Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 20/10/2563 ]
จัดคิวงานต่างด้าวลดเข้าปท. ปีหน้าสธ.ลองวัคซีนโควิดคน

'อนุทิน'เผยวัคซีนทดสอบ ฉีดในคนต้นปีหน้า
          ไทยป่วยโควิด-19อีก5ราย
          เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ประจำวัน ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 5 ราย รวมสะสม 3,691 ราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 5 ราย แบ่งเป็น ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค (Quarantine) ได้แก่ คูเวต 1 ราย ตุรกี 1 ราย ญี่ปุ่น 1 ราย เคนยา 1 ราย และบาห์เรน 1 ราย
          ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก ผู้ติดเชื้อเพิ่มใหม่ 324,927 ราย ยอดผู้ติดเชื้อรวม 40,278,207 ราย อาการรุนแรง 71,995 ราย รักษาหายแล้ว 30,112,204 ราย เสียชีวิต 1,118,321 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 8,387,799 ราย เป็นรายใหม่ 44,941 ราย 2.อินเดีย จำนวน 7,548,238 ราย เป็นรายใหม่ 55,511 ราย 3.บราซิล จำนวน 5,235,344 ราย เป็นรายใหม่ 10,982 ราย 4.รัสเซีย จำนวน 1,399,334 ราย เป็นรายใหม่ 15,099 ราย 5.อาร์เจนตินา จำนวน 989,680 ราย เป็นรายใหม่ 10,561 ราย ประเทศไทยอยู่อันดับ 144 ของโลก ส่วนเมียนมา มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 1,150 ราย ยอดสะสมรวม 36,025 ราย
          'อนุทิน'เผยวัคซีนฉีดคนต้นปีหน้า
          วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. นำ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของประชาชนไทย
          นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลเร่งประสานความร่วมมือเพื่อให้ประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้ รวมทั้งได้เจรจาความร่วมมือแบบทวิภาคีกับผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 ทั้งในเอเชียและยุโรป ซึ่งได้ดำเนินการไปพร้อมกับการเจรจาแบบกลุ่ม เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนไทยมากยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือระหว่าง สธ. สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตราเซนเนกา ในการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 ชนิด Adenoviral vector (AZD1222) ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นอกจากนี้ ในการเจรจาตกลงแบบทวิภาคีได้ครอบคลุมถึงการเจรจาเพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 และวัคซีนมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จทั้งในเอเชียและยุโรป เพื่อให้ประเทศมีสิทธิเข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น หากการพัฒนาวัคซีนนั้นประสบความสำเร็จ
          3เทคโนโลยีก้าวหน้ามากสุด
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการพัฒนาวัคซีนเองในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งหมด 7 เทคโนโลยีการผลิต จาก 9 หน่วยงาน โดยการวิจัยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดและอยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 มี 3 เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีนชนิด DNA โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเซีย จำกัด และวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากพืช (Plant based) โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด โดยการผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับทดสอบในมนุษย์ตามแผนที่วางไว้คือ ในไตรมาสแรกของปี 2564
          นพ.นครกล่าวถึงเป้าหมายการจัดหาวัคซีนว่า การจัดหาจะแบ่งออกเป็น 1.การจองวัคซีนกับโครงการ COVAX facility ประมาณร้อยละ 20 2.จากบริษัทแอสทราเซเนกา และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอีกร้อยละ 20 และ 3.การเจรจาวัคซีนกับแหล่งอื่นๆ ร้อยละ 10 ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากทางมหาวิทยาลัยออกซ์ ฟอร์ด และแอสทราเซเนกา นั้นได้มีการมาสำรวจในประเทศไทยว่าโรงงานใดมีศักยภาพ ซึ่งพบว่าสยามไบโอไซเอนซ์ มีประสิทธิภาพในการผลิตได้ถึง 200 ล้านโดส จึงมีการคัดเลือก และหลังจากมีการทำข้อตกลงเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว โดยคนไทยจะต้องมีการฝึกอบรมรับเทคโนโลยีก่อน ซึ่งตามไทม์ไลน์ของแอสทราเซเนกาต้องผ่านการทดสอบระยะ 3 และผลิตได้ในเดือนธันวาคม 2563 จากนั้น ต้องขึ้นทะเบียน อย. ประเทศต้นทาง คือ อังกฤษ และต้องขึ้นทะเบียน อย.ในประเทศไทย ซึ่งหากผ่านกระบวนการต่างๆ แล้ว ไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพร้อมผลิตได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2564" นพ.นครกล่าว
          เล็งหางานต่างด้าวในประเทศ
          นายอนุทินกล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า ได้ลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เห็นข้อมูลส่วนอื่นด้วยโดยจะให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. เข้าไปหารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน ว่าจะจัดคิวอย่างไร เพราะแรงงานที่อยู่ในประเทศไทย ไม่มีเชื้อโควิด-19 ก็ควรจะจัดหางานให้ หาวิธีส่งต่อแรงงาน เพื่อลดการนำเข้าแรงงานกลุ่มใหม่ ที่มีความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19
          เจ้าหน้าที่สาธารณสุของค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุผาแดง และหน่วยงานสาธารณสุข ร่วมกับ อสม.ในหมู่บ้านหัวฝาย ต.พระธาตุผาแดง ได้เข้าทำการพ่นยาฆ่าเชื้อในโรงเรียนแห่งหนึ่ง หลังจากทราบว่ามีนักเรียนอายุ 10 ขวบ ซึ่งเป็นหลานของสามีภรรยา กับลูก รวมหลาน 5 คน ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชุมชนวัดหลวงโซนสุเหร่ามาดีนะห์ ไปเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ แต่ได้รับการยืนยันจากทางแพทย์โรงพยาบาลแม่สอดแล้วว่าไม่พบเชื้อเพิ่มเติม หลังจากที่นำผู้สัมผัสเป็นนักเรียนไปสอบสวน และนำตัวอย่างไปตรวจแล้ว มีผลเป็นลบ 26 คน
          นพ.ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด โพสต์ผ่านทางโซเชียลระบุว่า ทีมโรงพยาบาลแม่สอด สาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขจังหวัดตาก และศูนย์ควบคุมโรคติดต่อที่ 2 จ.พิษณุโลก ติดตามผู้สัมผัสกับเด็กนักเรียน 26 คน นำตัวอย่างไปตรวจแล้ว มีผลเป็นลบ และยังออกคัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยงตามชุมชนต่างๆ เพิ่มมากขึ้นทั้ง 5 อำเภอชายแดนของจังหวัดตาก
          เช็กโควิดแม่สอดอีก5พันคน
          ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ชาวเมียนมาที่เป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกันจำนวน 5 คน ยังคงรักษาตัวอยู่ในห้องแยกโรคของโรงพยาบาลแม่สอด โดยทั้งหมดไม่มีอาการ อยู่ในการดูแลของแพทย์และพยาบาล ขณะที่ผู้สัมผัสใกล้ชิดต่างๆ เช่น ผู้ที่ร่วมละหมาดที่อยู่ติดกันจำนวน 4 ราย ผลการตรวจเชื้อเป็นลบ ผู้ร่วมละหมาดที่เหลือถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ได้ให้กักตัวเองที่บ้านเพื่อเฝ้าระวังอาการ สำหรับการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ขณะนี้ตรวจไปแล้ว 4 พันกว่าคนให้ผลเป็นลบ โดยภายในสัปดาห์นี้จะมีการตรวจเชิงรุกเพิ่มในพื้นที่เสี่ยงที่เหลืออยู่อีก 6-7 จุด รวมประมาณ 5 พันคน เช่น ห้างสรรพสินค้าต่างๆ เป็นต้น โดยรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน และขยายการตรวจเพิ่มออกไปยังกลุ่มเสี่ยง เช่น ตำรวจตระเวนชายแดน ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดตาก อีก 3-4 พันคน ได้แก่ อำเภออุ้มผาง พบพระ แม่ระมาด และท่าสองยาง
          เปิดด่านอีกรอบ26ต.ค.
          นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ให้รถขนส่งสินค้าจากเมียนมาส่งสินค้าในจุด Safety Zone เท่านั้น โดยให้เข้ามาคันละ 1 คน โดยมีรถขนส่งสินค้าของไทยมารับช่วงถ่ายสินค้า มีพนักงานขนส่งสินค้าคนไทย 2-3 คน ดำเนินการ เมื่อขนเสร็จก็ให้ขับกลับออกไป ทั้งหมดอยู่ภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 ชั่วโมง ตามที่กำหนด โดยระหว่างนั้นจะมีการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อด้วย ขณะที่รถขนส่งสินค้าของไทยที่ข้ามไปยังฝั่งเมียนมาก็จะทำแบบเดียวกัน  ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้ให้ปิดด่านตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม โดยปิดเป็นระยะเวลา 7 วัน โดยจะเปิดด่านอีกครั้งวันที่ 26 ตุลาคมนี้
          ยอดผู้ติดเชื้อทะลุเกิน40ล้าน
          ด้านสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมทั่วโลกพุ่งทะลุเกิน 40 ล้านคนไปเป็นที่เรียบร้อย โดยจนถึงช่วงบ่ายวันที่ 19 ตุลาคม ยอดสะสมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 40.32 ล้านคน สหรัฐอเมริกามีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดที่กว่า 8.3 ล้านคน ตามด้วยอินเดีย 7.5 ล้านคน และ บราซิล 5.2 ล้านคน ส่วนยอดผู้เสียชีวิตสะสมทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,118,814 ราย สหรัฐมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดที่ 224,732 ราย บราซิล 153,905 ราย และ อินเดีย 114,642 ราย ส่วนยอดผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วมีรวมกันมากกว่า 30 ล้านรายนั้น สถานการณ์แพร่ระบาดในทวีปยุโรปกำลังเป็นที่น่าวิตก ขณะที่ยุโรปมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 รวมกันทั้งทวีปพุ่งทะยานเกิน 250,000 รายแล้วเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่ 2 ที่มียอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 มากที่สุดรองจากภูมิภาคละตินอเมริกา-แคริบเบียน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตทั้งภูมิภาคนรวมกันมากกว่า 350,000 ราย โดยที่หลายชาติยุโรปได้กลับมาดำเนินมาตรการเข้มงวดอีกครั้ง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดระลอกสอง

 pageview  1210911    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved