Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 07/04/2563 ]
ติดเชื้อโควิด66จว.-จัดแถวไฟลต์เข้าปท. 158คนกักตัวครบ

   ดับเพิ่ม3-ป่วยใหม่102ราย เผยกลุ่มจากตปท.เสี่ยงสุด ราชทัณฑ์ดึง'สรยุทธ'ช่วยทำคลิปแจงนักโทษ-ญาติ 35สถาบันเร่งพัฒนาวัคซีน
          ศบค.แถลงโควิด-19 คร่าเพิ่มอีก 3 ป่วยใหม่ 102 ราย เผย 158 คนไทยกลับจากต่างประเทศรายงานตัวครบแล้ว ลั่นฝ่าฝืนเคอร์ฟิว 2 คืน ถูกดำเนินคดี 325 คน ชม 11 จังหวัดไร้ติดเชื้อ สธ.แจง 'หมอติดไวรัส'ยันให้ยา'ฟาวิพิราเวียร์'ต่อเนื่อง
          'ประยุทธ์'เข้าทำเนียบวันหยุด
          เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังประกาศเคอร์ฟิวห้ามประชาชนออกจากเคหะสถานในเวลา 22.00-04.00 น. และการติดตามความคืบหน้ากรณีผู้โดยสารคนไทย 152 คน ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและปฏิเสธการกักตัวโดยรัฐ ซึ่งขณะนี้ได้กลับมารายงานตัวครบถ้วนแล้ว
          สั่งปรับการสื่อสารโควิด-19
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้หารือกับ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ห้องทำงาน ตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อปรับการสื่อสารให้เป็นทิศทางเดียวกัน กระชับ ไม่ซ้ำซ้อนและทันเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้จากที่มีกระแสข่าวว่า เย็นวันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรีจะออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) โดยคาดว่าจะเป็นการประกาศเกี่ยวกับมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 แต่ล่าสุดได้รับการยืนยันจากทำเนียบรัฐบาลว่า นายกรัฐมนตรี ไม่มีการออกแถลงการณ์ผ่าน ทรท.แต่อย่างใด
          สั่งติดตามคนไทยชิ่งสนามบิน
          ต่อมา นพ.ทวีศิลป์ แถลงรายงานประจำวันว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ติดตามสถานการณ์ 158 คนไทย ที่ออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ โดยได้ ผู้สั่งการให้ผู้ที่รับผิดชอบต่างๆ ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการจนจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างเรียบร้อย ทั้งนี้ นายกฯฝากขอบคุณพ่อ แม่ และผู้ปกครองของบุคคลทั้งหลาย รวมถึงขอบคุณ 158 ราย ที่ร่วมมือกับภาครัฐ ใช้เวลาไม่นานก็เข้าสู่กระบวนการกักตัว ซึ่งผลของการดำเนินการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ในต่างจังหวัด 65 คน กระจายไปใน 27 จังหวัด เป็นภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคเหนือ 6 จังหวัด ภาคอีสาน 8 จังหวัด ภาคใต้ 2 จังหวัด และภาคตะวันออก 4 จังหวัด ในจำนวนเหล่านี้ได้ไปกักตัวที่โรงพยาบาล โรงแรม รีสอร์ต และในพื้นที่ กทม. มีคนไปรายงานตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ 93 คน ส่งไปที่โรงแรม 2 แห่งในพื้นที่ กทม. และบริเวณใกล้เคียง ทางกระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปดูแลอย่างดีใน 14 วันนี้
          ศบค.ขอโทษดำเนินการล่าช้า
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า นายกฯสั่งให้บูรณาการ โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายนได้ทดสอบระบบกันใหม่ โดยมีเที่ยวบิน บินเข้ามา 2 เที่ยวบิน คือจากทางมาเลเซีย 51 คน จากทางการ์ตาร์ 47 คน ก็มีการรายงานเข้ามาว่า มีการใช้บุคลากรด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น กองทัพไทย กระทรวงการต่างประเทศ ท่าอากาศยาน กระทรวงสาธารณสุข ตม. โรงแรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม เกิดผลให้เห็นว่า คนไทยประมาณกว่า 100 คน เมื่อเดินทางมาถึงใช้เวลาขนกระเป๋า ยืนรอสัมภาระ และรวมตัวกันเพื่อส่งตัวไปยังโรงแรมที่พักที่เป็นที่กักตัว ใช้เวลาเฉลี่ยไม่เกินชั่วโมง นายกฯได้ชื่นชมทุกคนที่ทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ ในนามโฆษก ศบค.ต้องขออภัยคนไทยที่ต้องติดค้างในต่างประเทศ เช่น การต่อเครื่องมาประเทศไทยที่ต้องรอ โดยเรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานว่ามีคนไทยอยู่ในสนามบินต่างๆ ซึ่งสถานทูตทุกแห่งจะเข้าไปดูแลประชาชนของเรา ทั้งนี้ ที่ต้องรอก็เพื่อให้การเตรียมการต่างๆ เพื่อบูรณาการต้อนรับท่านอย่างดีที่สุด ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานหนักมากในการดูแลคนไทยที่ จะกลับมา
          "สำหรับ 158 ราย เราไม่ให้เจอครอบครัวอีกแล้ว แยกกันอยู่ หน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข โดยทางปลัดกระทรวง ท่านได้สั่งการคัดกรองบุคคลตอนที่อยู่ที่สนามบิน ทั้งนี้ เมื่อเข้าระบบของเราแล้ว ทั้ง 158 ราย เราจะติดตามทุกคน ไม่ได้จับผิดแต่เป็นการจับหาโรคเพื่อจะได้ช่วยอย่างรวดเร็ว ทันการณ์ และครอบครัว สังคม และประชาชนจะได้ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ยังมีสายการบินที่มีการลงทะเบียนและตกลงกันไว้แล้วสามารถเข้ามาได้ และยังมีอีกสายการบินและกลุ่มคนที่ได้ขอตกลงไว้ก่อนแล้ว สามารถเข้ามาได้แต่เมื่อเข้าประเทศมาแล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวทุกคน ต้องยอมรับกติกา" โฆษก ศบค.กล่าว
          ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวฟัน 325 ราย
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า สถานการณ์ขณะนี้ประกาศเป็นช่วงเคอร์ฟิว มีการตั้งจุดตรวจทั้งหมด 634 จุด ในพื้นที่ 77 จังหวัด เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการตามมาตรการ โดยในคืนวันที่ 3-4 เมษายนที่ผ่านมา มีรถผ่านจุดตรวจทั้งหมด 7,997 คัน มีบุคคลผ่านจุดตรวจ 11,610 คน พบกระทำผิดโดยฝ่าฝืนเดินทางโดยไม่มีเหตุผล 522 คัน ผู้กระทำความผิด 677 คน และการรวมกลุ่มมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ 24 คัน ผู้กระทำความผิด 41 คน ซึ่งได้ตักเตือนไป 375 คน และดำเนินคดี 325 คน ทั้งนี้ ผู้ที่ขับขี่ในเวลากลางคืนส่วนใหญ่เป็นผู้ขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภค ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าเพื่อการนำเข้า-ส่งออก ผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ และผู้ที่ผลัดเวรกลางคืน
          ติดเชื้อเพิ่ม102ตาย3ราย
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับรายงานสถานการณ์ประเทศไทยวันนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 102 รายใน 66 จังหวัด ผู้ป่วยสะสม 2,169 ราย รักษาหายแล้ว 674 ราย เสียชีวิตรวม 23 ราย โดย 3 ราย คือรายที่ 21 เป็นชายอายุ 46 ปี อาชีพรับจ้าง ประวัติเดินทางมาจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถึงไทยวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา เข้ารับการรักษาครั้งแรกด้วยอาการไข้ 38.9 องศา มีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ และหายใจลำบาก มาเสียชีวิตในวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา รายที่ 22 เป็นชายสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ อายุ 82 ปี มีประวัติเป็นโรคประจำตัวคือ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ประวัติความเสี่ยงคือเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนได้ไปร่วมงานเลี้ยงในหมู่บ้านที่อำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และได้ไปบาร์ แถวสุขุมวิทที่ กทม. จากนั้นวันที่ 29 มีนาคม มีไข้ และวันที่ 31 มีนาคม ได้รักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แรกรับมีไข้ 39.2 มีความดันโลหิตสูง หายใจเหนื่อยหอบ แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นโรคปอดบวม และภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน โดยส่งให้โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่จังหวัดเพชรบุรี 1 เมษายน แพทย์ใส่เครื่องช่วยหายใจ และ 2 เมษายน เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลว และรายที่ 23 เป็นชายอาชีพทำงานก่อสร้าง มีประวัติว่าดื่มสุราเป็นประจำ วันที่ 19 มีนาคม เดินทางมาจากจังหวัดพัทลุง ถึงจังหวัดสุรินทร์วันที่ 20 มีนาคม ก่อสร้างที่อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เริ่มป่วยวันที่ 29 มีนาคม โดยมีอาการไอ ไม่มีไข้ เสมหะเขียว อาเจียนเป็นเลือด น้ำหนักลด เหนื่อยหอบ วันที่ 2 เมษายน มีไข้ และไอมากขึ้น กู้ชีพจึงได้รับเข้ารักษาที่โรงพยาบาลปราสาท แรกรับพบออกซิเจนในเลือดต่ำ เอกซเรย์ปอดพบว่าเข้าลักษณะของโรคปอดอักเสบรุนแรง ก่อนเสียชีวิตในวันที่ 4 เมษายน ขอแสดงความเสียใจกับทั้ง 3 ครอบครัวด้วย
          ชี้คนไทยติดโควิดพุ่งพันราย
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับรายใหม่ 102 ราย ติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยืนยันมาก่อนหน้านี้ กทม. ภูเก็ต และสมุทรปราการ รวม 44 ราย โดยกลุ่มสถานบันเทิง กับพิธีกรรมทางศาสนาลดลง ส่วนอีกกลุ่ม เป็นกลุ่มใหญ่ 42 ราย เป็นผู้ป่วยใหม่ คือ เดินทางกลับจากต่างประเทศ 13 ราย และทำงานใกล้ชิดกับคนต่างชาติ 19 ราย กลุ่มก้อนนี้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ตัวเลขในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น จึงไม่ควรที่จะให้เพิ่มไปกว่านี้แล้ว ทั้ง กทม. และต่างจังหวัดต้องมาช่วยกัน เพราะวันนี้ตัวเลข กทม.พุ่งเกินพันคนไปแล้ว คือที่ 1,011 ราย ขณะที่ นนทบุรี อยู่ที่ 137 ราย ภูเก็ต 131 ราย ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชม 11 จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พังงา พิจิตร ระนอง สตูล สิงห์บุรี และอ่างทอง อย่างไรก็ตาม  สำหรับสถานการณ์โลกนั้นมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมกว่า 1.2 ล้านคน เสียชีวิต 64,667 คน สิ่งที่ต้องสื่อสารคือ สหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 310,233 ราย สเปน 126,168 ราย ฯลฯ โดยที่ต้องรายงานตัวเลขของต่างประเทศก็เพื่อเชื่อมโยงได้ว่าไทยดูแลพี่น้องทุกคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ โดยต้องมีกระบวนการดูแล ขั้นตอนต่างๆ ละเอียดทั้งสิ้น
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งรายงาน 20 รายที่เสียชีวิตมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน ก็จะได้นำมาเรียนรู้กันพบว่า 4 มกราคม-4 เมษายน มีผู้เสียชีวิตในอัตราการป่วยตายที่ 9.7% อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 58.5 ปี เป็นชายมากกว่าหญิง สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ โรคประจำตัว เบาหวานพบ 50% ความดันโลหิตสูง 35% ไต 15% และไขมันในเลือดผิดปกติ 15% ถึงได้เน้นย้ำว่า อย่าไปใกล้ผู้สูงอายุ และเน้นโซเชียลดิสแทนซิ่ง ทั้งนี้ ที่ต้องเข้ม เพราะคนไทยติดเชื้อจากต่างประเทศ ถ้าคุมได้ไม่ดีเพียง 1-2 คน จะเกิดการแพร่เชื้อ โดยมีบทเรียนกันมาแล้วจากตัวเลขคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 249 คน ซึ่งเดินทางมาจากยุโรป 85 ราย มาเลเซีย 49 ราย อินโดนีเซีย 44 ราย กัมพูชา 26 ราย ปากีสถาน 14 ราย ญุ่ปุ่น 10 ราย สหรัฐอเมริกา 9 ราย และอื่นๆ 12 ราย มติจากทางการแพทย์ยืนยันมาว่า แม้จะกักตัวก่อนมา 14 วัน แต่เมื่อมาถึงประเทศแล้วต้องขอกักตัวอีก 14 วัน
          สธ.แจงซื้อยาฟาวิพิราเวียร์
          ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ สธ. กล่าวถึงกรณีการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อมารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า มีข้อครหาในโซเชียลมีเดียบอกว่าญี่ปุ่นจะบริจาคยาฟาวิพิราเวียร์ แล้วกระทรวงสาธารณะสุขจะจัดซื้ออีกทำไม เรื่องนี้ได้อีเมล์สอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องในญี่ปุ่นอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าญี่ปุ่นยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย สอบถามไปยังบริษัทฟูจิฟิล์มที่ทำวิจัยและถือใบอนุญาตผลิตยาตัวนี้ ก็บอกกลับมาว่าจะให้ฟรีเฉพาะประเทศที่ร่วมศึกษาวิจัยเท่านั้น ไม่ได้จะให้ฟรีเพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยทั่วไป
          นพ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า ในส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ที่นำมารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ต้องบอกว่ายังไม่นิ่ง ปัจจุบันมีเพียงรายงานผลการรักษาจากประเทศจีนที่ระบุว่าได้ผลจริง ยังไม่มีผลศึกษาวิจัยออกมา ญี่ปุ่นที่เป็นประเทศแรกผลิต จึงอยากศึกษาวิจัยให้ชัดเจนไปเลย เบื้องต้นเท่าที่ทราบญี่ปุ่นติดต่อโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีคนไข้โควิด-19 หลักร้อยคน ไม่ใช่ให้มารักษาคนไข้ทั่วไป ฉะนั้นชีวิตคนไข้รอไม่ได้ จึงต้องจัดหาเข้ามา โดยในวันที่ 6 เมษายน ยาฟาวิพิราเวียร์จะนำเข้ามาจากจีนอีก 100,000 เม็ด
          เผยอนุทินประสานทางรบ.จีน
          ขณะที่ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้จัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์จากญี่ปุ่นและจีนเข้ามารวม 87,000 เม็ด ได้กระจายยาอย่างรวดเร็วไปยังโรงพยาบาลในเขตสาธารณสุข 12 เขตทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยทั้งหลาย โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ตลอดจนโรงพยาบาลเอกชน เพื่อรักษาผู้ป่วย ซึ่งมีการใช้รักษาไปแล้ว 48,000 เม็ด คงเหลือ 38,000 เม็ด
          นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ในยา 7 รายการสู้ศึกโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นยาที่ผลิตได้เองในประเทศไทยโดยองค์การเภสัช จึงไม่มีปัญหา ยกเว้นยาฟาวิพิราเวียร์ที่ผลิตเองไม่ได้ เพราะมีแค่ญี่ปุ่นแหล่งกำเนิดยาตัวนี้ และจีนที่รับสิทธิบัตรให้ผลิตเพิ่มในสถานการณ์ระบาดนี้ จึงจำเป็นต้องนำเข้ามา ทั้งนี้ หลังจากทดลองและใช้ได้ผลดีในประเทศจีน ประเทศไทยและทั่วโลกจึงต่างต้องการยาตัวนี้เช่นกัน การแสวงหาที่ผ่านมาจึงได้จำนวนจำกัด ซึ่งได้รับความร่วมมือระดับรัฐบาล โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ประสานผ่านสถานทูตจีน ทำให้ได้ยาตัวนี้มา
          ปัดแพทย์ติดเชื้อถูกระงับให้ยา
          นพ.สมศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีของแพทย์ที่ติดเชื้อ โควิด-19 รายหนึ่งเปิดข้อมูลในโลกออนไลน์ว่าจะถูกระงับการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) จากโรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี ในขณะที่ตนเองอาการยังไม่ดีขึ้น และระบุข้อความว่า "ขอความกรุณาว่านี่เป็นกรณีแพทย์ติดจากการทำงาน อย่าหยุดยากันเลยครับ จะให้ออกเงินซื้อก็ได้ เพราะถ้ามันกระจายไปมากกว่านี้อาการจะทรุดหนัก เรียกกลับมาไม่ได้ ตามที่กระทรวงเคยพูดว่ามีนโยบายดูแลแพทย์เป็นพิเศษ อย่าให้ราคายาสำคัญกว่าชีวิตแพทย์คนหนึ่งที่ติดเชื้อจากการทำงานครับ" ว่า กรณีนี้เป็นแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 และได้รักษาตัวอยู่ที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง โดย รพ.แห่งนี้ขึ้นตรงกับ รพ.ราชวิถี ในการรับยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อพิจารณาให้กับผู้ป่วยแต่ละราย
          "หากถามว่ายาแพงหรือไม่ เท่าที่ทราบคือ ยาราคาเม็ดละ 3-5 เหรียญสหรัฐ และจำนวนยาที่สำรองไว้ในประเทศก็ไม่ได้มีมาก แต่เพียงพอต่อการใช้งานในระยะนี้ และส่วนของแพทย์รายนี้ผลการจรวจหา RT-pcr ผลออกมาเป็นลบ และได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ไปแล้ว ซึ่งมาตรฐานการรักษาด้วยยาต้านไวรัสคือ จ่ายยา 5-10 วัน และเมื่อครบ 5 วัน จะมีการประเมินว่าอาการของผู้ป่วยดีขึ้นหรือไม่ หากดีขึ้นก็จะต้องระงับยา แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็จะต้องจ่ายยาต่อไป" นพ.สมศักดิ์กล่าว
          ยันจ่าย'ฟาวิพิราเวียร์'ต่อไป
          นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยรายนี้เมื่อครบ 5 วันแล้ว อาการป่วยยังไม่ดีขึ้น การเอกซเรย์ปอดยังพบความผิดปกติ แพทย์ ผู้รักษาพิจารณาให้จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ต่อไป
          "เข้าใจว่า วันที่เขาเขียนข้อความเป็นวันก่อนที่จะถึงวันที่ 5 ตัวเขาเองคงกังวล และได้ทำความเข้าใจกับผู้บริหาร รพ.แห่งนั้น และแพทย์รายนี้แล้ว เบื้องต้นยืนยันว่าแพทย์รายนี้ได้ยาจนครบแล้ว" นพ.สมศักดิ์กล่าว และว่า จะมีการสำรองยาที่ต่างจังหวัดใน รพ.ศูนย์ของแต่ละเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต ดังนั้นขอให้มั่นใจว่ายาไม่มีภาวะขาดแคลนแน่นอน รวมถึงมีศูนย์รวมของการกระจายยาในกรุงเทพมหานคร ที่สำรองไว้ที่สำนักการแพทย์ รพ.มหาวิทยาลัยทุกแห่ง มีศูนย์การกระจายยา รพ.เอกชนในกรุงเทพฯ เป็น รพ.เครือข่าย และจะมีกาสำรองในบางแห่ง
          แจงแนวรักษาผู้ป่วย4กลุ่ม
          นพ.สมศักดิ์กล่าวชี้แจงแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ว่า ประเทศไทยมีการปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยไปตามผลการศึกษาวิจัยจากทั่วโลก แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ เพื่อรักษาตามอาการ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ ผู้ป่วยไม่มีอาการ คิดเป็นร้อยละ 20 จะให้สังเกตอาการให้โรงพยาบาล (รพ.) 7 วัน หากดีขึ้นจะส่งไปเฝ้าสังเกตอาการต่ออีก 7 วัน ที่หอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 หรือฮอสปิเทล (Hospitel) ขณะนี้มีในกรุงเทพฯ 3 แห่ง รวมมีฮอสปิเทล 600 ห้อง
          กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ทั้งที่มีและไม่มีปัจจัยเสี่ยง จะให้ยาต้านไวรัสบางตัวที่ไม่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากอาการไม่รุนแรง และรักษาใน รพ.จนกว่าอาการจะดีขึ้น จึงจะส่งไปเฝ้าสังเกตอาการต่อที่ฮอสปิเทล กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยปอดอักเสบไม่รุนแรงจะให้ยาต้านไวรัส และยาต้านโรคมาลาเรีย แต่ยังไม่จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการแย่ลง จึงจะเริ่มให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพิ่มขึ้น และกลุ่มที่ 4 ผู้ป่วยอาการรุนแรง ได้รับยาต้านไวรัสครบทุกชนิดรวมถึงยาฟาวิพิราเวียร์
          35สถาบันเร่งพัฒนา'วัคซีน'
          วันเดียวกัน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวทบทวนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ร้อยละ 80 ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายเองได้ และว่า ส่วนเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ในขณะนี้มีหลายหน่วยงาน สถาบันวิจัยไม่น้อยกว่า 35 แห่ง ที่กำลังพัฒนาขึ้นคาดว่าอย่างเร็วที่สุดคือ 6 เดือน แต่ผู้เชี่ยวชาญจะให้เวลาประมาณ 1 ปี
          จับฝ่าฝืนเคอร์ฟิว308ราย
          พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร.และโฆษก ตร. เปิดเผยว่า ภาพรวมสถานการณ์หลังจากมีการประกาศข้อกำหนดเพิ่มเติม ห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้นหรือเคอร์ฟิว ในคืนวันที่ 4 ต่อเนื่องเช้าวันที่ 5 เมษายน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตำรวจร่วมกับฝ่ายปกครอง ทหาร สาธารณสุข และอาสาสมัครต่างๆ ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และชุดสายตรวจร่วมทั่วประเทศ 836 จุด ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 18,893 คน ตรวจค้นบุคคล 19,312 คน ตรวจค้นยานพาหนะ 14,344 คัน ส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้ที่มีเหตุผลและความจำเป็น คือ เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการขนส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค ขนส่งสินค้าทางการเกษตร การเข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืน และผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการแพทย์ ตามลำดับ
          พล.ต.ท.ปิยะกล่าวว่า ตามปกติตำรวจจะอะลุ่มอล่วยเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว แต่ยังคงมีประชาชนบางส่วนที่จงใจฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด เช่น ดื่มสุราและขับขี่ยานพาหนะทั้งรถยนต์รถจักรยานยนต์ออกมาตามท้องถนนโดยไม่มีจุดหมาย รวมตัวจับกลุ่มตั้งวงสุราหรือสรวลเสเฮฮาในที่สาธารณะ ลักลอบเล่นการพนัน หรือออกจากบ้านโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ เช่น อ้างว่าไปเยี่ยมเพื่อน หรืออ้างว่าไม่รู้ว่ามีเคอร์ฟิว โดยกลุ่มนี้ตำรวจได้จับกุมดำเนินคดี 308 ราย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
          'อนุทิน'เยี่ยมศูนย์กักนครปฐม
          วันเดียวกัน ที่ จ.นครปฐม นายอุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมคณะ เยี่ยมศูนย์เฝ้าระวังกักกันรัฐบาล (State Quarantine) โรงเรียนการบินกำแพงแสน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครปฐม ร่วมกับกองทัพอากาศจัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับคนไทยกลับจากประเทศเสี่ยงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมมอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 6,000 ชิ้น ไว้ใช้ในการดูแลผู้เข้ารับการกักกันโรค
          นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลได้จัดเตรียมศูนย์เฝ้าระวังกักกันรองรับคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเป็นเวลา 14 วัน โดยในระหว่างวันที่ 2-3 เมษายน 2563 ได้ส่งคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซีย ไปยังศูนย์เฝ้าระวังกักกัน โรงเรียนการบินกำแพงแสน 75 คน เป็นชาย 33 คน หญิง 42 คน ทุกคนได้รับการตรวจสุขภาพ ในเช้าวันนี้ (5 เมษายน 2563) เวลา 09.00 น. ตรวจพบผู้มีไข้ 4 คน และมีผู้สัมผัสใกล้ชิด 4 คน ได้ส่งทั้ง 8 คนไปดูแลรักษาตรวจเพิ่มเติมและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่โรงพยาบาลจันทรุเบกษา 6 คน และโรงพยาบาลกำแพงแสน 2 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล ทั้งนี้ ในการดูแลจะมีบุคลากรด้านสาธารณสุขรวมทั้งทหาร หมุนเวียนปฏิบัติการดูแลตลอด 24 ชั่วโมงวันละ 14 คน
          "ต้องขอบคุณและชื่นชมในศักยภาพของกองทัพที่ทุ่มเท จัดเตรียมห้องพัก สิ่งอำนวยความสะดวก ที่สะอาด ปลอดภัย ช่วยให้ผู้เข้าพักไม่เครียด ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้สูญเสียอิสรภาพ ขอให้ผู้เดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคทุกคนเข้ารับการกักกันโรค อย่าหลีกเลี่ยงเพราะอาจจะเป็นคนที่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และยังผิด พ.ร.บ.โรคติดต่อ และผิดกฎหมาย ที่สำคัญเป็นการช่วยเหลือคนไทยไม่เสี่ยงติดโรคด้วย หากอยู่ครบ 14 วัน ไม่มีไข้ ไม่มีอาการ ตรวจไม่พบการติดเชื้อ สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างปลอดภัยทั้งตัว ผู้กักกันโรคและญาติพี่น้อง" นายอนุทินกล่าว
          ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มาจากต่างประเทศ หากเรากักกันไว้ได้ โอกาสแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ ก็จะเป็นศูนย์ ซึ่งภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สามารถลดจำนวนคนที่กลับมาจากประเทศเสี่ยงได้มาก และลดจำนวนชาวต่างชาติถึงร้อยละ 90 อย่างไรก็ตาม ขอย้ำในเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เป็นวัคซีนที่ดีมากทำให้ลดการแพร่เชื้อ เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสู่สภาวะที่เป็นปกติสุขโดยเร็ว
          ศปม.ระบุควบคุม2เที่ยวบิน
          พ.อ.ฉัตรรพี พูนศรี โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.)ได้มอบหมายให้ พล.อ.ปริพัฒน์ ผลาสินธุ์ รองเสนาธิการทหาร เป็นผู้รับผิดชอบในการชี้แจงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ผ่านการคัดกรองและจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคตามมาตรการของรัฐที่กำหนด (State Quarantine) เพื่อนำเข้าพื้นที่ควบคุมโรคต่อไป ณ ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Emergency Operation Center หรือ EOC) ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมินั้น โดยเมื่อคืนวันที่ 4 เมษายน เวลา 21.30 น. เที่ยวบินจากประเทศมาเลเซีย Flight MH782 มีคนไทย 51 คน เดินทางมาถึงยังท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำเข้าสู่ขั้นตอนต่างๆ เข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน กรุงเทพฯ จากนั้นเวลา 22.00 น. เที่ยวบินขาเข้า Flight QR7511 ออกจากเมือง โดฮา ประเทศกาตาร์ กลับถึงประเทศไทย มีผู้โดยสารคนไทย 47 คน ได้นำเข้าสู่กระบวน โดยผลการตรวจพบผู้ป่วยมีอาการไข้ 1 ราย เป็นหญิงอายุ 36 ปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับตัวไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป สำหรับผู้โดยสารที่เหลือได้นำขึ้นรถบัสเพื่อเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
          "การจัดระบบเพื่อชี้แจงขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ ที่มีความชัดเจนและเป็นไปด้วยความรวดเร็ว บริหารจัดการเวลาให้มีความกระชับ ทั้งยังลดขั้นตอนความยุ่งยากที่เกิดขึ้น ทำให้การปฏิบัติทั้งหมดใช้เวลาในการดำเนินการทั้งสิ้นประมาณเที่ยวบินละ 1 ชั่วโมง 30 นาทีเท่านั้น" โฆษก บก.ทท.กล่าว
          กห.เร่งเตรียมรพ.สนาม-พื้นที่
          ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อม พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมร่วมกับเหล่าทัพ เพื่อติดตามสถานการณ์และการสนับสนุนของ กระทรวงกลาโหมให้กับกระทรวงสาธารณสุขในการรับมือกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการประเมินสถานการณ์ในภาพรวม หากอัตราการแพร่ระบาดของโรคยังไม่ลดลงจากปัจจุบัน โดยเตรียมความพร้อมของ รพ.สนาม และ รพ.ค่ายทหาร ทั้งหมดทั่วประเทศที่มีอยู่ เป็น รพ.เฉพาะโรค เพื่อรองรับผู้ป่วยอาการไม่หนัก 2,662 เตียง การจัดกำลังพลร่วมกันทำสะอาดและฉีดยาฆ่าเชื้อในพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดต่อเนื่องกันไป การสนับสนุนกำลังพลทยอยร่วมเข้าไปบริจาคโลหิตเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนโลหิตของสภากาชาดไทย การร่วมกันเร่งผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าซึ่งผลิตได้แล้วกว่า 800,000 ชิ้นใช้ในกองทัพและแจกจ่ายประชาชน รวมทั้งการรณรงค์สร้างความร่วมมือจากประชาชนในมาตรการต่างๆ ของรัฐ ที่กำหนด
          สปส.ออกเกณฑ์ผู้ประกันตนป่วย
          นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คณะกรรมการประกันสังคมจึงมีมติเห็นชอบประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 โดย นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานคณะกรรมการการแพทย์ สปส. ซึ่งประกาศ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 ในการนี้ร่างประกาศดังกล่าวได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 โดยสำนักงานจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาลในหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
         

 pageview  1210934    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved