Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 21/10/2563 ]
โรคกระดูกหักจากกระดูกพรุน

  โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตือนภัย "โรคกระดูกหักจากกระดูกพรุน" ที่สามารถเกิดได้ทุกช่วงวัย
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โรคกระดูกหักจากกระดูกพรุนเกิดได้ทุกช่วงวัย เด็กมักกระดูกหักจากเล่นซน ผู้ใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุ ผู้สูงอายุมักเกิดกระดูกหักจากกระดูกพรุน มวลกระดูกที่เปราะบางแม้เพียงลื่นหกล้มก็หักได้ง่าย
          อาการกระดูกหัก มักเห็นชัดเจนจะบวมปวด ไม่สามารถลงน้ำหนัก หรือเคลื่อนไหวบริเวณที่หัก โดยเฉพาะกระดูกสะโพกหักได้ในผู้สูงอายุ สาเหตุหลักของกระดูกหัก นอกจากอุบัติเหตุจากการจราจรแล้ว ยังมีอุบัติเหตุจากการทำงาน การเล่นกีฬา
          อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งพบมากขึ้นเรื่อยๆ คือ กระดูกหักในผู้สูงอายุ ซึ่งคุณภาพของกระดูกลดน้อยลง หากมีอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยส่งผลให้เกิดกระดูกหักไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น กระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง อาการกระดูกหักมักเห็นชัดเจนจะบวมปวด ไม่สามารถลงน้ำหนักหรือเคลื่อนไหวได้บริเวณที่หัก ดังนั้น ควรตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกทุกปี เพื่อป้องกันกระดูกทรุดตัว เสริมความแข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของแคลเซียม ได้แก่ นม ถั่ว ปลาหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น
          ด้าน นพ.ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยและตำแหน่งการหักของกระดูกสะโพก โดยจะมี 2 วิธี คือ วิธีแรก การผ่าตัดใส่ข้อสะโพกข้อเทียม วิธีที่สอง การผ่าตัดเพื่อยึดตรึงกระดูกไว้ภายใน โดยการผ่าตัดใส่โลหะพิเศษยึดกระดูกไว้ให้เข้าที่และเกิดการติดของกระดูกตามธรรมชาติ
          สำหรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยสูงอายุกระดูกสะโพกหักไม่ได้จบแค่การผ่าตัด ยังต้องมีการประเมินและรักษาภาวะกระดูกพรุนอย่างต่อเนื่อง เป็นหัวใจสำคัญอีกส่วนหนึ่ง หรือเป็นการป้องกันภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน และยังรวมถึงการดูแลภาวะการมองเห็น ประสาทตา และการดูแลหลังการผ่าตัดด้วยการกายภาพบำบัดเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุด้วย แนวทางการป้องกัน ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน

 pageview  1210911    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved