Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 08/10/2563 ]
สธ.เสนอศบค.ลดกักตัว7วันหนุนท่องเที่ยว

  กรุงเทพธุรกิจ  สธ.รับมือโควิด-19 รอบใหม่ในไทย เล็งลดวันกักตัวจาก 14 เป็น 10 วัน ประเทศเสี่ยงต่ำเหลือ 7 วัน เสนอ ศบค. หวังดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าควบคุมโรคให้ได้ใน 1 เดือน
          วานนี้ (7 ต.ค.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง สธ. แถลงข่าว "เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่"ว่า การเปิดประเทศจะต้องมีมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น โดยมีการจำลองการระบาดรอบใหม่ ใน 3 รูปแบบ คือ 1.มีผู้ติดเชื้อ 1 รายหรือ 2 รายและเข้าไปควบคุมไม่ให้เกิดการ แพร่กระจาย 2.หลังจากมีผู้ป่วยรายที่ 1 อาจจะ มีการระบาดในกลุ่มเล็กๆ คาดว่าจะมีประมาณ 10-20 ราย แต่สามารถควบคุมได้ภายในระยะเวลาอันสั้นไม่ให้เกิน 3 -4 สัปดาห์ และ 3.เกิดการแพร่ระบาดไปใน วงกว้าง 100 - 200 คน ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะ เกิดขึ้น หากประชาชนให้ความร่วมมือ ด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และผู้ประกอบการก็ร่วมมือในการจัดการต่างๆ
          ขณะนี้มีการอนุญาตให้คนไทยและ คนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้ผ่านระบบการกักกันตัวโดยใช้ระยะเวลา 14 วัน แต่หากมีวิธีการลดวันกักตัวลง จะสามารถทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ มากขึ้น เป็นการแง้มประเทศทำให้นักท่องเที่ยว กลุ่มใหญ่เข้ามามากขึ้น เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมดุลกับความปลอดภัย จึงมีแนวคิดที่จะลดจำนวนวันกักตัวลง มอบหมายให้กรมควบคุมโรคไปจัดทำ รายละเอียดเสนอวันที่เหมาะสมในการกักตัว
          โดยมีรายละเอียดครอบคลุมทั้งจำนวนวันกักตัวแต่ละระยะเวลาสามารถป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ เช่น 14 วันป้องกันได้ 100% 12 วัน,10 วัน หรือ 7 วันป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ รวมถึง วิธีตรวจขณะอยู่ในสถานที่กักกันซึ่งจะต้องมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเก็บตัวอย่างจากการแยงจมูกตรวจหาเชื้อ และการเจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกัน
          "ระยะแรกอาจจะลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วันก่อน ซึ่งคาดว่าจะเสนอศบค.ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เมื่อดำเนินการ ไปแล้วราว 1 เดือนก็จะมีการประเมิน หากยังสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ดีก็จะพิจารณาลดจำนวนวันลงอีก  จะกำหนดจำนวนวันกักตัวแตกต่างกัน ตามระดับความเสี่ยงของประเทศต้นทาง หากเป็นประเทศเสี่ยงสูงมากยังจำเป็นต้องกักตัวครบ 14 วันต่อไป ส่วนประเทศที่เสี่ยงต่ำอาจจะลดลง ซึ่งเป้าหมายต่ำที่สุดอยู่ที่ 7 วัน โดยดูจากประวัติอัตราการตรวจเจอเชื้อ ในผู้ที่เดินทางเข้ามาอยู่ในสถานที่กักกัน ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่าประเทศนั้นยังมีการติดเชื้อในประเทศที่สูง ส่วนประเทศจีน ที่ผ่านคนที่เข้ากักตัวก็ตรวจไม่เจอเชื้อ ถือว่าเสี่ยงต่ำ การติดเชื้อในประเทศไม่สูง" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า การสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ การควบคุมโรคให้เร็ว ซึ่งปัจจุบันมีทีมสอบสวนโรคเร็ว 1,000 ทีม เตรียมเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า ซึ่งเป้าหมายในการควบคุมโรคคือ หากพบการติดเชื้อต้องดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วภายใน 3-4 สัปดาห์ ลดอัตราป่วยตายต่ำกว่า 1.4% มีระบบ เครือข่ายเฝ้าระวังและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย โดยเฉพาะเพิ่มศักยภาพจังหวัดในการจัดการโควิด มีระบบบัญชาการเหตุการณ์ด้านสาธารณสุข ทุกจังหวัดมีแผนเตรียมความพร้อมและฝึกซ้อมแผน
          กลุ่มเป้าหมายการเฝ้าระวังและตรวจทางห้องปฏิบัติการโควิด-19ใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มที่มีอาการเข้าเกณฑ์ ตรวจเชื้อทางในห้องแล็ป ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ และอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในทุกโรงพยาบาล 2.กลุ่มเป้าหมายเฉพาะหรือพื้นที่เฉพาะ เช่นผู้ต้องขังแรกรับ แรงงานต่างด้าวพื้นที่ชายแดน และ 3.กลุ่มอื่นๆตามสถานการณ์ เช่น นักกีฬาฟุตบอลไทยลีก ตรวจค้นหาในการสอบสวนทางระบาดวิทยา กรณีพบ ผู้ป่วยยืนยันการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และการค้นหาผู้ติดเชื้อ ในชุมชน กรณีพบผู้ป่วยต่อเนื่องเกิน 28 วัน
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีเตียงกว่า 20,000 เตียง ทั่วประเทศ โดยการรับผู้ป่วยนั้นจะพิจารณาจากคนไข้ที่มีอาการหนักที่อยู่ในห้องไอซียู โดยตัวเลขจากการระบาดรอบแรกคนไข้นอนไอซียู พบนอนเฉลี่ยประมาณ 17 วัน ดังนั้น การเตรียมพร้อมครั้งนี้ ในกทม. สามารถรองรับได้ 230-400 คนต่อวัน ขณะที่ ทั่วประเทศสามารถรองรับได้ 1,000-1,740 คน ต่อวัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อในขณะนั้น จึงขอให้มั่นใจได้ว่ามีความพร้อม
          นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมทรัพยากรรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ข้อมูล ณ วันที่ 7 ต.ค.2563 มีการสำรองยากรณีผู้ป่วย อาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับยา โดย ยาฟาวิพิราเวียร์ 628,304 เม็ด สำหรับ ผู้ป่วย 8,900 ราย ยาเรมเดซิเวียร์ 795 ขวด สำหรับผู้ป่วย 126 ราย หน้ากากN95 คงเหลือ 2,257,471 ชิ้น ชุดPPE คงเหลือ 1,959,980 ชิ้น มี 40 โรงงาน กำลังการผลิต 6 หมื่นชุดต่อวัน และหน้ากากอนามัยทาง การแพทย์ คงเหลือ 50,922,050 ชิ้น
          นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า  มีการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยว ต่างชาติเข้าประเทศไทยในกลุ่มพำนัก ระยะยาว(Special Tourist VISA:STV) ตั้งแต่สนามบินจนถึงสถานที่กักกัน ในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยว 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต เกาะสมุยจ.สุราษฎร์ธานี บุรีรัมย์ และชลบุรี โดยมีการเตรียมสถานที่กักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine)ไว้แล้ว 84 แห่ง และสถานที่กักกันทางเลือกในพื้นที่ (Alternative Local State Quarantine) 12 แห่ง
          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาการอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีห้องแล็ปตรวจหาเชื้อได้ 230 แห่งกระจายอยู่ใน 73 จังหวัด มีการ สต็อตน้ำยาตรวจไว้ 5 แสนชุด นอกจากนี้ กรมได้ประกาศราคากลางในการตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด 19 อยู่ที่ 1,600 บาทต่อตัวอย่าง จากเดิมที่ราคาอาจจะอยู่ที่ 2,500-3,000 บาทต่อตัวอย่าง ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจเชื้อมากขึ้น

 pageview  1210912    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved