Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 07/04/2563 ]
บิ๊กตู่ ฮึ่มใครไม่กักตัว สั่งเด็ดขาด ไม่ต้องให้เข้าประเทศ

   หมอมั่นใจการนำเลือดผู้ป่วยที่หายแล้ว สกัดพลาสมายับยั้งไวรัส'โควิด-19'ได้ผล
          ผวา คนไทยกลับจากต่างประเทศ ทำ "โควิด-19" ระบาดกระจายทั่วไทย "บิ๊กตู่" ฮึ่มไม่กักตัว ไม่ให้เข้าประเทศ หวั่น"ซูเปอร์สเปรดเดอร์"  เหตุ สธ. พบ ไทยป่วยโควิดรายใหม่ กลับมาเพิ่มเกินร้อยเป็น 102 ราย ตายอีก 3 ศพ ส่งผลป่วยสะสม 2,169 ราย ตายรวม 23 ศพ อึ้งในจำนวนนี้ มีคนไทยกลับจากต่างประเทศป่วย 13 ราย ส่วนใหญ่มาจากอังกฤษ พร้อมกำชับอย่าให้เกิดเหตุซ้ำรอยป่วนสุวรรณภูมิสั่งยกเครื่องบูรณาการ ขอบคุณ 158 คนไทย กลับรายงานตัวเข้าสู่กระบวนการกักกันโรค ครบ "น.อ." ไม่รอด ถูกตั้งกรรมการสอบร่วม "พล.ต." เซ่นเหตุป่วนสุวรรณภูมิ ศบค. เผย หลังเคอร์ฟิวจับฝ่าฝืนดำเนินคดี 325 คน กลาโหมห่วงกลาง เม.ย. ผู้ป่วยโควิดพุ่งเร่งเตรียม รพ.สนามพื้นที่ควบคุมโรคเพิ่ม กาชาดวอนคนไทยหายป่วยโควิด-19 บริจาคเลือด สกัดพลาสมา ช่วยผู้ป่วยรายใหม่สู้โรค กระทรวงศึกษาฯ ปรับแผนสอนออนไลน์ชง ครม. 7 เม.ย.
          ทั่วโลกติดเชื้อ 1.2 ล้านคน
          เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 5 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุขในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน 204 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ พบว่า ผู้ติดเชื้อยืนยันทั่วโลก 1,201,933 ราย ผู้ป่วยอาการรุนแรง 37,698 ราย ผู้ที่ได้รับการรักษาหายแล้ว 246,572 ราย เสียชีวิต 64,716 ราย โดยสหรัฐอเมริกายังมีผู้ป่วยติดเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ 311,357 ราย รองลงมา คือสเปนมีผู้ป่วยติดเชื้อ 126,168 ราย อิตาลี 124,632 ราย เยอรมนี 96,092 รายและฝรั่งเศส 89,953 ราย ตามลำดับ
          ไทยพบป่วยเพิ่ม 102 ราย
          สำหรับประเทศไทย ล่าสุด มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 102 ราย ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 2,169 ราย ผู้ที่รับการรักษาหายและได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน เพิ่ม 62 ราย ทำให้มียอดผู้ที่รับการรักษาหายแล้ว 674 ราย มีผู้เสียชีวิตอีก 3 ราย ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 23 ราย ในส่วนผู้ป่วยรายใหม่ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้าหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่พบผู้ป่วย 48 ราย คือ กลุ่มสถานบันเทิง 2 ราย กลุ่มพิธีศาสนา 2 ราย กลุ่มใกล้ชิดผู้ป่วยรายเก่า 44 ราย 2. ผู้ป่วยรายใหม่ 42 รายคือ กลุ่มคนไทยกลับจากต่างประเทศ 13 ราย ส่วนใหญ่มาจากอังกฤษ 7 รายเป็นนักศึกษาและทำงานร้านอาการ กลุ่มคนต่างชาติเข้ามา 1 ราย กลุ่มสัมผัสคนเดินทางจากต่างประเทศ 2 ราย กลุ่มไปสถานที่ชุมชน 5 ราย กลุ่มอาชีพเสี่ยง 19 ราย และ 3.อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 12 ราย
          สังเวยไวรัสมรณะอีก 3 ศพ
          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้เสียชีวิต 3 รายใหม่นั้น รายแรกเป็นชายไทย อายุ 46 ปีอาชีพรับจ้าง เดินทางจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กลับมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ด้วยอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา รายที่ 2 เป็นชายสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ อายุ 82 ปี มีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไปร่วมงานเลี้ยงในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นไปร่วมงานเลี้ยงในร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท กรุงเทพฯ ต่อมามีอาการเป็นไข้เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา แล้วไปเข้ารับการรักษาใน รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน จ.ประจวบคีรีขันธ์เมื่อวันที่ 31 มี.ค. โดยมีอาการเป็นไข้ ความดันโลหิตสูง หายใจเหนื่อยหอบซึ่งแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นโรคปอดบวมและมีภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน จากนั้นถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.เพชรบุรี กระทั่งเสียชีวิตด้วยภาวะระบบหายใจล้มเหลวเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา
          ส่วนใหญ่ดับจากเบาหวาน
          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า รายที่ 3 เป็นชายไทย อายุ 30 ปี อาชีพแรงงานก่อสร้างมีประวัติดื่มสุราเป็นประจำ เดินทางมาจาก จ.พัทลุง มาถึง จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.  ที่ผ่านมา ไปทำงานก่อสร้างที่ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ และเริ่มป่วยในวันที่ 29 มี.ค. ด้วยอาการไอ เสมหะเป็นสีเขียว อาเจียนเป็นเลือด เหนื่อยหอบ น้ำหนักลดแต่ไม่มีไข้ ต่อมา เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา มีไข้สูงขึ้น เหนื่อยหอบ ซึ่งหน่วยกู้ชีพได้ส่งตัวชายรายนี้ไปรักษาที่ รพ.ปราสาท จ.สุรินทร์ โดยเมื่อแพทย์เอกซเรย์ปอดแล้ว พบว่ามีอาการเข้ากับโรคปอดอักเสบรุนแรงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภาพรวมกรณีของผู้เสียชีวิต แบ่งเป็นชาย 18 ราย หญิง 2 ราย ทั้งนี้มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 58.5 ปี ขณะที่โรคประจำตัวที่พบร่วมนั้น ส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวาน 50 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา คือโรคความดันโลหิตสูง 35 เปอร์เซ็นต์  โรคไตเรื้อรัง 15 เปอร์เซ็นต์ โรคไขมันในเลือดผิดปกติ 15 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
          11 จังหวัดยังไม่พบผู้ป่วย
          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า สำหรับจังหวัดที่รับรักษาผู้ป่วยยืนยันสะสมนั้น กรุงเทพฯ มี 1,011 ราย จ.นนทบุรี 137 ราย ภูเก็ต 131 ราย ส่วนจังหวัดที่รับรักษาผู้ป่วยยืนยันรายใหม่กรุงเทพฯ มี 34 ราย ภูเก็ต 24 คน สมุทรปราการ 9 ราย อย่างไรก็ตามจังหวัดที่ยังไม่มีการรายงานพบผู้ป่วย มี 11 จังหวัด ได้แก่ 1. กำแพงเพชร 2. ชัยนาท 3. ตราด 4. น่าน 5. บึงกาฬ 6. พังงา 7. พิจิตร 8. ระนอง 9. สตูล 10. สิงห์บุรี และ 11. อ่างทอง
          ห่วงระบาดจากคนกลับไทย
          "จากข้อมูลช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาใครกลับจากต่างประเทศแล้วคุมได้ไม่ดี เพียงแค่ 1-2 คน จะกระจายและเกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์ได้จากตัวเลขจะเห็นว่าคนไทยกลับจากต่างประเทศป่วยถึง 249 คน แม้จะบอกว่าตัวเองแข็งแรงแล้ว วัดไข้แล้วได้ใบรับรองแพทย์แล้ว ก็ต้องกลับมากักตัวอีก 14 วัน เพื่อความมั่นใจเพราะการกลับมาแล้วจะเห็นว่ามีการกระจายตัวไปทั่วประเทศ สำหรับการติดเชื้อ  ในประเทศพบว่ากรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลง ส่วนต่างจังหวัดค่อนข้างคงที่ ส่วนการติดเชื้อจากต่างประเทศเป็นคนต่างชาติไม่เกิน 10 รายต่อวัน ส่วนใหญ่มาจากยุโรป และคนไทยไม่เกิน 10-25 รายต่อวัน มาจากยุโรป ปากีสถานและอินโดนีเซีย" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          158 คนไทยรายงานตัวครบ
          จากนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ติดตามกรณีผู้โดยสารคนไทย 158 คนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและปฏิเสธการกักตัวโดยรัฐ โดยนายกฯ ได้สั่งการให้ผู้รับผิดชอบทำงานอย่างเต็มที่ อีกทั้ง  นายกฯ ยังลงรายละเอียดด้วยตัวเองให้ทุกหน่วยทำงาน บูรณาการแก้ปัญหาจนสามารถจัดการเรียบร้อยทำให้ทั้ง 158 คนมารายงานตัวครบแล้ว ซึ่ง นายกฯ ฝากขอบคุณทุกคนที่ร่วมมือกับรัฐ กลับมาเข้าระบบกักตัวเฝ้าระวังโรค
          ส่งเข้ากักตัวเฝ้าระวังโรค
          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ พล.อ. สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทสส.ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถาน การณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงได้รายงานต่อนายกฯ ว่าตัวเลขล่าสุดที่มารายงานตัว 158 คน แบ่ง 2 กลุ่มได้แก่ ผู้ที่มารายงานตัวที่ศูนย์ดำรงธรรมต่างจังหวัด 65 รายใน 27 จังหวัดโดยกลุ่มนี้จะเข้าสถานกักตัวที่ รพ. โรงแรม/รีสอร์ท และสถานที่ราชการ ขณะที่กลุ่มผู้ที่รายงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ 93 ราย ซึ่งจะเข้าสถานกักตัวที่โรงแรม 2 แห่ง อย่างไรก็ตามทุกคนร่วมมือ อย่างดีและพบว่ามีบางคนมีไข้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเข้าดูแลอย่างดี โดยใน 14 วันที่กัก ตัวนี้ จะทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างดี
          ฟันผิดแหกเคอร์ฟิวเพียบ
          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผลจากการประกาศเคอร์ฟิวห้ามประชาชนออกจากเคหสถานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเวลา 22.00-04.00 น. ไปเมื่อวันที่ 3 เม.ย.นั้น ได้มีตั้งจุดตรวจคัดกรอง 634 จุด ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศโดยมีรถผ่านจุดตรวจทั้งหมด 7,997 คัน ผู้ที่ผ่านจุดตรวจทั้งสิ้น 11,610 คน ตรวจพบการกระทำความผิดฝ่าฝืนโดยไม่มีเหตุผลจำเป็นในการเดินทางแบ่งเป็นยานพาหนะ 522 คัน ผู้กระทำความผิด 677 คน และมีการรวมกลุ่มมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น การดื่มสุราและเสพยาเสพติดแบ่งเป็นยานพาหนะ 24 คัน ผู้กระทำความผิด 41 คน ซึ่งได้มีการดำเนินการตักเตือนไป 375 คน และดำเนินคดีไปแล้ว 325 คนซึ่งในจำนวนนี้ไม่รวมถึงผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังนั้นหากใครไม่เกี่ยวข้องอย่าฝ่าฝืนออกมาอีกเลย
          ย้ำอย่าให้เกิดเหตุซ้ำรอย
          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันหลังเกิดปัญหาที่สนามบินสุวรรณภูมินายกฯ ได้กำชับว่าอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก พร้อมสั่งบูรณาการทุกหน่วยและให้มีทดสอบระบบใหม่วานนี้ (4 เม.ย.) ที่มีเที่ยวบินจากมาเลเซียเข้ามา 51 คน และจากกาตาร์ 47 คนเข้ามา   ซึ่งทุกหน่วยได้บูรณาการอำนวยความสะดวกทำให้กระบวนการคัดกรองใช้เวลาไม่นานและเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีใช้เวลาจนพาทุกคนเข้าระบบกักตัว ไม่ถึง 3 ชม. ซึ่งนายกฯชื่นชมทุกคนที่ทำงาน
          ไม่กักตัวไม่ให้เข้าประเทศ
          อย่างไรก็ตาม แม้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยใน วันที่ 4-6 เม.ย.ไปแล้วนั้นแต่ยังมีบางเที่ยวบินที่ได้ลงทะเบียนและตกลงไว้ก่อนแล้ว อีกทั้งยังมีกลุ่มนักเรียนที่กลับจากต่างประเทศที่ยังสามารถเดินทางเข้ามาได้ แต่ก็มีปรับกระบวนการและปรับระบบดูแลเป็นลำดับขั้นให้ดีมากขึ้นเพื่อไม่เกิดความสับสนแบบที่ผ่านมา จึงขอให้มั่นใจได้ว่าทุกคนที่กลับเข้ามาหลังจากนี้จะต้องเข้าระบบกักตัวได้ 100% ถ้าไม่เข้ารับกักตัว ก็ไม่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย
          คาดกลับไทย300คนต่อวัน
          "คาดว่าหลังจากนี้จะมีคนเข้ามาประมาณ 200-300 คนต่อวัน อย่าลืมว่าถ้า 5 วัน ก็จะเป็นหลักพันคนหนึ่งคนใช้เวลากักตัว 14 วัน ซึ่งจะสะสมไปอีกจำนวนมากเราจึงต้องระดมเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลทุกคนอย่างดีที่สุดและทุกคนต่างทำงานหนักซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศมีข้อจำกัดมากกว่าไทยบางประเทศออกค่าใช้จ่ายเองทั้งค่าที่พักและอาหาร แต่นายกฯให้ความสำคัญกับคนไทยทุกคน จึงขอให้ทุกคนอดทน เพื่อผ่านไปด้วยดี" โฆษก ศบค.กล่าว
          เพิ่มกำลังใจบุคลากรแพทย์
          เมื่อถามถึงปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยและติดเชื้อโควิด-19 ปัจจุบันยังมีบุคลากรเพียงพอในการทำงานหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขประชุมหลายครั้ง ทั้งเรื่องของหน้ากากอนามัยชุดป้องกันตัวเองตอนนี้ยอมรับขาดแคลนทั่วโลก เราได้พยายามจัดหาให้เพียงพอที่สำคัญที่สุดคือเรื่องยาซึ่งถือเป็นอาวุธสำคัญที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์เจ้าใหญ่ในโลกที่ผลิตได้คือ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยง ทำให้มีตัวยาเข้ามาในประเทศไทย ขณะนี้แม้ทั่วโลกอัตคัด แต่ของเรามีคณะกรรมการพิจารณาปรับใช้อย่างเหมาะสมและประหยัด ในส่วนของขวัญและกำลังใจ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข จัดทำบัญชีตำแหน่งต่าง ๆ ใครที่สามารถที่จะบรรจุเข้ามาในช่วงเวลานี้ประมาณ 40,000 กว่าตำแหน่ง ถือเป็นเรื่องการสร้างขวัญกำลังใจ เพื่อให้การทำงานของกองทัพที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคเกิดผลได้
          สธ.ปรับแผนการรักษา
          ต่อมาเวลา 13.00 น. ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดี กรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาโควิด-19 ได้พยายามปรับเปลี่ยนแนวทาง   จากการศึกษาวิจัยทั่วโลก และในรอบเดือน มี.ค.เปลี่ยนไปแล้ว 2 ครั้ง เพื่อประเมินการรักษา โดยหลักการ มีแยกผู้ป่วยตามอาการ กลุ่มอาการไม่รุนแรง แพทย์จะมีให้ยาต้านไวรัส ไม่ใช้ยาฟาวิราเวียร์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นเข้าขั้นวิกฤติถึงจะพิจารณาให้ยาตัวนี้ ส่วนที่มีกระแสว่าประเทศญี่ปุ่นจะบริจาคยาตัวนี้ แล้วเหตุใดจึงต้องซื้อ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ขอชี้แจง ว่าเขายังไม่บริจาค ทั้งนี้การใช้ยาฟาวิราเวียร์ บางวันใช้มากถึง 2,000 เม็ด โดยปัจจุบันการใช้ยาชนิดนี้ใน 5-10 วัน จะใช้ยา 70 เม็ดต่อผู้ป่วย 1 คน ดังนั้นแนวทางการรักษาตอนนี้ 1 เดือน ใช้ยา  50,000-60,000 เม็ด แต่ในวันที่ 6 เม.ย. จะมีประชุมกับคณะผู้เชี่ยวชาญ ว่าจะให้ยาชนิดนี้กับผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบไม่มากด้วยหรือไม่
          น.อ.ถูกตั้ง กก.สอบด้วย
          มีรายงานข่าวจากกองบัญชาการกองทัพไทย แจ้งว่า ตามที่ปรากฏ นาวาอากาศเอก(น.อ.)ที่อยู่ในเหตุการณ์สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อช่วงคืนวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา และมีเผยแพร่คลิปวิดีโอในระหว่างเจรจากับผู้โดยสารที่เดินทางกลับจากต่างประเทศผ่านทางโซเชียล โดยอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถกลับบ้านได้ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางนั้น น.อ. นายดังกล่าวสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย แต่มาช่วยราชการที่กระทรวงกลาโหม ที่ขอให้มาช่วยดูแลในเรื่องของการประสานงานการยกกระเป๋า และเรื่องนำคนขึ้นรถ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่คัดกรองเพราะหน้าที่คัดกรองเป็นของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ น.อ. เป็นหนึ่งในทีมงานของกระทรวงกลาโหมดังนั้นการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหม จะต้องสอบสวน น.อ. พร้อมกับ พล.ต.โกศล ชูใจ ผู้ชำนาญการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงกลาโหมไปทำหน้าที่ประสานงานเรื่องการจัดยานพาหนะในการรับส่งผู้โดยสารที่กลับจากต่างประเทศไปกักกันตัวที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยเช่นกันโดยผลการสอบสวนทางกระทรวงกลาโหม จะแจ้งให้ทราบต่อไป
          เฝ้าระวังโรคเพิ่ม 98 คน
          พ.อ.หญิง ฉัตรรพี พูนศรี โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวว่า เมื่อคืนวันที่ 4 เม.ย. เวลา 21.30 น. เที่ยวบินจากประเทศมาเลเซีย มีคนไทย 51 คน เดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิจากนั้นเจ้าหน้าที่นำเข้าสู่ขั้นตอนคัดกรอง และนำขึ้นรถบัสเพื่อเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคที่โรงแรมเดอะภัทรา ถนนพระรามเก้า กรุงเทพฯ จากนั้นเวลา 22.00 น. เที่ยวบินจากเมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ กลับถึงประเทศไทย มีผู้โดยสารคนไทย 47 คน ก็ได้นำเข้าสู่กระบวน การเช่นเดียวกับเที่ยวบินจากประเทศมาเลเซียโดยผลการตรวจพบผู้ป่วยมีอาการไข้ 1 ราย เป็นหญิงอายุ 36 ปีซึ่งกระทรวงสาธารณสุขรับตัวไปดำเนินการ สำหรับผู้โดยสารที่เหลือ นำขึ้นรถบัสเพื่อเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคที่โรงแรมเดอะภัทรา เช่นกัน โดยทั้งหมดรวม 98 คน ใช้เวลาชี้แจงการปฏิบัติ เที่ยวบินละ 1 ชั่วโมง 30 นาทีเท่านั้น
          เร่งเตรียมรพ.สนามเพิ่ม
          พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าจากการประเมินสถานการณ์ในภาพรวม หากอัตราการแพร่ระบาดของโรคยังไม่ลดลงจากปัจจุบันจนถึงกลาง เม.ย. อาจเกินขีดความสามารถของ รพ.สาธารณสุขทั่วประเทศ ในขณะที่คนไทยจำนวนมากในต่างประเทศที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับไทย กำลังทยอยเดินทางกลับโดยทุกคนต้องอยู่ในมาตรการควบคุมโรคของรัฐอย่างเข้มข้นขึ้นตามเวลาและสถานที่ที่กำหนดซึ่งจำเป็นต้องเตรียมสถานที่รองรับเพิ่มเติมและมีบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพร่วมกันในภาพรวม กระทรวงกลาโหมจึงกำชับขอให้ทุกเหล่าทัพเร่งเตรียม รพ.สนามให้มีความพร้อมโดยเร็วเพื่อรองรับสถานการณ์ของผู้ป่วยที่อาจมีมากขึ้นจนเกินกำลังของกระทรวงสาธารณสุขพร้อมกับขอให้ประสานเร่งจัดหาและเตรียมความพร้อมที่พักเพิ่มเติมสำหรับใช้เป็นพื้นที่ควบคุมโรคของรัฐ
          เตรียมตั้งศูนย์กักตัวโควิด
          นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครเตรียมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ LocalQuarantine หรือศูนย์กักตัวโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ โรงแรมย่านรัชดาภิเษก เขตจตุจักร เพื่อกักกันและเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศสามารถรองรับผู้กักตัวได้ 700 ห้อง เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กทม.
          อนุทินแจงปมซื้อยารักษา
          นายอนุทินกล่าวถึงกรณีมีคนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการซื้อยาฟาวิราเวียร์จากจีนแทนที่จะรับการช่วยเหลือจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาเอวีแกน ที่สนับสนุนฟรี กว่า 30 ประเทศ เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 ว่า ยา 2 ตัวนี้คือยาตัวเดียวกันที่มีชื่อสามัญว่าฟาวิพิราเวียร์ซึ่งประเทศจีนได้สิทธิบัตรจากญี่ปุ่นไปผลิตต่อ ส่วนการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ลอตแรกไทยได้รับการสนับสนุนจากจีนแบบให้เปล่าเช่นกัน อย่างไรตามเพื่อสำรองให้อุ่นใจว่าจะมียาเพียงพอต่อการใช้รักษา กรมควบคุมโรคสั่งซื้อ 40,000 เม็ด องค์การเภสัชกรรมสั่งซื้ออีก 40,000 เม็ดจากประเทศญี่ปุ่น อีก 100,000 เม็ดจากจีนและที่กำลังจะมาถึงไทยเร็ว ๆ นี้ คือลอตที่องค์การเภสัชฯ สั่งซื้อจากจีน 100,000 เม็ด และ ญี่ปุ่น 100,000 เม็ด และยาที่ได้มาได้ใช้รักษาผู้ป่วยไปแล้วจำนวนมาก กรุงเทพฯกว่า 200 ราย ต่างจังหวัด กว่า 100 ราย ส่วนข่าวที่ญี่ปุ่นจะให้ฟรีเพิ่งมีมาทีหลังและยังไม่มีความชัดเจน
          บริจาคเลือด-สกัดพลาสมา
          รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้การรักษาผู้ป่วยยังต้องพึ่งพาการให้ยารักษาตามอาการของผู้ป่วยและการผลิตวัคซีนยังอยู่ในกระบวนการของการพัฒนาและวิจัยอย่างเร่งด่วนแต่ยังมีอีกวิธีการรักษา คือการนำพลาสมาจากผู้ป่วยโรค โควิด-19 ที่หายแล้วนำไปใช้รักษาผู้ป่วยอาการรุนแรงได้ ดังนั้น ศูนย์บริการโลหิตฯ จึงขอรับบริจาคพลาสมาจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่หายดีไม่มีอาการ ออกจาก รพ. และกักตัวที่บ้านครบ14 วันแล้ว
          ชี้เสมือนเซรุ่มใช้รักษาโรค
          ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาศูนย์บริการโลหิตฯ กล่าวว่าพลาสมาของผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 จะมีประโยชน์ในการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วยเปรียบเสมือนเป็นเซรุ่มใช้รักษาโรคได้โดยภูมิต้านทานต่อไวรัสโควิด-19 ที่ร่างกายสร้างขึ้น ส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นสูงหลังสัปดาห์ที่ 2 -4 จะช่วยยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าไปทำลายเซลล์ปอด จนทำให้ปอดอักเสบรุนแรงและแพร่กระจายสร้างความเสียหายไปทั่วร่างกายช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผลการศึกษาการใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยในเมืองเซี่ยงไฮ้และเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน พบว่า ให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งองค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาก็อนุญาตให้ใช้พลาสมาของผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายแล้วมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อในสถานการณ์ฉุกเฉิน สภากาชาดไทย จึงขอเชิญชวนผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 กลับมาช่วยบริจาคพลาสมา ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับผู้ป่วยรายต่อ ๆ ไปผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตฯ โทร. 0-2263-9600-99
          สั่งวางแผนสอนออนไลน์
          ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เข้าหารือกับนายกฯถึงมาตรการรับมือการเรียนการสอน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังแพร่ระบาด โดย นายณัฏฐพล กล่าวว่านายกฯ ให้นโยบายเรื่องของการเรียนการสอนในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้โดยนายกฯ ให้ไปดูว่ามีอะไรที่จำเป็นบ้าง ที่สำคัญอย่าให้เป็นภาระผู้ปกครองโดยไม่จำเป็นอย่าสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ซึ่งรายละเอียดมาตรการการเรียนการสอนจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 7 เม.ย.ทั้งนี้ การสอนออนไลน์แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มต่ำกว่า ป.6 และกลุ่ม ม.1 ขึ้นไป ซึ่งแตกต่างกันโดยกลุ่มต่ำกว่า ป.6 สอนทางเดียว ส่วนกลุ่ม ม.1 ขึ้นไป จะต้องสอน 2 ทาง ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ความเข้าใจของครูผู้สอนด้วย
          ผวจ.ภูเก็ตสั่งปิดป่าตอง
          ที่ จ.ภูเก็ต นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผวจ.ภูเก็ต ลงนามคำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 1823/2563 เรื่องปิดสถานที่เสี่ยงและกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 พื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ สาระสำคัญระบุว่า ผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ที่ทำงานหรือสัมผัสกับผู้ทำงานในสถานประกอบการในซอยบางลา เขตเทศบาลเมืองป่าตองเพื่อป้องกันจึงห้ามประชาชนเข้าไปหรือออกจากพื้นที่ดังกล่าวเว้นแต่ยานพาหนะสำหรับการขนส่งสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค แก๊สหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องมือแพทย์ ยานพาหนะกู้ชีพกู้ภัย รถพยาบาลรถฉุกเฉินทางการแพทย์ รถที่ใช้สำหรับภารกิจของทางราชการ รถขนส่งพัสดุและสิ่งพิมพ์ รวมทั้งมีกำหนดจุดตรวจคัดกรองโรค ที่จุดตรวจคัดกรองสี่กอ ถนนพระบารมี ต.กะทู้ จุดตรวจคัดกรองไซม่อนคาบาเร่ ถนนสิริราชย์ ต.ป่าตอง จุดตรวจคัดกรองหน้าโรงเรียนบ้านกะหลิม ถนนกมลา-ป่าตอง และให้เทศบาลเมืองป่าตองทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ ถนน บ้านพักอาศัย ร้านค้าในเขตพื้นที่ ต.ป่าตอง โดยการฉีดฆ่าเชื้อทั้งหมดทุกหลังคาเรือนตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
          เชียงใหม่จับฝ่าฝืน 52 ราย
          ที่ จ.เชียงใหม่ มีการจัดชุดตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการเคอร์ฟิว ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระจายกำลังกันครอบคลุมพื้นที่ 38 โรงพัก   38 จุด และมีด่านตรวจย่อยในพื้นที่อีก 47 จุดแต่ยังพบว่ามีบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามและฝ่าฝืนคำสั่ง ซึ่ง พล.ต.ต.พิเชษฐ จีระนันตสิน ผบก.ภ. จว.เชียงใหม่ กล่าวว่า ใน จ.เชียงใหม่ คืนที่สองของการประกาศเคอร์ฟิวสามารถจับกุมผู้ฝ่าฝืนได้ทั้งสิ้น 52 ราย ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น  เหตุเกิดทั้งใน อ.เมือง อ.สารภี อ.สันป่าตอง และ อ.ฝาง ควบคุมตัวทั้งหมดดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด
          เขมรประท้วงให้เปิดด่าน
          ที่ จ.สระแก้ว พ.ต.อ.อาทิตย์ ยาแก้ว ผกก.ตม.จว.สระแก้ว ไปตรวจสอบบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา เนื่องจากรับรายงานว่า ฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชามีบรรดาพ่อค้าแม่ค้าชาวกัมพูชา ที่เป็นเจ้าของแผงขายสินค้าในตลาดโรงเกลือ ฝั่งไทยใน อ.อรัญ ประเทศ พร้อมด้วยบรรดาแรงงานลูกจ้างและรถเข็นต่าง ๆ กว่า 200 คน มาปิดถนนเรียก ร้องให้ไทยเปิดด่านพรมแดนเพราะที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 24 มี.ค.-5 เม.ย. อนุญาตรถยนต์ไทยข้ามเข้ามาได้ แต่ไม่อนุญาตให้คนกัมพูชาข้ามไปสร้างความเดือดร้อนโดยเฉพาะเรื่อง การขาดรายได้เป็นอย่างมาก พร้อมขู่หากไทยไม่ยอมเปิดด่านฯ จะไม่ยอมให้รถยนต์บรรทุกสินค้าไทยเข้าไปในประเทศกัมพูชา ต่อมามีเจ้าหน้าที่ ตม.ปอยเปต เข้าเจรจาพร้อมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด หากยังคงประท้วงจะถูกจับดำเนินคดี ทำให้ผู้ชุมนุมพากันแยกย้ายกลับไป
          คุกทันทีผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
          ด้าน นายวรพันธ์ สุวัณณุสส์ ผวจ.สระแก้ว กล่าวว่า ศาลจังหวัดสระแก้ว อ่านคำพิพากษากรณีมีผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม 16 คน ที่ได้กระทำผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งกำหนดเคอร์ฟิว คำพิพากษาได้ลงโทษผู้ต้องหาแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1. ผู้ต้องหา 12 คน ที่ลักลอบเข้าประเทศไทยศาลสั่งจำคุก 1 เดือน ในข้อหาไม่เข้าประเทศในช่องทางถูกต้องและสั่งจำคุก 3 เดือนในข้อหา ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินรวม 2 ข้อหาจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา  และ 2. ผู้ต้องหาอีก 4 คน ที่เป็นผู้ไปรับหรือนำพาศาลสั่งจำคุก 3 เดือนในข้อหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยไม่รอลงอาญา ทั้งนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกจับกุมได้ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา เวลา 22.30 น. บริเวณ หมู่ 2 ต.โนนหมากหมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว
          ทำแอลกอฮอล์เจลแจกฟรี
          ที่ จ.นครราชสีมา พ.ต.ท.วิษณุ คำโนนม่วง สว.ส.ทล.1(นคร

 pageview  1210934    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved