Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 17/04/2563 ]
ไทยผลิตชุดตรวจโควิด-19 ได้แล้ว

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ วันที่ 14 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นอกจากเสนอให้จัดตั้ง "กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19" และใช้ "หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการฟื้นฟู ประเทศแล้ว ยังทำเซอร์ไพรซ์ มอบชุดตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ที่ประเทศไทยผลิตได้เอง ให้กับ ผู้นำอาเซียนประเทศละ 10,000 ชุด เพราะติดเชื้อโควิดฯกันทุกประเทศ
          เป็นการโชว์ นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ของไทยได้เป็นอย่างดี
          ต้นเดือนเมษายน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้แทนบริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ ไปมอบ ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ให้ นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ 20,000 ชุด เพื่อนำไปมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศฟรี ผมอ่านข่าวตอนแรกก็เฉยๆ จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ มอบให้ผู้นำอาเซียน นี่แหละ ทำให้สนใจขึ้นมา
          ดร.สุวิทย์ เปิดเผยว่า ชุดตรวจหาสารพันธุกรรมโควิด-19 RT-PCR  ของไทย เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาของ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ บริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ ซึ่งใช้ มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการ ยืนยันผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ชุดตรวจ 20,000 ชุดแรก มอบให้นายกฯนำไปแจกให้โรงพยาบาลและห้องแล็บตรวจเชื้อทั่วประเทศ ไม่ต้องส่งเครื่องบินมาตรวจที่กรุงเทพฯอีก และจะทยอยส่งมอบชุดตรวจทุกสัปดาห์จนครบ 100,000 ชุด ในเดือนเมษายน และ 1 ล้านชุดภายใน 6 เดือน
          หลายคนอาจไม่รู้จัก บริษัท สยาม ไบโอไซเอนส์ ผมอยากจะบอกว่านี่คือ ของขวัญจากพ่อ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นด้วยเงินทุน 5,000 ล้านบาท เพื่อวิจัยพัฒนาผลิตยาในประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ประชาชนมียาดีราคาถูกใช้ดูแลสุขภาพไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาแพง บริษัท สยาม ไบโอไซเอนส์ มี บริษัททุนลดาวัลย์ ของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 100% ทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล และยังร่วมกับ รัฐวิสาหกิจยาของคิวบา วิจัยและพัฒนา ยารักษามะเร็ง ซึ่งจะผลิตออกจำหน่ายทั่วโลกในปี 2564 โดยมีฐานผลิตที่ประเทศไทย
          ทุกวันนี้ไทยยังตรวจ เชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วยได้น้อย เนื่องจากชุดตรวจและน้ำยาจากต่างประเทศมีภาวะขาดแคลน ตัวเลขถึงวันที่ 10 เมษายนไทยมีการตรวจผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 1,509 ตัวอย่างต่อหนึ่งล้านคน ขณะที่อิตาลี เฉลี่ย 15,925 ตัวอย่างต่อล้านคน เกาหลีใต้ 10,032 ตัวอย่างต่อล้านคน สหรัฐฯ 8,163 ตัวอย่างต่อล้านคน
          ดร.สุวิทย์ เปิดเผยด้วยว่าการพัฒนาชุดตรวจนี้ จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนและถูกกว่าชุดตรวจที่นำเข้าจากต่างประเทศ โครงการนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายใต้ โครงการ BCG-Health ของ อว. ร่วมลงทุนกับ สยาม ไบโอไซเอนซ์ ฝ่ายละ 65 ล้านบาท เป็นเงิน 130 ล้านบาท แจกฟรีให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศและห้องแล็บตรวจเชื้อที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรองอีก 100 แล็บทั่วประเทศ
          และ อว. ยังได้สนับสนุนการพัฒนา ชุดตรวจแบบ LAMP  ที่ให้ผลตรวจรวดเร็วขึ้น จะเริ่มผลิตออกมาใช้จริงได้ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อสนับสนุนและทดแทนชุดตรวจแบบ RT-PCR และยังพัฒนา ชุดตรวจแบบ CRISPR-cas  ที่ใช้เวลาสั้นลงไปอีก
          จากนี้ไป การตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยงจะตรวจได้รวดเร็วขึ้น ตรวจได้มากขึ้น ไม่ต้องรอผล 24 ชั่วโมง 48 ชั่วโมง อีกต่อไป การป้องกันจะได้ดีขึ้น ถ้า นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ มีวิสัยทัศน์ยาวไกล ทุ่มเงินสนับสนุนให้ผลิตส่งออกไปขายทั่วโลกเลยเพื่อหารายได้เข้าประเทศและทำให้ประเทศและทำให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกเวชภัณฑ์ทางการแพทย์อีกด้วยฝันที่จะทำให้ไทยเป็น "ไบโอฮับ"จะได้กลายเป็นความจริง.

 pageview  1210934    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved