Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 29/04/2563 ]
หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง อย่าทิ้งปะปน อาจเป็นขยะติดเชื้อ

 ขยะหน้ากากอนามัย แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง(Single use mask) ในแต่ละวันทั่วโลก มีปริมาณการใช้จำนวนหลายล้านชิ้นต่อวัน จนถึงตอนนี้ยังมีอัตราการใช้ที่มากขึ้นตามการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้หลายหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมหวั่นก่อผลกระทบซ้ำเติม ถ้าผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป ซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากอาจจะเป็นขยะติดเชื้อ
          ขยะติดเชื้อ(Infectious waste) หมายถึง ขยะที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ด้วย เช่นเดียวกับขยะจากโรงพยาบาล คลินิก สถานอนามัย เช่น เข็มฉีดยา สำลี ผ้าก๊อซ หน้ากากอนามัยที่บุคลากรทางการแพทย์และคนไข้สวม
          ช่วงที่ผ่านมา หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ รณรงค์ให้ทุกคนตระหนักในการทิ้งอย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของทั้งคนและสิ่งแวดล้อม
          กรณีที่เราไม่ป่วย แต่ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละออง และไม่ได้ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล คลินิก สถานพยาบาลต่างๆ หน้ากากที่เราสวมใส่คงไม่นับเป็นขยะติดเชื้อเป็นแค่ขยะทั่วไป แต่ในสถานการณ์โควิด-19 เราแยกแยะกันไม่ได้ จึงนับเป็นขยะติดเชื้อไว้ก่อน
          สำหรับการกำจัดขยะติดเชื้อในกรุงเทพฯ ทางกทม.มีรถสำหรับเก็บขยะติดเชื้อโดยเฉพาะมารับขยะตามสถานพยาบาลเป็นรถที่มีการควบคุมอุณหภูมิและปิดอย่างมิดชิดเพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อโรคไม่แพร่กระจายแน่นอน ส่วนเจ้าหน้าที่ก็จะใส่ชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคล(PPE) อย่างดี เพื่อป้องกันเชื้อโรค มีทั้ง แว่นตา มาสก์ ถุงมือยาง รองเท้าบูทครบ และจะเก็บขยะไปเข้าเตาเผาขยะติดเชื้อ
          การกำจัดขยะติดเชื้อ ทั้งหน้ากากอนามัย เข็มฉีดยาและอุปกรณ์การแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 โรงงานกำจัดมูลฝอย อ่อนนุช เป็นที่รับขยะติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีมาตรการเข้มงวดมากขึ้น โดยให้เจ้าหน้าที่สวมชุดป้องกันทุกส่วน ฉีดยาฆ่าเชื้อทุกขั้นตอน แล้วนำไปเผาด้วยความร้อน 760-900 องศา จากนั้นเข้าห้องเผาที่ 2 กำจัดควันและสารเคมีใช้ความร้อน 1,000 องศา เพื่อยืนยันว่าไม่มีหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม
          ทุกคนจึงมีความจำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการทิ้งขยะหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง โดยการใส่ถุงแยกจากขยะอื่นๆ ถ้าเป็นถุงใสยิ่งดีเพราะจะมองเห็นว่ามีอะไรอยู่ข้างใน หรือเขียนไว้บนถุงว่าเป็นหน้ากากอนามัยก็ยิ่งดี แล้วมัดถุงให้แน่นก่อนทิ้งลงถังขยะทั่วไป หรือถังขยะที่มีฝาปิด เพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะสามารถแยกขยะติดเชื้อที่ท้ายรถได้สะดวกและปลอดภัย ก่อนนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป
          "ถ้าทุกคนทิ้งหน้ากากอนามัยถูกวิธี ก็เหมือนช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น และยังเป็นวิธีง่ายๆ ที่ทุกคนช่วยกันลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่เกิดการสะสมเชื้อโรค เพราะขยะไม่หลุดรอดออกไปปะปนรวมถึงยังไม่หลุดกลายเป็นขยะในทะเลอีกด้วย"
          ในช่วงวิกฤติไวรัส COVID-19 มากขึ้น วิธีการป้องกันตัวเองในเบื้องต้นที่หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ คือ การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกจากบ้าน เมื่อไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน และไม่ควรใช้หน้ากากอนามัยซ้ำ หรือควรใช้เพียงวันต่อวันเท่านั้น ทำให้แต่ละวัน ผลิตขยะที่สงสัยจะติดเชื้อกันอย่างต่ำคนละ 1 ชิ้นต่อวัน
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ย้ำให้ประชาชนทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ในที่ที่จัดเตรียมไว้ให้ เพื่อป้องกันปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหน้ากากอนามัยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งรูปแบบทั่วไป และแบบ N95 มีองค์ประกอบที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายยาก เช่น ผ้า คาร์บอน รวมถึง พอลิโพรไพลีน โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
          ทั้งนี้ ในไทยเอง ก็มีกฎหมายในการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อที่ประกาศใช้อยู่แล้ว คือ กฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545 มีการนิยามความหมาย การอธิบายวิธีการเก็บมูลฝอยติดเชื้อ มีข้อกำหนดการขนมูลฝอยติดเชื้อ รวมถึงมีการระบุถึงการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อว่ามีอยู่ 4 วิธี คือ เผาในเตาเผาทำลายเชื้อด้วยไอน้ำ ทำลายเชื้อด้วยความร้อนและวิธีอื่นตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
          แน่นอนว่าไทยเรามีตัวบทกฎหมายที่ครอบคลุมตั้งแต่นิยามไปจนถึงการกำจัดอย่างถูกต้อง แต่สิ่งสำคัญคือ ประชาชนทั่วไปจะต้องเรียนรู้วิธีการทิ้งขยะติดเชื้อเหล่านี้ด้วย เพราะถือว่าเป็นต้นทางของการก่อเกิดขยะ และเป็นส่วนหนึ่งในการหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโรค
          ด้าน ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กล่าวว่า ได้ทำข้อเสนอแนะไปยังกรุงเทพมหานครและกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการควบคุมการทิ้งและกำจัดขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อป้องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เนื่องจากเทียบจากอัตรากำลังการผลิตหน้ากากอนามัยของประเทศต่อวันอยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านชิ้น และการนำเข้าจากต่างประเทศ จะทำให้เกิดขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วประมาณ 1-2 ล้านชิ้นต่อวัน
          ช่วงต่อมาไม่นาน กทม.ส่งถังขยะสีส้มเพื่อรองรับขยะติดเชื้อ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยที่มีเพิ่มขึ้นถึงวันละ 1-2 ล้านชิ้น โดยกระจายใน รพ.สังกัดกทม.สำนักงานเขต ศาลาว่ากทม.และสวนสาธารณะเพื่อรวมไปกำจัดถูกวิธี
          พลตำรวจเอก.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้งแยกใส่ถุงพลาสติก มัดปากถุงให้มิดชิดก่อนนำทิ้งลงถัง "หน้ากากอนามัย รวมถึงกระดาษทิชชูที่ใช้แล้ว อย่านำไปทิ้งรวมกับขยะประเภทอื่น โปรดแยกใส่ถุงต่างหาก มัดปากถุงให้แน่น และทำสัญลักษณ์หรือเขียนบอกสักนิดก็ดี เพื่อที่เจ้าหน้าที่เก็บขยะจะได้คัดแยกเป็นขยะติดเชื้อ และแยกไปเผาทำลายที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยติดเชื้อหนองแขม และที่อ่อนนุช ซึ่งจะถือว่าทุกคนสามารถร่วมกันช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19"
          ขอย้ำว่า หน้ากากอนามัยไม่ใช่ขยะอันตราย! อย่านำไปทิ้งลงถังแดงที่ระบุว่าถังขยะอันตราย เพราะขยะอันตราย(Solid hazardous waste) คือขยะที่มีสารเคมี สารไวไฟ สารพิษอยู่เช่น ถ่านไฟฉาย กระป๋องสเปรย์ หลอดฟลูออเรสเซนต์ ขวดน้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น ซึ่งมีวิธีกำจัดที่แตกต่างกัน

 pageview  1210932    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved