่เชื้อให้คนในบ้าน แยกห้องนอน และไม่ออกมาแพร่เชื้อเป็นเวลา 14 วัน ไม่ว่าจะติดไวรัสหรือไม่ ถ้าอยากคุยกับคนในครอบครัวก็โทรคุยกันในบ้าน หรือถ้ามีห้องน้ำห้องเดียวก็ต้องมีวิธีปฏิบัติตัว
          - ระดับการป่วยจากไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างไร
          ตอนนี้มีคนไข้ป่วย 49 คน (8 มีนาคม 2563) รักษาหาย 33 กว่าคน ในจำนวนนั้น มีแค่คนสองคนที่ต้องให้ยา นอกนั้นหายเอง อาการไม่เหมือนกัน แม้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะอาการรุนแรง คาดการณ์ว่า หากมีผู้ป่วย 100 คน จะมีผู้ป่วย 5-10 เปอร์เซ็นต์ จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล และอาจมีผู้เสียชีวิตประมาณ 0.3-0.5 เปอร์เซ็นต์
          - เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตถือว่ามากหรือน้อย
          ถือว่าเป็นอัตราการเสียชีวิตที่เยอะ
          - กรณีที่ลือว่า ภาครัฐปิดข่าวจำนวนคนไข้ คุณหมอมีคำอธิบายอย่างไร
          จำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่เรารายงานคือจำนวนที่เราเจอ ในขณะที่เราไม่เจอคนไข้ที่จะไปแพร่เชื้อต่อ เราก็ร้อนร้นว่าทำอะไรพลาดไปหรือเปล่า เราพยายามทุกวิถีทาง เฝ้าระวังหาคนไข้ที่ป่วย ตอนนี้เราเฝ้าระวังกลุ่มคนไทยที่ไม่ได้สัมผัสนักท่องเที่ยวด้วย เพื่อให้เจอเร็วๆ
          - วิธีควานหาคนไข้ไวรัสโควิด-19 ให้เร็วที่สุดทำยังไง
          ถ้ามีคนไทยมีอาการปอดบวม โดยไม่ทราบสาเหตุ เราให้แพทย์ทุกโรงพยาบาลตรวจหาไวรัสโคโรนาทันที โดยใช้เครือข่ายโรงพยาบาลทั้งประเทศ ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน
          - เห็นบอกว่า ตอนนี้ไวรัสโควิด-19 อยู่ในระยะกลายพันธุ์แล้ว?
          ผมไม่ใช้คำว่า กลายพันธุ์ เพราะเพิ่งเริ่ม แต่ธรรมชาติของมันน่าจะเป็นแบบนั้น ตั้งแต่ช่วงแรกที่เจอโรคนี้ อาการไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งคนป่วยในจีน ปัจจัยที่ทำให้โรคนี้แพร่ไปไกลมีสามอย่าง คือ 1.เชื้อไวรัสแพร่ได้เร็ว ไวรัสบางตัวแพร่ระบาดได้ต่ำ อย่างเมอร์ส (Mers) ไม่ก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ตั้งแต่ปี 2012 แต่ไวรัสโควิด-19 คนป่วยทั้งโลกประมาณแสน ปัจจัยที่ 2 ระบบสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคทำงานได้ดีแค่ไหน เรื่องนี้เราเจ๋ง และปัจจัยที่ 3 คือความร่วมมือในการปฏิบัติตัวของประชาชน ถ้าปฏิบัติตัวอย่างที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแนะนำ ผมคิดว่า โรคนี้คนไทยทุกคนควบคุมได้
          แต่ถ้ามีคนจำนวนหนึ่งไม่สนใจเรื่องนี้ ป่วยก็ยังไปทำงาน ไอไม่ปิดปากปิดจมูกตามสถานีบีทีเอส ต่อให้ระบบสาธารณสุขเข้มแข็งแค่ไหนก็หยุดไม่ได้ เหมือนที่ผมพูดเล่นๆ กับเพื่อนว่าจะให้ผมไปปิดปากปิดจมูกคนไทยทุกคนหรือ ผมมีแค่สองมือ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ คนไทยต้องมีความรู้ในการดูแลตัวเอง
          - หากสัมผัสเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไม่รู้ตัว ต้องทำอย่างไร
          เชื้อไม่สามารถเข้าทางผิวหนัง ไม่ว่า พื้นผิวสิ่งของจะสกปรกแค่ไหน ถ้าเรา ไม่เอามือไปแตะหน้า หรือหยิบอาหารใส่ปาก เราก็ไม่ติดเชื้อ ที่สำคัญคือ ล้างมือบ่อยๆ  มีเจลแอลกอฮอล์ติดตัว ถ้าเป็นเชื้อที่ลอยอยู่ ในอากาศ คนที่อยู่ในรัศมีสองเมตร เมื่อมี คนไข้ไอจามก็มีโอกาสติด ถ้าโชคร้ายจริงๆ เดินสวนกับคนป่วยที่ไอใส่หน้าเรา โอกาสที่จะสัมผัสเชื้อคือความเสี่ยงของเรา เราจะจัดการความเสี่ยงยังไง
          ทำไมหมอที่เจอคนไข้ทุกวันไม่ติดเชื้อ เพราะจัดการกับความเสี่ยงได้ ถ้าเรารู้ว่า อาจมีเชื้ออยู่ในน้ำ ก็พยายามดื่มน้ำสะอาด อย่าดื่มน้ำแก้วเดียวกับคนอื่น ทุกอย่างป้องกันได้ แต่คนไทยรู้หรือยังว่าจะจัดการกับปัญหานี้ยังไง เว็บไซต์กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีคำแนะนำทุกอย่าง ถ้าห่วงใยกัน ก็แชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง
          อย่างบริษัทคุณให้คำแนะนำพนักงานไหม ในความเป็นจริง ห้องอาหารทุกบริษัทแน่น เพราะจำกัดเวลารับประทานอาหาร เรื่องนี้ก็เลี่ยงไม่ได้ การทำความสะอาดลิฟต์ก็จำเป็นต้องเช็คหลายๆ ครั้ง แค่ใช้น้ำสบู่ ผงซักฟอกเช็ดโต๊ะเก้าอี้ก็พอแล้ว หรือเวลารับประทานอาหาร หากคุณป่วยไอหรือจาม ก็อย่าไปกินข้าวร่วมกับคนอื่น แต่ละองค์กรอาจตั้งเป้าว่า ในปีนี้จะไม่มีพนักงานคนใดติดเชื้อไวรัสตัวนี้เลย
          ผมอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับปัจเจก ครอบครัวไปถึงองค์กร ที่ผ่านมาทุกสำนักข่าวมาสัมภาษณ์ผมจะถามว่ารัฐทำอะไรอยู่ แต่ไม่ได้ถามตัวเองว่าต้องทำอย่างไร มีองค์กรหนึ่ง บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPF) โทรหาผมบอกว่า เขาไม่อยากให้พนักงานติดเชื้อเลยสักคน ซึ่งเป็นเป้าหมาย ที่ยากแต่ถือว่าดี ถ้าติดเชื้อแล้วจะทำยังไง ไม่เดินเข้าไปที่ทำงาน
          องค์กรทั่วไปมีมาตรการว่า ถ้ามีอาการป่วยให้หยุดพัก แต่นับวันลา ความจริงคือ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้อาการเบา ถ้าให้ใช้วันลาเขาจะหยุดงานไหม ตอนนี้ในภาครัฐ ถ้าใครป่วยด้วยโควิด-19 ให้หยุดได้ไม่นับวันลา ถ้าเป็นเด็กๆ พ่อแม่ก็ควรหลีกเลี่ยงพาไปสถานที่ผู้คนแออัด ในโรงเรียนก็ต้องมีมาตรการเหมือนองค์กร
          หากให้คนป่วยใส่หน้ากากอนามัยมาทำงาน พอไอก็เอามือปิดปาก หรือขยับหน้ากากบ่อยๆ หยิบโน้นนี่ กดน้ำ กดลิฟต์ เชื้อก็อยู่ตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะทำความสะอาดบ่อยแค่ไหน ก็ไม่ทันกับคนป่วยที่เอามือไปแปะตรงโน้นตรงนี้ และคำถามที่ผมได้รับบ่อยมากคือ สงกรานต์นี้จัดงานได้ไหม
          -  คุณหมอตอบว่าอย่างไร
          ถ้าคนที่ติดเชื้อไวรัสเข้าใจเรื่องนี้ดี ไม่มาร่วมงานสงกรานต์เลย...ก็จัดได้ ถ้าถึงช่วงสงกรานต์ สมมติว่ามีคนไข้สักหมื่นคน ถ้าคนเหล่านี้อยู่บ้าน คนที่ไม่ป่วยก็ออกมาเล่นน้ำได้
          - หากไม่รู้ติดไวรัสโควิด-19 ต้องทำอย่างไร
          เอาแค่พื้นฐานเลย เป็นหวัด ไอ มีน้ำมูก ไม่ว่าจะติดเชื้อหรือไม่ ให้อยู่บ้าน ไม่จำเป็นต้องเป็นไวรัสโควิด-19 แต่ปัญหาบ้านเราคือ ไม่รู้ และรู้แล้วไม่ทำ มาตรการที่จีนเอามาใช้คือ ไม่ให้คนออกจากบ้าน ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย แล้วประเทศเรา รวยพอที่จะไม่ให้คนออกไปทำงานเป็นเดือนๆ ไหม
          - เทคโนโลยีที่หลายประเทศนำมาใช้ จำเป็นสำหรับประเทศเราไหม
          เอาแค่พื้นฐานให้ได้ก่อน อาทิ วิธีการป้องกันตัวเอง เชื้อเข้ามาได้กี่ทาง มาตรการที่ประเทศอื่นนำมาใช้ มีทั้งเห็นผลและไม่เห็นผล บางแห่งทำไปเพื่อหวังผลทางจิตวิทยา ถ้าวันหนึ่งประเทศเราจำเป็นต้องใช้และลดการระบาดได้ ก็ทำ ตอนนี้ทีมควบคุมโรคทำงานทุกวัน อยู่เวรตลอด 24 ชั่วโมง มีปัญหาโทรมาได้ที่เบอร์ 1422

 pageview  1210938    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved