Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 14/10/2563 ]
ไม่ใช่เรื่องปกติ!! คลอดทารก ตายเป็นร้อยในปีเดียว แพทย์ชี้ รพ.ไม่ได้มาตรฐาน

 ไม่ใช่เรื่องปกติ!! "คลอดทารก" ตายเป็นร้อยในปีเดียว แพทย์ชี้ รพ.ไม่ได้มาตรฐาน
          อัจฉริยะเดินหน้าแฉ รพ.ดังในสมุทรสาคร ทำคลอดเด็กดับเดือนเดียว 40 ศพ 1 ในผู้เสียหายสุดช้ำ ร่างลูกรวมอยู่กับศพไร้ญาติ ด้านหมอสูติ-นรีเวชชื่อดังเผย ยิ่งอัตราการตายขณะคลอดของเด็กต่ำ ถึงจะบอกว่าโรงพยาบาลได้มาตรฐาน!!
          สุดอึ้ง เด็กตายใน รพ. 40 ศพภายในเดือนเดียว!
          กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ ในขณะนี้ กับกรณีที่ 3 ครอบครัวที่ได้ฝากครรภ์และทำคลอด ณ โรงพยาบาลดังใน จ.สมุทรสาคร แต่ทั้งหมดกลับต้อง สูญเสียลูกจากการทำคลอด โดยสูตินรีแพทย์คนเดียวกัน ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยรายที่หนึ่งเสียชีวิตในเดือนมีนาคม, รายที่สองเดือนกันยายน และรายที่สามเดือนตุลาคม จนนำมาสู่การเรียกร้องความเป็นธรรม ว่าแพทย์และโรงพยาบาล ดังกล่าวเป็นไปมาตรฐานหรือไม่?!
          และเมื่อ อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ผู้ซึ่งเข้ามาให้การช่วยเหลือทางคดี ก็ได้มีการเปิดเผยข้อมูลอันน่าตกใจว่า ตัวเลขของมูลนิธิ ป่อเต็กตึ๊ง ในช่วง 1 ปี รพ.สมุทรสาคร มีการทำคลอดจนเด็กเสียชีวิตมากกว่า 100 ศพ เฉพาะในเดือนกันยายนมีจำนวนสูงถึง 40 ศพ
          อีกทั้งในผู้เสียหายรายแรก ยังมีกรณีที่รอคลอดลูก อยู่นานแต่ก็ไม่มีใครมาดูแล จนท้ายที่สุดลูกน้อยต้องเสียชีวิตเพราะรกพันคอ ทั้งที่อุ้มท้องปกติ โดยทางโรงพยาบาลได้มาขอให้ยกร่างทารกให้ ก็คิดว่าจะนำร่างไปเป็นอาจารย์ใหญ่ จนผ่านมา 7 เดือน เพิ่งจะทราบข้อมูลจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งว่า ร่างของลูกตนถูกนำไปรวมอยู่กับศพไร้ญาติกว่า 40 ศพ!
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวชชื่อดัง ในฐานะผู้ทำงานเกี่ยวข้องในด้านนี้ ให้ความเห็นแก่ทีมข่าว MGR Live  ว่า หากตัวเลขทารกที่เสียชีวิตเป็นไปตามที่ปรากฏออกมาจริง ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ปกติ และจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด
          "อัตราการเสียชีวิตขณะคลอดของเด็กต้องต่ำถึงจะบอกว่าโรงพยาบาลนั้นได้มาตรฐาน จริงๆ มาตรฐานทางสูติโดยทั่วไป จะมีอัตราการเสียชีวิตของเด็กคลอดได้ไม่เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์ต่อการคลอด เท่ากับคลอด 200 คน เสียชีวิตได้คนเดียว ต้องต่ำมาก ถ้าตามข่าวที่ว่าแล้วบอกว่าเป็นร้อยในช่วงปีนึง อันนี้ ไม่ปกติแล้วครับ
          การที่เราจะรับใครมาทำงานต้องตรวจสอบมาตรฐาน ไม่งั้นจะเอาเขามาเป็นหมอสูติในโรงพยาบาลได้ยังไง มันมี 3 กลุ่มนะครับ 1. ตัวโรคที่ลูกเป็นเอง 2. บุคลากร ถ้ามันเป็นเคสที่เกิดจากหมอคนเดียวกัน ก็ต้องดูแล้วว่าหมอคนนี้ได้มาตรฐานรึเปล่า ซึ่งสภาวิชาชีพจะเป็นคนช่วยพิจารณา และ 3. โรงพยาบาลปล่อยปะละเลยรึเปล่า สมมติเกิดเหตุการณ์เสียชีวิตไปซักเคสนึง มีการประชุม ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรึเปล่า ไม่งั้นโรงพยาบาลก็บกพร่องด้วย
          สำหรับการจัดการศพ มันมี 2 ส่วน ญาติเอาไปจัดการเอง กับโรงพยาบาลจัดการ ถ้าโรงพยาบาลจัดการ ต้องมีหนังสือเซ็นยินยอม จัดการศพ หมายถึงนำไปประกอบพิธีทางศาสนาให้เหมาะสมตามศาสนานั้นๆ ซึ่งไปจัดแบบนั้นต้องไม่ใช่ไร้ญาติ ถ้าจะเอาไปจัดการศพเพื่องานวิจัยเพื่อการศึกษา ต้องขออนุญาตพิเศษ พ่อแม่ต้องมีสิทธิรู้ว่าเอาลูกเขาไปทำอะไร แล้วต้องมีรายงานให้เขาทราบด้วยว่าทำอะไรแล้วได้ผลเป็นยังไง"
          สำหรับความคืบหน้าของเรื่องนี้ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สำหรับโรงพยาบาลแห่งนี้มีผู้ป่วยมาคลอดปีละประมาณ 7,000-8,000 ราย มีทีมแพทย์เฉพาะทาง 8-9 คน แต่อยู่ระหว่างตรวจสอบอัตราการเสียชีวิตอย่างละเอียดอีกครั้ง ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อมา ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว โดยใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน ส่วนทางโรงพยาบาลได้มีการเลิกจ้างแพทย์คนดังกล่าว ตั้งแต่เดือนกันยายนที่มา
          เปิดความเป็นไปได้ เด็กตายหลังคลอด
          สำหรับกรณีความสูญเสียที่เกิดขึ้น เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่าทารกทั้ง 3 รายเสียชีวิตหลังคลอดทั้งหมด ซึ่งคุณหมอ พูนศักดิ์ ได้ให้ความรู้ที่ทารกเสียชีวิตหลังคลอดในภาพรวมว่า เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งตัวผู้เป็นแม่, ภาวะแทรกซ้อนที่ไม่สามารถตรวจพบระหว่างตั้งครรภ์ ตลอดจนตัวบุคลากรทางการแพทย์
          "สาเหตุการเสียชีวิตของเด็กเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง การรอคลอด ทุกครั้งที่มดลูกบีบตัวมันจะมีการเปลี่ยนแปลงของออกซิเจนที่ส่งไปเลี้ยงลูก หากรอคลอดเป็นระยะเวลาเนิ่นนาน อาจจะเกิดผลเสียคือลูกได้รับออกซิเจนน้อย ต่อมาคือระยะเวลาเจ็บท้องคลอด บางท่านก็จะมีน้ำเดิน ก็คือถุงน้ำคร่ำฉีกขาดและมีน้ำคร่ำไหลออกมาข้างนอก
          เมื่อน้ำคร่ำไหลออกมาข้างนอกได้แสดงว่าเชื้อโรค จากข้างนอกเข้าไปได้ ถ้าเกิดระยะเวลาการคลอดมันเนิ่นนาน มันก็จะมีโอกาสเพิ่มโอกาสการติดเชื้อได้ และช่วงเวลาของการคลอด อย่างกรณีคลอดเกิดยาก คลอดแล้วติดขัด บางทีต้องใช้เครื่องมือช่วย ก็จะเกิดความชอกช้ำของทารก กรณีแบบนี้ จะมี
          จริงอยู่โรคหลายๆ โรค เราตรวจในระหว่างตั้งครรภ์ได้ไม่ทั้งหมด จะมาปรากฏหลังจากที่ลูกคลอดออกมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ลูกเขียว เป็นเรื่องปกติเพราะลูกอยู่ในท้อง เขาใช้เลือดของแม่ ลิ้นหัวใจยังปิดไม่สมบูรณ์ จะค่อยๆ ปิดเมื่อคลอดออกมา ในเรื่องของภาวะแทรกซ้อน ตอนลูกลอยอยู่ในน้ำคร่ำ ตอนคลอดออกมาเราจะต้องมีการดูดน้ำคร่ำออกให้หมด ถ้าดูดออกไม่หมดหรือลูกสำลัก
          หรือขณะที่อยู่ในท้องมีการขาดออกซิเจน ลูกจะมีการถ่ายขี้เทาปนออกมาในน้ำคร่ำ ถ้าหายใจขี้เทาเข้าไปในปอด ก็จะทำให้เกิดปัญหาติดเชื้อในปอดได้ สาเหตุหลักๆ ที่ตรวจมาปกติแล้วออกมาทำไมเสียชีวิต ก็จะมีเรื่องพวกนี้ โรคที่เราวินิจฉัยไม่ได้ ภาวะที่เกิดขึ้นจากปัจจุบันทันด่วน ขณะคลอด หรือที่พบบ่อยสุดคือการติดเชื้อครับ"
          และนอกจากนี้ คุณหมอคนดังยังกล่าวปัจจัยการ เสียชีวิตอื่นๆ ของทารก อย่างความพร้อมของบุคลากรทาง การแพทย์เอง อีกทั้งยังช่วยสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์นี้อีกด้วย
          "(เด็กเสียชีวิตจากแพทย์ทำคลอดผิดพลาด) เป็นไปได้ เพราะว่าอย่างที่บอก 1. ต้องอยู่ในสถานที่ที่เครื่องมือพร้อม 2. บุคลากรที่ทำอย่างหมอ ต้องเป็นหมอสูติที่มีความเชี่ยวชาญ 3. ภาระงาน ผมพยายามทำความเข้าใจ รพ.ที่มีเคสเยอะๆ หมอน้อยๆ บางทีดูแลได้ไม่ทั่วถึงและเกิดโอกาสผิดพลาดได้ จะผิดพลาดในแง่ไหนก็ต้องไปดูในรายละเอียดอีกที
          ผมมองว่าในปัจจุบันจะต้องเป็นหมอสูติทำคลอด ถ้าไม่ใช่หมอสูติที่ไม่ได้ใบรับรองก็จะเสี่ยงสูงมาก สมัยก่อนเราใช้หมอทั่วไปทำคลอดเพราะเรามีหมอสูติน้อย ผมได้ยินข่าวว่าโรงพยาบาลเล็กๆ บางทีใช้พยาบาลทำคลอด ตรงนี้ถือว่าเสี่ยงมาก เพราะว่าถ้ามีปัญหาแทรกซ้อนเขาจะแก้ไขอะไรไม่ทัน
          กรณีนี้สะท้อนได้ว่า 1. ทั้งระบบบริการสุขภาพของบ้านเรา มาตรฐานการดูแลฝากครรภ์ ทุกคนควรจะมีโอกาสดูอัลตราซาวด์แบบละเอียด อย่างน้อย 1 ครั้งตลอดช่วงการตั้งครรภ์ 2. มาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพ ต้องมีการทบทวน ทุกคนที่เรียนจบเป็นหมอสูติ ต้องมีการติดตามดูว่าคนนี้ไปอบรมต่อเนื่องรึเปล่า เพราะความรู้มันก็เปลี่ยนแปลงไปได้ตามเวลา เพื่อให้หมอทุกคนไปขวนขวายหาความรู้ ไม่ใช่หมอคนนี้เรียนจบมา 5 ปี วิทยาการมันก้าวไปแล้ว
          3. ตัวโรงพยาบาลเอง เมื่อมีเหตุที่ลูกเสียชีวิต มันต้องมีการเซ็ตมาตรฐานของโรงพยาบาลนั้น ตัวเลขชี้วัดของโรงพยาบาลนั้นจะมีอัตราการตายได้เท่าไหร่ ซึ่งแน่นอน มันควรต้องดีขึ้นทุกปี มันต้องมีเป้าในการพัฒนาให้ไปถึง ไม่ได้บอกว่าเสียชีวิตถ้าตามจำนวนที่เขาบอกมาถูกต้องแล้วปล่อยไว้อย่างนั้น บอกว่าโอเค ไม่ทำอะไรเลย ถือว่าไม่ได้ครับ"
          นอกจากนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช ยังขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนและแพทย์สภา ให้ทำหน้าที่เป็น กระบอกเสียงในการให้ความรู้ ตลอดจนพิทักษ์สิทธิแก่คุณแม่ตั้งครรภ์ด้วย
          "ในองค์รวมคือ สื่อมวลชน สังคม ควรจะช่วยกันให้ความรู้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านได้รู้ถึงสิทธิของตัวเอง ต้องเรียกร้องสิทธิของตัวเองด้วย ต้องเป็นคนถามเองด้วย แต่ประชาชนก็ไม่รู้ไง ต้องทำให้คนมีความรู้จะได้ไม่เกิดซ้ำอีก และองค์กรวิชาชีพอย่างแพทย์สภาเอง ก็ควรจะมีบทบาทในการเข้ามาเป็นตัวแทนของคนไข้ ถ้าเกิดเหตุแบบนี้ควรจะมีหนทางให้คนไข้ติดต่อได้ง่ายๆ เกิดกรณีแบบนี้มาปรึกษากันหน่อยว่า มันผิดปกติมั้ย ถ้ามันผิดปกติก็จะได้ไม่ปล่อยไป
          การฝากครรภ์และการคลอด เป็นกระบวนการดูแลที่ใช้เวลานาน 8-9 เดือน มันมีโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติทั้งในแง่ของโรคและในแง่ของการดำเนินครรภ์ ติดตามตรวจฝากครรภ์ที่ได้มาตรฐานสม่ำเสมอ และดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี มันจะเป็นหนทางที่ลดความเสี่ยงเหล่านี้ จึงอยากให้ทุกท่านวางแผนก่อนตั้งครรภ์ ตรวจสุขภาพทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อหาโรคที่มีความเสี่ยง ปรึกษาหมอแต่แรก และระหว่างตั้งครรภ์ก็ฝากครรภ์ ติดตามให้สม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพให้ดีครับ" 

 pageview  1210913    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved