Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 06/10/2563 ]
เฮบัตรทองรักษาได้ทุกรพ.

  1พ.ย.นำร่องกทม.-ปริมณฑลเสี่ยหนูแถลงผลบอร์ดสปสช.เผยใช้แค่บัตรปชช.แสดงตน'ป่วยมะเร็ง'พบหมอได้ทุกที่บัตรทองเฮ! รักษาได้ทุกที่ สปสช.เริ่ม 1 พ.ย. นำร่องกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไม่ต้องทำใบส่งตัว ขอย้ายเครือข่ายมีผลทันที
          เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอเพื่อยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ การประชุมบอร์ด สปสช.ในวันนี้ เป็นอีกก้าวหนึ่งของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยที่ประชุมบอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบข้อเสนอ สปสช. ในการพัฒนาระบบบริการ ช่วยลดขั้นตอน แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับบริการให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ ตามที่ได้มอบนโยบาย สปสช.ก่อนหน้านี้
          "และในวันนี้ สปสช.ได้นำเสนอต่อบอร์ด สปสช. เพื่อดำเนินการเร่งด่วนใน 4 เรื่องด้วยกัน ดังนี้ 1.ประชาชนเจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ในระบบบัตรทอง ตามนโยบาย '30 บาทรักษาทุกที่' โดยเป็นการเริ่มที่บริการระดับปฐมภูมิ เบื้องต้นนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งภาพรวมโครงสร้างของระบบบริการมีความพร้อมที่จะเดินหน้าได้ โดย สธ. และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะขยายเครือข่ายบริการปฐมภูมิเพื่อรองรับ มีการเชื่อมต่อข้อมูลคลินิกหมอครอบครัวและผู้ป่วยเพิ่มเติม จัดทำระบบตรวจสอบสิทธิผ่านแอพพลิเคชั่น และมีระบบยืนยันตัวตนประชาชนในการรับบริการผ่านบัตรประชาชน ทั้งนี้จะเริ่มต้นได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้" รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าว
          นายอนุทินกล่าวว่า 2.ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว เดิมผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล (รพ.) มีส่วนหนึ่งต้องนอนรักษาต่อเนื่องด้วยสาเหตุทางการรักษา ซึ่งในกรณีที่ใบส่งตัวครบกำหนด ในการใช้สิทธิบัตรทองต่อเนื่อง ผู้ป่วยหรือญาติต้องกลับไปยังหน่วยบริการประจำเพื่อขอใบส่งตัวใหม่ เกิดความไม่สะดวกและเป็นปัญหา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัด ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกดูแลในกรณีนี้ สปสช.ได้ปรับระบบให้ผู้ป่วยในสามารถรักษาต่อเนื่องได้ทันทีตามการวินิจฉัยของแพทย์โดยไม่ต้องใบส่งตัว ใช้เพียงบัตรประชาชนตรวจสอบตัวตนผู้ป่วย ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่เขต 9 นครราชสีมา เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ส่วนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2564 ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป 3.โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม โรคมะเร็งเป็นภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้อาการลุกลามและมะเร็งบางชนิดยังเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ แต่ด้วยขั้นตอนการส่งตัวผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง บางครั้งอาจเป็นอุปสรรคทำให้ผู้ป่วยมะเร็งไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยเร็ว
          "ดังนั้น สปสช. ได้ปรับระบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มที่ถูกวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งจะได้ใบรับรองและประวัติ หรือโค้ดเพื่อเลือกไปรับบริการที่อื่นผ่าน 3 ช่องทาง คือ สายด่วน สปสช.1330 แอพพ์ สปสช. และติดต่อที่หน่วยบริการโดยตรง เฉพาะที่โรงพยาบาลรักษามะเร็งที่มีความพร้อมเข้าร่วม ให้บริการตามโปรโตคอลรักษามะเร็ง บริการระบบสาธารณสุขทางไกล บริการปรึกษาเภสัชกรทางไกล และการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home โดยค่าบริการให้ส่งข้อมูลเบิกจ่ายมายัง สปสช. ซึ่งได้มีการออกแบบการบริหารจัดการไว้แล้ว ทั้งนี้จะเริ่มในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2564" นายอนุทินกล่าว
          นายอนุทินกล่าวอีกว่า 4.ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน เป็นปัญหาที่ประชาชนเรียกร้องมาระยะหนึ่ง ด้วยติดขัดการเข้ารับรักษาในช่วงของการเปลี่ยนหน่วยบริการที่ตามระบบกำหนดให้ต้องรอ 15 วัน แต่ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาก้าวหน้า โดยเฉพาะการเชื่อมต่อข้อมูลไปยังหน่วยบริการ ทำให้ สปสช. สามารถปรับระบบแก้ปัญหาช่องว่างนี้ได้ ประชาชนสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการใหม่ได้ทันทีหลังเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ รวมถึงกรณีที่ประชาชนเปลี่ยนหน่วยบริการเองผ่านแอพพ์ สปสช. โดยหน่วยบริการสามารถพิสูจน์สิทธิและเบิกจ่ายค่าบริการผ่านบัตรประชาชนสมาร์ท การ์ด ทั้งนี้จะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2564
          ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเลือกพื้นที่ โดยต้องมีการประเมินก่อนว่าพื้นที่ไหนมีศักยภาพในการนำร่องเรื่องนี้ ต้องหาพื้นที่ที่มีต้นทุนในเรื่องระบบการจัดการอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเขต 1 เขต 12 เขต 9 และ กทม. ซึ่งมีศักยภาพ มีการบริหารแบบพวงบริการอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องเลือกก่อนว่ามีพื้นที่อื่นๆหรือไม่
          นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การพัฒนาระบบบริการบัตรทองในครั้งนี้ สปสช. สามารถเดินหน้าได้จากรับความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจาก สธ. และ กทม. ในการจัดเตรียมเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลรองรับ เพื่อให้ผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมระบบบัตรทองในการปรับระบบบริการ ทั้งผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม และย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน
          วันเดียวกัน นายอนุทินกล่าวถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรี สั่งการให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้บริหาร สปสช. ว่าช่วยกันตรวจสอบก็ดีแล้ว นายศรีสุวรรณเองก็คอยรักษาประโยชน์ให้กับประชาชนในทุกเรื่องอยู่แล้ว การที่มาดูแลเรื่องนี้ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่ทำให้เกิดข้อมูลต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน เรื่องนี้เรื่องใหญ่ ไม่ใช่สอบสวน 1-2 วันแล้วเสร็จ มันเกี่ยวกับคนจำนวนมาก ต้องยืนยันตัวตน ยืนยันเอกสาร ยืนยันผู้ปฏิบัติ ว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น การตรวจสอบก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นเท็จที่มี นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายประเมินผล ประธานคณะอนุกรรมการ ซึ่งคงไม่สอบเฉพาะภายนอก ก็ต้องสอบภายในและทั้งหมด ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
          ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การยกเลิกสัญญาแล้วเกิดผลกระทบต่อประชาชน เรื่องนี้ สปสช.ยอมรับ ส่วนความคืบหน้าของการหาสถานบริการทดแทน ทพ.อรรถพรกล่าวว่า การเปิดรับคลินิกที่จะเข้ามาเป็นสถานพยาบาลทดแทนแห่งใหม่ ที่ตั้งเป้าไว้ว่า 500 แห่ง ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ คิดว่ามีความเป็นไปได้ เนื่องจาก กทม.ได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยการให้ศูนย์บริการสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 13 ที่มีจำนวน 69 แห่ง ต่างออกไปติดต่อหาคลินิกใกล้ๆ พื้นที่จำนวน 10 แห่ง หากแล้วเสร็จก็จะได้คลินิกแห่งประมาณ 690 แห่ง และจะเพิ่มให้มีบริการในเวลาราษฎร์ เช่น เวลา 16.00-20.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน
          วันเดียวกัน ที่ตึกอายุรกรรม ชั้น 1 โรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช.เปิดคลินิกบัตรประกันสุขภาพ มาตรา 8 รพ.ราชวิถี
          นายสาธิตกล่าวว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างที่ สปสช. เร่งจัดหาหน่วยบริการระดับปฐมภูมิแห่งใหม่ ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ที่มีโรงพยาบาลหลายแห่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ร่วมกันรองรับให้การดูแลผู้ได้รับผลกระทบ และกรมการแพทย์ได้เปิดคลินิกบัตรประกันสุขภาพ มาตรา 8 ที่ รพ.ราชวิถี เพื่อดูแลผู้ป่วยบัตรทองส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับการดูแลและรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีนัดผ่าตัด ผู้ป่วยที่ต้องรับยาต่อเนื่อง เป็นต้น โดยกรณีการเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ขอให้เป็นผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น เพื่อให้การบริหารจัดการเกิดประโยชน์สูงสุด

 pageview  1210912    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved