Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 18/09/2563 ]
นิด้า-แบ็คยาร์ด-อย.เปิดตัวระบบ เช็กให้รู้

ช่วยตรวจสอบข่าวปลอมด้านสุขภาพให้ถูกต้อง
          ผศ.ดร.บุหงา ชัยสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายการตรวจสอบ Fakenews ด้านสุขภาพ ได้เปิดตัวระบบต้นแบบ #เช็กให้รู้ หรือระบบอัจฉริยะต้นแบบช่วยการตัดสินใจข้อมูลข่าวปลอมด้านสุขภาพ (Fact Checking Intelligent Platform) ซึ่งพัฒนาโดยคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, บริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาษา และปัญญาประดิษฐ์ (AI) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หวังเป็นเครื่องมือช่วยการตัดสินใจข้อมูลข่าวปลอมให้กับนักตรวจสอบข้อเท็จจริง ฯลฯ เป้าหมายเพื่อกระตุ้นการตระหนักรู้ของประชาชน
          พร้อมกันนี้ได้ลงนามความร่วมมือภาคีเครือข่ายและพัฒนาระบบต้นแบบกับทางคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ใน "โครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม" และสามารถรับมือข่าวปลอมสุขภาพที่เกิดในสังคมไทยปัจจุบัน โดยดำเนินโครงการด้วยทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2562
          นายกิตติพงศ์ กิตติถาวรกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด (Backyard Co., Ltd.) กล่าวว่า ระบบต้นแบบ #เช็กให้รู้ บริษัทในฐานะแกนหลักด้านการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมมือกับภาคีเครือข่ายฯ ทั้ง 5 หน่วยงานพัฒนาเกณฑ์ 6 มิติ ได้แก่ มิติโครงสร้างข่าว มิติบริบท มิติเนื้อหา มิติด้านภาษา มิติด้านโฆษณาและผู้สนับสนุน และมิติด้านสุขภาพ ซึ่งในด้านมิติที่เกี่ยวข้องกับ "ภาษา" เริ่มจากกระบวนการทำงาน Data Scientist ได้พัฒนาโมเดล ด้วยการสอนให้ระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้ผ่านการสร้าง Annotation แล้วให้กลุ่มนักนิเทศและนักภาษาศาสตร์ในเครือข่ายความร่วมมือฯ ทำหน้าที่จำแนกองค์ประกอบข่าว เช่น พาดหัวคลิกเบท (Clickbait), เนื้อหาเชิญชวนให้ซื้อสินค้าหรือทำตาม (Misleading), เนื้อหากล่าวอ้าง (Imposter) ฯลฯ หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลการวิเคราะห์โดยมนุษย์สร้างโมเดลการเรียนรู้ให้ระบบคอมพิวเตอร์ วิเคราะห์ แยกแยะโครงสร้างของข้อมูลข่าวด้วยเทคโนโลยี Deep Learning จนนำไปสู่ระบบอัจฉริยะช่วยตรวจสอบข่าวปลอมด้านสุขภาพขึ้น ซึ่งระบบจะสามารถระบุถึง "แนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะเป็นข่าวปลอม" (Fake news probability) ขณะเดียวกันโครงการกำลังพัฒนาต่อยอดให้ประชาชนทั่วไป สามารถนำข่าวที่ได้รับมาร่วมตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลผ่านเว็บไซต์ในอนาคตด้วย
          นายวิษณุ โรจน์เรืองไร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัญหาการส่งต่อข้อมูลสุขภาพแบบผิดๆ ถือเป็นปัญหาระดับประเทศ และเรื่องแชร์ผิดๆ เดิมๆ หลายเรื่องมีการกลับมาแชร์ซ้ำอีกหลายครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย. จึงดำเนินโครงการ "เช็ก ชัวร์ แชร์" โดยรวบรวมข้อมูลที่มีการแชร์กันผิดๆ มาแก้ไขความเข้าใจให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับตรวจสอบความถูกต้องเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพในรูปแบบบทความ อินโฟกราฟิก และคลิปวิดีโอ

 pageview  1210916    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved