Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 17/03/2563 ]
มาตรการรับมือระยะ3 สกัดเชื้อไวรัสโคโรนา2019

  กรุงเทพธุรกิจ   มาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระยะที่ 3 ของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำหรับกิจกรรมการรวมกันของคนหมู่มาก, ระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศ, สถานประกอบการสถานที่ทำงาน, สถานศึกษา ,วัด โบสถ์ มัสยิด ศาลเจ้า ,ค่ายทหาร เรือนจำ และทัณฑสถาน
          1. กิจกรรมการรวมกันของคนหมู่มาก ให้งดการจัดกิจกรรมที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมเกินกว่า 300 คนขึ้นไป, ผู้เข้าร่วมประชุมมาจากนานาชาติ, คนจากหลากหลายจังหวัดเข้าร่วม, ผู้เข้าร่วมต้องสัมผัสคลุกคลีกัน เช่น การเข้าค่าย,กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เช่น คนสูงอายุ, สถานที่มีความแออัดหรือให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องนั่งหรือยืนเบียดเสียดกัน หากพบผู้ที่มีอาการป่วยต้องสงสัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ต้องยอมรับการยกเลิกงาน ก่อนกำหนดทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558 ที่มีการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย
          2.ระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศ ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ ดูแลความสะอาดของสถานที่ให้บริการ โดยเฉพาะ ห้องสุขา สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร โดยการเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ  หรือแอลกอฮอล์ 70% อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย ทุก 2 ชั่วโมง
          - ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีผู้โดยสารใช้ร่วมกันทุก 1 ชั่วโมง เช่น ปุ่มกดตู้จำหน่ายตั๋ว ปุ่มกดตู้จำหน่ายเครื่องดื่ม เป็นต้น หรือใช้แผ่นพลาสติกใสปิดทับปุ่มเหล่านั้น และ เปลี่ยนทุกชั่วโมง
          - จัดเตรียมแอลกอฮอล์เจล เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารรวมถึงพนักงานในพื้นที่ส่วนกลาง และใกล้กับอุปกรณ์ที่ใช้มือสัมผัสบ่อยๆ เช่น บริเวณทางเข้ายานพาหนะ อุปกรณ์จำหน่ายตั๋ ราวจับ ราวบันไดเลื่อน ปุ่มกดลิฟต์ เป็นต้น
          - จัดเตรียมหน้ากากอนามัยกรณีพบ ผู้โดยสารที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เป็นต้น
          - ทำความสะอาดบัตรโดยสารที่นำมาใช้ซ้ำได้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
          - เพิ่มช่องทางการจำหน่ายตั๋วโดยสาร เพื่อลดความแออัดบริเวณที่จำหน่ายตั๋ว เช่น การจำหน่ายตั๋วโดยสารออนไลน์
          3.สถานประกอบการ สถานที่ทำงาน ผู้ประกอบการควรให้ความรู้ คำแนะนำ หรือจัดหาสื่อประชาสัมพันธ์การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคกับพนักงานในหน่วยงาน มีห้องพยาบาลให้การดูแลรักษาเบื้องต้นแก่ผู้ป่วย เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากสถานที่ทำงานหรือไลน์การผลิตที่มีคนรวมกัน เป็นจำนวนมาก รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการส่งกลับไปรักษาตัวที่บ้านหรือ โรงพยาบาล
          เพิ่มความตระหนักให้กับพนักงาน และพนักงานทำความสะอาด ถึงความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อ โดยให้ความสำคัญ ในการป้องกันตนเอง เช่น การสวมหน้ากากอนามัย และถุงมือขณะปฏิบัติงาน และการดูแลทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้งานบ่อยๆ เช่น โต๊ะทำงาน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการทำงาน รวมถึงอุปกรณ์ทำความสะอาดอื่นๆ  รณรงค์ให้พนักงานป้องกันตนเองโดยการล้างมือก่อนเข้าทำงาน และทุกครั้งที่สัมผัสอุปกรณ์ สิ่งของเครื่องใช้ ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก
          - สถานประกอบการที่มีพนักงานทำงานหนาแน่น (โรงงานที่มีไลน์การผลิต) ควรจัด ให้มีการตรวจคัดกรองพนักงานทุกคนก่อนเข้าทำงาน หากพบพนักงานป่วย ควรพิจารณาให้หยุดรักษาตัวที่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในสถานประกอบการ หากพบผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก เช่น การเลื่อนหรือยกเลิกไลน์การผลิตที่พบผู้ป่วยออกไปชั่วคราว เพื่อให้พนักงานหยุดพักรักษาตัว และลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
          4.กรณีเกิดการระบาดในสถานศึกษา ปิดโรงเรียน/คณะ หรือชั้นปี เพื่อทำความสะอาดเป็นระยะเวลา 3 วัน  สำรวจคัดกรองนักเรียนและบุคลากรทุกคนบริเวณทางเข้าโรงเรียนโดยใช้ Handheld Thermometer หากพบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวน (PUI)ให้เก็บตัวอย่าง NP swab ส่งตรวจหาเชื้อ  ผู้สัมผัสกลุ่ม high risk ให้ดำเนินการเก็บตัวอย่าง NP swab ส่งตรวจหาเชื้อ  ผู้สัมผัสกลุ่ม low risk ไม่ต้องเก็บตัวอย่าง แต่ให้แยกตัวอยู่ที่บ้าน และรายงานอาการ (self-report) ทุกวัน หากพบว่ามีอาการเข้าเกณฑ์ PUI ให้ดำเนินการแบบผู้ป่วย PUI  เมื่อเปิดเรียน ให้มีการคัดกรองไข้ทุกวัน หากพบมีอาการเข้าได้กับ PUI ให้เก็บตัวอย่าง และพิจารณาความเสี่ยงเพื่อตัดสินใจว่าจะให้ ผู้ป่วยดูอาการที่บ้าน หรือต้องแยกตัว ในโรงพยาบาล  ทีมสอบสวนโรคทำการติดตามผู้สัมผัสทุกวัน จนครบกำหนด
          5.สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา (วัด โบสถ์ มัสยิด ศาลเจ้า)หากพบผู้มีอาการป่วย ให้แยกผู้ป่วยออกจากกิจกรรมหรือ พิธีกรรมนั้นๆ รวมทั้งอำนวยความสะดวก ในการส่งกลับไปรักษาตัวที่บ้านหรือ โรงพยาบาล ให้หยุดการประกอบพิธีกรรมทุกประเภท จนกว่าจะไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ อย่างน้อย 28 วัน จัดที่นั่งให้ผู้มาร่วมประกอบพิธี ให้อยู่ห่างจากกันอย่างน้อย 1 เมตร
          6.ค่ายทหาร  หากบุคลากรมีอาการไข้ร่วมกับไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย ให้รีบใส่หน้ากากอนามัย ไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางทันที กรณีมีผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่ 5 รายขึ้นไปจากสถานที่เดียวกัน ในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ให้งดหรือเลื่อนการฝึก หรือการทำกิจกรรมร่วมกับค่ายอื่น งดการปฏิบัติงานนอกค่ายทหาร  ไม่ให้มีการเยี่ยมญาติหรือกลับบ้านหากมีการระบาดภายในประเทศ หากพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในค่าย ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมภายในไม่ให้ปล่อยทหารในหน่วยที่พบผู้ป่วยกลับบ้านหลังจากจนกว่าจะไม่พบผู้ป่วยรายใหม่อย่างน้อย 28 วัน -ปิดค่าย โดยไม่ให้มีการเข้าออกจากค่ายทหาร หากพบผู้ป่วยมากกว่า 1 หน่วย
          7.กรณีเกิดการระบาดในเรือนจำ และทัณฑสถาน พบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ควรให้ยกเลิกหรือเลื่อนกิจกรรมภายใน ที่มีการรวมตัวกันหมู่มากออกไปก่อน จัดแบ่งช่วงเวลาการรับประทานอาหารเป็นกลุ่ม ให้เหลื่อมเวลากัน พิจารณาปรับการเข้าเยี่ยมของญาติตามความเหมาะสม
          ในกรณีที่มีการระบาดในพื้นที่เรือนจำ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามต้องเป็นสถานที่ที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดีไม่ควรอยู่ใกล้อาคารที่พักอื่นหรือที่ที่มีความแออัด ระบบการดูแลการรักษาผู้ป่วยให้เป็นไปตาม แนวทาง เวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณี โรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข
          ทั้งนี้ให้คำนึงถึงระบบการขนส่งต่าง ๆ รวมถึง ระบบการส่งต่อผู้ป่วย การขนส่งวัสดุ วัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ขยะติดเชื้อและการจัดการและการ เคลื่อนย้ายศพ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยและการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ รวมทั้งระบบการเชื่อมโยง หรือ การบันทึกทางการแพทย์/การพยาบาล เช่น ระบบเวชระเบียน, การติดต่อสื่อสารทั่วไป ระหว่างโรงพยาบาลสนามกับหน่วยงาน อื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาลแม่ข่ายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค

 pageview  1210937    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved