Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 13/03/2563 ]
อิตาลี ปิดประเทศเดิมพันสู้พิษ โควิด

จูเซปเป้ คอนเต้ นายกรัฐมนตรีอิตาลี ทุ่มเดิมพันครั้งสุดท้ายในการต่อกรกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งก่อให้เกิดโรค โควิด-19 ด้วยการประกาศมาตรการ"ปิดประเทศ" ทั้งประเทศ เรียกร้องให้ชาวอิตาลีทุกคนร่วมมือกับทางการอย่างเต็มที่เพื่อการนี้ ถึงขนาดรื้อฟื้นวาทกรรม "ชั่วโมงมืดมิด" ในยามสงครามของ วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มา บอกกล่าว
          เพียงเพื่อตอกย้ำถึงความหวังกับคนทั้งประเทศว่า "แล้วเราจะผ่านวาระมืดมิดนี้ ไปด้วยกัน" เหมือนที่เชอร์ชิล เคยสร้างความหวังให้กับอังกฤษในการทำศึกในยุคสงครามโลก
          แต่โควิด-19 เป็นไวรัส ไม่ใช่สงคราม ต่างออกไปจากการสู้รบระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง มาตรการที่ใช้ย่อมแตกต่างออกไปเช่นเดียวกัน
          สารัตถะในคำประกาศโดยอาศัยอำนาจฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรีอิตาลีครั้งนี้ จำแนกออกเป็นการปิด 3 ด้านด้วยกัน คือ ปิดการเดินทาง, ยกเลิกการรวมตัวกันเป็น กลุ่มก้อนมากๆ, กับสุดท้ายคือ การปิดสถานที่ที่เป็นแหล่งชุมนุมของผู้คน
          ทั้งหมดนั้นดูราวจะเป็นภาพสะท้อนของมาตรการ "ปิดเมือง ปิดมณฑล" ที่เกิดขึ้นในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดเมืองอู่ฮั่น และมณฑลหูเป่ย์ ที่มีประชากรราวๆ 56 ล้านคน พอๆ กับประชากรของอิตาลีที่ได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศครั้งนี้ ที่มีทั้งสิ้น 60 ล้านคน
          อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาลงไปในรายละเอียด จะพบว่า มาตรการของอิตาลีนั้น ยังคงห่างจากมาตรการเด็ดขาดที่จีนพิสูจน์มาแล้วว่า ได้ผลในการจำกัดและควบคุมการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัส ร้ายแรงนี้ไม่น้อย
          ทางการอิตาลี ปิดการเดินทาง เรียกร้องให้ทุกคนอยู่กับบ้านก็จริง แต่ยังไม่ยอมให้กิจการห้างร้านและธุรกิจทั้งหลายในประเทศ "หยุดกิจการชั่วคราว" หรือ บังคับให้กิจการเหล่านี้ "ทำงานจากบ้าน" เหมือนกับที่ทางการจีนประกาศใช้มา
          การประกาศห้ามการเดินทางของอิตาลี ยังคงมีช่องเปิดให้ "เดินทางออกจาก บ้านได้" ในกรณีฉุกเฉิน หรือกรณีเพื่อสุขภาพ (ซึ่งควรจะเป็น) และการเดินทาง "ไปทำงาน" โดยมีข้อแม้ว่า "ต้องเป็นงานที่ยืนยันได้" ว่าจำเป็นต้องไปทำจริงสิ่งที่นายกรัฐมนตรีอิตาลีบอกกับกิจการเอกชนทั้งหลายเป็นเพียงการ "ร้องขอ" ให้จำกัดการเดินทางที่ไม่จำเป็นลงให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยการปล่อยให้พนักงานลาหยุดอยู่กับบ้าน โดยไม่มีการบังคับแต่อย่างใด
          ในกรณีของการยกเลิกกิจกรรมที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันของคนหมู่มากก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลจีนประกาศยกเลิกทุกอย่างทั้งหมด ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
          อิตาลี ประกาศยกเลิกการแข่งขันกีฬา ทุกชนิด ปิดกิจการสระว่ายน้ำ หรือแม้กระทั่งฟิตเนสเซ็นเตอร์ทุกแห่ง ไม่เว้นแม้กระทั่งการแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศอย่าง กัลโช เซเรียอาก็จริง แต่ยังเปิดทางให้การแข่งขันที่จัดโดย "องค์กรกีฬาระหว่างประเทศ" อย่างเช่น โอลิมปิกเกมส์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกันยังดำเนินต่อไปได้ ภายใต้ข้อแม้ว่าจะต้องเป็นการแข่งขันแบบปิด และนักกีฬากับโค้ช และเจ้าหน้าที่ทีมทุกคนต้องผ่านการตรวจสุขภาพ
          ในส่วนของการปิดสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมตัวของคนหมู่มาก อย่างเช่น  พิพิธภัณฑ์, โรงภาพยนตร์, โรงละคร, กาสิโน และไนท์คลับ ได้รับคำสั่งให้ปิดกิจการก็จริง แต่ยังยอมให้ภัตตาคาร, บาร์ เปิดกิจการได้ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ภายใต้ข้อแม้ว่า จะต้องรักษาระยะห่างระหว่างลูกค้าแต่ละรายอย่างน้อย 1 เมตร
          ถ้ามองย้อนกลับไปที่จีน ประกาศปิดเมืองที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม เริ่มต้นที่ อู่ฮั่นก่อนแล้วขยายออกไปครอบคลุมหูเป่ย์ทั้งมณฑล ก่อนขยายออกไปในอีกหลายมณฑลใกล้เคียงที่เห็นว่าจำเป็น ณ จุดที่มีการปิดเมืองในจีนสูงสุดนั้น มีเมืองเกือบ 10 เมือง กับ 4 มณฑลถูก "ปิดตาย" ซึ่งเป็นการปิดตายจริงๆ ห้ามคนเข้า-ออกอย่างเด็ดขาด ไม่เว้นแม้แต่คนต่างชาติที่อยู่ภายในพื้นที่ดังกล่าว
          แต่ที่อิตาลี นอกเหนือจากคำประกาศปิดประเทศของนายกรัฐมนตรีคอนเต้ ที่บังคับใช้ทั้งประเทศนั้น ยังมีคำสั่งแยกอีกต่างหาก ซึ่งใช้มาก่อนและแพร่หลายมาก่อน เป็นคำสั่งที่เข้มงวดกว่า เริ่มต้นใช้เป็นแห่งแรก ที่แคว้นลอมบาร์ดี แคว้นที่มั่งคั่งที่สุดทางตอนเหนือของอิตาลี เพราะเป็นเขตอุตสาหกรรมและศูนย์กลางทางการเงิน มีเมืองใหญ่อย่าง มิลาน เป็นเมืองเอก
          ตอนนี้ภายใต้คำสั่งใหม่ของนายกรัฐมนตรีคอนเต้ ขยายการ ปิดเมือง แบบลอมบาร์ดี ให้ครอบคลุมพื้นที่อีก 4 แคว้น 14 จังหวัด ครอบคลุมเมืองสำคัญอย่าง เวนิซ, โมเดนา, ปาร์มา, ปิอาเชนซา, เรจจิโอ-เอมิเลีย และริมินี
          อย่าว่าแต่สื่อทั้วโลกจะงุนงง แม้แต่สื่ออิตาลีและนักการเมืองของอิตาลีเอง ก็ยังสับสนกับมาตรการของรัฐบาล
          ไม่แน่ใจนักว่าพื้นที่ไหนบังคับใช้อะไร อย่างไร เข้มงวดมากน้อยแค่ไหน
          การที่ธุรกิจไม่ได้หยุดงาน ไม่มีการห้าม ส่งสินค้าให้กับร้านค้าต่างๆ เพียงกำชับว่า ต้องมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม ไม่เพียงเพิ่มงานให้กับเจ้าหน้าที่ในยามวิกฤตเท่านั้น ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อให้สูงขึ้นด้วย
          ลูกา ซาเอีย ผู้ปกครองแคว้นเวเนโต หงุดหงิดกับการประกาศถึงกับยืนยันไว้ในหน้าเฟซบุ๊กของตนเองว่า ไม่เคยได้รับการหารืออย่างถ้วนถี่ และไม่ชอบใจนักที่ 3 จังหวัดในแคว้นของตน รวมทั้งเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่าง เวนิซ ถูกเหมารวมเข้าไปด้วย
          "เราไม่เข้าใจเหตุผลของมาตรการเหล่านี้ ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ดีพอว่าสอดคล้องกับแนวโน้มของการแพร่ระบาดแต่อย่างใด" ซาเอีย บันทึกไว้อย่างนั้น
          ความแตกต่างที่ชัดเจนมากระหว่างมาตรการของจีนกับของอิตาลี ก็คือ มาตรการของนายกรัฐมนตรีคอนเต้ เปิดช่อง หรือทิ้งภาระ ให้ทางการท้องถิ่นใช้ "วิจารณญาณ" อยู่เยอะมาก ในขณะที่จีนใช้มาตรการเด็ดขาดอย่างเดียวที่มาจากรัฐบาลกลางอย่างเข้มงวด เคร่งครัด
          หลายคนบอกว่านั่นสะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างระบอบการเมืองการปกครองของประเทศทั้งสอง
          แต่ ปิเอโตร บอร์ซาโน นักธุรกิจอิตาเลียนที่มาปักหลักทำมาหากินอยู่ในเมืองไทยกลับมองเห็นไปอีกทางหนึ่ง เขาบอกเอาไว้ว่า
          "ความตื่นรู้ในหมู่สาธารณชนที่อิตาลีโน่นมีน้อยมาก แม้แต่ในตอนเหนือของประเทศ (ซึ่งเป็นแหล่งระบาดใหญ่) ผู้คนไม่ได้ยึดถือเรื่องนี้จริงจัง แทบบอกได้ว่าไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ไม่เคยมีเจลทำความสะอาดมือในพื้นที่สาธารณะให้เห็น" ก่อนย้ำว่า
          "คนอิตาลี แคร์เสรีภาพส่วนบุคคลมากกว่า แล้วก็ไม่มีวินัยมากเท่ากับคนจีน"
          นั่นหมายความว่า ไม่มีอะไรสามารถยืนยันได้ชัดเจนว่า ประชาชนอิตาลีจะอดทนทำตามความพยายามที่จะควบคุมความเคลื่อนไหวของพวกตนได้มากน้อยแค่ไหน และยินดีให้ความร่วมมือกับทางการได้นานเท่าใด
          ในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกบางคนยอมรับว่า เป็นกังวลอย่างยิ่งว่า ระบบสาธารณสุขของอิตาลีจะรับมือกับสถานการณ์ไม่ไหว
          อันโตนิโอ ปีเซนติ หัวหน้าสำนักงานรับมือกับภาวะวิกฤตของแคว้นลอมบาร์ดี ยืนยันเอาไว้สั้นๆ แต่ได้ใจความมากว่า
          ระบบสาธารณสุขของอิตาลี "เหลืออีกก้าวเดียวก็จะล่มสลายทั้งระบบแล้ว"!

 pageview  1210937    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved