Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 11/08/2563 ]
สธ.เตือนรับมือโควิดระลอก 2 จับตา แรงงาน

  กรุงเทพธุรกิจ  สธ.เตือนไทยมีโอกาสกลับมาพบผู้ป่วยในประเทศ ปัจจัยชี้ขาดเจอผู้ป่วยเร็ว สอบสวนโรคเร็วและติดตามคนสัมผัสผู้ติดเชื้อได้เร็วหรือไม่ เผยยังไม่มีผู้ประกอบการยื่นขอตั้ง "สถานที่กักกันแรงงานต่างชาติ" ด้านคนงานไทยใน อุซเบกิสถาน 94 ราย เดินทางกลับถึงไทย 13 ส.ค.นี้
          จากกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) มีการผ่อนปรนระยะ 6 ให้แรงงานต่างด้าวต่างด้าว 3 สัญชาติ เมียนมาลาว และกัมพูชาเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยกระทรวงแรงงานมี ข้อมูลแรงงานที่จะเดินทางเข้าราว 1.1 แสนคน แบ่งเป็น ผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานและ วีซ่าอยู่แล้ว ราว 6.9 หมื่นคน และผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่า ราว 4.2 หมื่นคน ซึ่งทุกคนจะต้องเข้ารับการกักกันเฝ้าระวังโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลา 14 วัน ในสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organizational Quarantine) ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศฉบับวันที่ 30 ก.ค.2563
          ได้แก่ 1. หน่วยงานหรือองค์กรเป็นผู้รับผิดชอบจัดหาสถานที่พักและ โรงพยาบาลผู้ปฏิบัติการทั้งภาครัฐหรือ ภาคเอกชนในการให้การดูแลผู้ถูกกักกัน หรือคุมไว้สังเกต โดยครอบคลุมการดูแลด้านเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางจิต โรคเรื้อรัง และภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน
          2. ดำเนินการในหลักการเดียวกับ Alternative state quarantine 3.ใช้ระบบการเฝ้าระวังอาการและการตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่นเดียวกับ State quarantine
          4.หน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ เป็นผู้รับผิดชอบการเดินทางระหว่างช่องทางเข้าออกทั้งด่านท่าอากาศยาน ด่านพรมแดนและด่านท่าเรือและสถานที่กักกันทั้งขาไปและขากลับให้ตรงตามหลักการในการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ 5.ให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ดำเนินการ Organizational Quarantine นั้นๆ รับผิดชอบส่งรายงาน ข้อมูลประจำวันของผู้ถูกกักกันรายบุคคลมายังกรมควบคุมโรค
          6.Organizational Quarantine ทุกแห่ง ต้องพร้อมรับการตรวจประเมินจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลาการดำเนินการ 7.รายละเอียดการดำเนินการให้อ้างอิงตามแนวทางการบริหารจัดการสถานที่กักกัน ซึ่งทางราชการกำหนดที่ประกาศโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและ 8.กรณีที่มีห้องพักจำนวนจำกัดและไม่สามารถดำเนินการแยกกักกัน ห้องละ 1 คน การกักกันรวมเป็นห้องละ มากกว่า 1 คน อาจเกิดความเสี่ยงของการติดเชื้อระหว่างผู้เข้ากักกันได้
          กรณีไม่สามารถเข้ากักกันห้องละ 1 คน ควรปฏิบัติ ดังนี้ 1.จัดให้ผู้กักกันเข้าพักได้ไม่เกิน 10 คนต่อห้อง โดยคำนวณจากขนาดห้องและต้องจัดเตียงนอนห่างกันไม่น้อยกว่า 1.5 - 2 เมตร 2.เน้นย้ำมาตรการเสริมในการป้องกันส่วนบุคคล สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลายกเว้นเวลานอน เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ล้างมือบ่อยๆ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล และลดการพูดคุยหรือจับกลุ่มกัน
          3.แยกของใช้ส่วนตัวของทุกคนไม่ให้ปะปนกันและไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน 4.การใช้ห้องน้ำควรเว้นระยะห่าง ภายหลังการใช้ห้องน้ำหรืออ่างล้างมือควรทำความสะอาดให้เรียบร้อยและทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์เป็นระยะและ 5.กรณีพบผู้ป่วยยืนยัน 1 รายต้องแยกกักกันผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งหมดเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วันนับจากวันสัมผัสผู้ป่วยวันสุดท้ายหรือวันที่ตรวจพบเชื้อ
          ล่าสุดวานนี้(10 ส.ค. )นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า แม้ประเทศไทยจะไม่เจอผู้ติดเชื้อภายใน ประเทศ แต่ยังถือว่าประเทศไทยมีโอกาสกลับมาพบผู้ป่วยในประเทศได้ เพราะการไม่มีรายงาน ไม่ได้แปลว่าไม่มีผู้ป่วย ประเทศไทยจะเจอผู้ป่วยใหม่อีกครั้งแน่นอน โอกาสค่อนข้างสูง แต่หวังว่าจะไม่เป็นการระบาด ถ้าระบาดก็วงจำกัด ไม่เป็นวงกว้างขวางมากเกินไป จะสามารถคุมโรคได้ในเวลาสั้น
          "ปัจจัยขึ้นอยู่กับการเจอผู้ป่วยเร็ว สอบสวนโรคเร็ว ติดตามคนสัมผัส ผู้ติดเชื้อได้เร็ว ครอบคลุมทุกคนและ นำเข้ามาอยู่ในสถานกักกันทั้งหมด ถ้าทำได้ก็จะคุมโรคได้สูงมาก รวมถึง ประชาชนในพื้นที่ที่เจอผู้ป่วยให้ความร่วมมือแค่ไหน ถ้าร่วมมือดีประเทศไทยก็จะเจอผู้ป่วยแต่ไม่มีการระบาด"นพ.ธนรักษ์กล่าว
          สิ่งที่จำเป็นและทุกฝ่ายควรทำในตอนนี้ คือ ต้องทบทวนบทบาทตัวเองว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการระบาด ในระดับองค์กรสามารถลดความเสี่ยงได้ โดยการให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้านให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ จะเป็นการลดคนออกมาในพื้นที่สาธารณะ ถ้าทุกคนออกมาพร้อมกันหมด สถานที่ต่างๆก็จะแออัด เหลื่อมเวลาการทำงาน มาตรการคัดกรอง ให้ผู้ที่ป่วยทางเดินหายใจหยุดอยู่บ้านป้องกันการป่วยเป็นกลุ่มก้อนที่อาจจะเกิดความวุ่นวายมากขึ้น
          อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือ สถานพยาบาลยังคงเข้มในการตรวจ โรคโควิดต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วย ปอดอักเสบ บุคลากรทางการแพทย์ที่มี อาการ และผู้ป่วยทางเดินหายใจเป็น กลุ่มก้อน ที่สำคัญอยากให้คนไทย เปลี่ยนแนวคิดใหม่ ไม่ใช่ว่าไม่มีโควิดแล้วถึงออกไปเที่ยว แต่อยากให้คิดว่า แม้มี โควิดก็ออกไปเที่ยวได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ทำในสิ่งที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและ แพร่เชื้อ เพราะแม้ว่าจะมีวัคซีนแล้วแต่ก็ยังมีโรคโควิดอยู่ต่อไป วัคซีนแค่ช่วยให้ไม่เกิดการระบาดหนักจนคนไข้ล้น โรงพยาบาลเท่านั้น
          สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับกรณีที่ผ่อนปรนให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ โดยต้องเข้ารับการกักกันตัวในสถานที่กักกันขององค์กร (Organizational Quarantine) ขณะนี้ ยังไม่มีสถานประกอบการใดยื่นเรื่องเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปประเมินก่อนอนุญาตให้จัดตั้งสถานที่กักกัน ซึ่งให้สถานประกอบการ จัดหาสถานที่และบริหารจัดการเองในการกักกันกลุ่มแรงงานต่างชาติที่เข้ามาจนครบ 14 วัน
          นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าแรงงานไทยในอุซเบกิสถาน 94 คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ว่า จะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 13 ส.ค.นี้ ส่วนที่เหลืออีก 7 คน จะทำงานที่อุซเบกิสถาน ต่อ โดยจะออกเดินทาง เวลา 17.00 น. ด้วยสายการบินอุซเบกิสถานแอร์ไลน์  เที่ยวบินที่ HY 3609 และจะมาถึงกรุงเทพมหานคร เวลา 01.15 น. จากนั้นจะมี รถบัสมารับคนงานที่สนามบิน จำนวน 2 คัน ในเวลา 02.00 น. เพื่อพาแรงงานไทย ทั้งหมดไปกักตัว ณ สถานที่เฝ้าระวังที่ รัฐจัดให้ (State Quarantine) ตามขั้นตอน ที่กำหนด

 pageview  1210918    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved