Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 23/09/2563 ]
ฟู้ดช้อยส์ สแกนก่อนกินช่วยผู้บริโภคเข้าใจโภชนาการ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พัฒนาเครื่องมือให้ความรู้ด้านโภชนาการฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจข้อมูลในฉลากผลิตภัณฑ์อย่างง่าย
          ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. พร้อมด้วย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. และ นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค ร่วมแถลงข่าวการพัฒนาแอพพลิเคชั่น "ฟู้ดช้อยส์" พร้อมแนะนำการใช้งาน
          นายสาธิตกล่าวว่า เนคเทคได้พัฒนาแอพพ์ฟู้ดช้อยส์ ให้ประชาชนสามารถสแกนบาร์โค้ด หรือฉลากบนผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ข้อมูลโภชนาการอาหารแสดงขึ้นมา โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการนำเครื่องมือนี้ไปใช้ในกลุ่มนักเรียน เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลว่าอาหารใดที่มีประโยชน์และควรบริโภค ขณะนี้มีผู้ประกอบการราว 5,000 ผลิตภัณฑ์ เข้าร่วมแอพพ์แล้ว คาดว่าในอนาคตแอพพ์ฟู้ดช้อยส์ จะเป็นเครื่องมือช่วยบอกคุณค่าและสารอาหารในผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปใช้กับคนไทยทุกคน และเป็นเทคโนโลยีที่ง่ายที่สุดสำหรับประชาชนในการเข้าถึงฐานข้อมูลสุขภาพ การใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพนี้จะเป็นการขยายต่อเพื่อพัฒนาสุขภาพคนไทยทั่วประเทศ ขณะนี้จะนำร่องในสุขภาพของเด็กนักเรียนในสังกัด สพฐ.
          พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า สถานการณ์สุขภาวะเด็กไทยในปี 2561 พบเด็กอายุ 6-14 ปี เริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 11.1 และเพิ่มเป็นร้อยละ 11.7 ในปี 2562 นอกจากนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียน เด็กส่วนใหญ่รับประทานอาหารกรุบกรอบแทนอาหารมื้อหลัก ปี 2563 สำนักทันตสาธารณสุขพบเด็กอายุ 12 ปี ดื่มน้ำหวานและน้ำอัดลมมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน ร้อยละ 52 และกินขนมมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน ร้อยละ 28.9 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์โภชนาการในเด็กไทยที่เข้าสู่ภาวะอ้วน
          "แอพพ์ฟู้ดช้อยส์ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการให้ความรู้ทางด้านโภชนาการ เมื่อสแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์ ข้อมูลบนฉลากโภชนาการจะถูกแสดงในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน" พญ.พรรณพิมลกล่าว
          อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า สำหรับแอพพ์ดังกล่าว มีการจำแนกสีของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกบริโภค และกำหนดปริมาณการกินให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ดังนี้
          1.สีเขียว หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด แต่หากบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นมากกว่า 1 หน่วยบริโภค แต่ไม่เกิน 2 หน่วยบริโภค ของอาหารระหว่างมื้อ (อาหารว่าง) หรือบริโภคร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่นที่มีสารอาหารชนิดเดียวกันที่ให้สีเขียว จะทำให้ได้รับสารอาหารนั้นในปริมาณสูงปานกลาง
          2.สีเหลือง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหารอยู่ในกณฑ์ปานกลาง แต่หากบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นมากกว่า 1 หน่วยบริโภค หรือบริโภคร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่นที่มีสารอาหารชนิดเดียวกันที่มีสีเหลือง จะทำให้ได้รับสารอาหารนั้นในปริมาณสูงขึ้น
          3.สีแดง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหารอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกิน 2 เท่าของเกณฑ์ที่กำหนด หากบริโภคอาหารระหว่างมื้อที่มีสัญลักษณ์สีแดงในอาหารตัวใดตัวหนึ่ง ต้องพยายามลดการได้รับสารอาหารนั้นๆ ในอาหารมื้อหลักต่อไป
          4.สีฟ้า หมายถึง ปริมาณโปรตีน แคลเซียม วิตามินบี 2 ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีแต่มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์มาก
          "หากผู้ใช้งานสแกนบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์แล้วไม่พบข้อมูล สามารถถ่ายภาพและแชร์รูปภาพของผลิตภัณฑ์ ค้นหน้าผลิตภัณฑ์ ข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ และเลข อย.13 หลัก เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลในแอพพ์ให้ทันสมัยและครบถ้วนอยู่ตลอดเวลา"พญ.พรรณพิมลกล่าว
          ด้าน ทพ.สุปรีดากล่าวว่า สสส.ริเริ่มสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป สามารถรับรู้ เข้าใจ และเกิดความตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงในการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค โดยในช่วงปี 2559 ได้นำเครื่องมือให้ความรู้ทางด้านโภชนาการ หรือแอพพ์ฟู้ดช้อยส์ ไปทดสอบการใช้งานในโรงเรียนนำร่อง 4 ภูมิภาค ภายใต้โครงการโรงเรียนอ่อนหวาน 9 แห่ง พบว่าเด็กนักเรียนเกิดความรู้และมีความเข้าใจเรื่องโภชนาการมากขึ้นถึงร้อยละ 98 พร้อมทั้งได้นำข้อมูลจากการทดสอบมาใช้พัฒนาและปรับปรุงแอพพ์ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้งานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
          "ปี 2562 สสส.และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ขยายผลผลักดันให้แอพพ์ฟู้ดช้อยส์ เข้าไปเป็นหนึ่งในนโยบายเสริมสร้างการเรียนรู้ของเครือข่ายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องโภชนาการของโรงเรียน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียน ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กวัยเรียนให้มีความรอบรู้และมีทักษะทางสุขภาพอีกด้วย" ทพ.สุปรีดากล่าว
          ด้าน นายชัยกล่าวว่า แอพพ์ฟู้ดช้อยส์ คือการสร้าง Big Data Analytics Platfom เชื่อมโยงข้อมูลอาหารและโภชนาการทั้งในและนอกรั้วโรงเรียน กับสุขภาวะของนักเรียนเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเห็นข้อมูลสนับสนุนของตนเองได้ชัดเจน จะทำให้สามารถทราบสถานการณ์และแนวโน้มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่วางขายในท้องตลาด และพฤติกรรมการบริโภคได้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลสามารถใช้ข้อมูลที่วิเคราะห์เชิงลึกนี้วางแผนและกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมสุขภาพได้อย่างตรงเป้า

 pageview  1210916    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved