Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 20/10/2563 ]
ถือศีล กินเจ สุขภาพดี (ถ้า) เลือกเป็น

 เทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 16-25 ตุลาคมนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริโภคจะต้องมีความรู้และมีความเข้าใจหลักโภชนาการเพื่อให้ได้สุขภาพที่ดี
          ทั้งนี้ นายสง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษาสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า เทศกาลกินเจไม่ใช่เทศกาลกินผัก และเฮโลกินตามแฟชั่นแบบขาดความรู้ แต่เป็นเทศกาลแห่งการ "ถือศีลกินเจ" ซึ่งไม่เพียงแต่งดกินเนื้อสัตว์ หรือไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่นเท่านั้น แต่การกินเจต้องทำจิตใจให้สงบ ดีงาม มองบวก ไม่พูดโกหก ไม่นินทาว่าร้ายผู้อื่น การกินเจแบบขาดความรู้ที่แท้จริงอาจได้รับประโยชน์ด้านสุขภาพไม่เต็มที่ และการกินเจแบบหลงทางอาจทำให้เสียสุขภาพได้
          นายสง่ากล่าวว่า วงการแพทย์แผนปัจจุบันยอมรับว่า การถือศีลกินเจที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ เป็นการพักระบบการย่อยอาหารที่เคยกินแต่เนื้อสัตว์มาตลอด ซึ่งย่อยยากมากกว่าการกินผัก ผลไม้ เพิ่มใยอาหารไปล้างลำไส้ เปรียบได้ดั่งการ "ล้างพิษด้วยธรรมชาติ" ลดความเสี่ยงต่อการเกิด NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะให้แคลอรีต่ำ และในผักมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระเพียบ แถมลดน้ำหนักได้ (ถ้ากินอย่างถูกต้อง) แต่ส่วนมากช่วงกินเจหลายคนน้ำหนักจะขึ้น เพราะกินเจไม่ระวัง!
          นายสง่ากล่าวว่า 9 ข้อการกินเจเพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุด ต้องกินแบบมืออาชีพที่มีความรู้ ซึ่งควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
          1.ต้องมั่นใจว่ากินแล้วได้อาหารครบ 5 หมู่ ไม่ใช่เน้นกินแต่ผักเท่านั้น เพราะช่วงกินเจแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ 10 วัน แต่ร่างกายก็ยังต้องการสารอาหาร โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ และไขมันอยู่เช่นเดิม ถ้าเราเน้นกินแต่ผักก็จะได้เฉพาะวิตามินและแร่ธาตุเท่านั้น
          2.ต้องมั่นใจว่าได้โปรตีนจากพืชอย่างเพียงพอ อาหารเจทุกมื้อต้องปรุงและประกอบด้วยถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์จากถั่วเสมอ เพราะมีกรดอะมิโนใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะกินพร้อมกับข้าว โปรตีนจากพืชมาจากเต้าหู้ ฟองเต้าหู้ โปรตีนเกษตร และถั่วเมล็ดแห้งทุกชนิด
          3.ควรกินข้าวกล้อง หรือแป้งที่ขัดสีแต่น้อย เพราะมีสารอาหารมากกว่าข้าวขาว แถมยังมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า ที่จะเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลได้ช้าๆ จึงสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายได้
          4.ต้องระมัดระวังการปนเปื้อนในอาหารเจ โดยเฉพาะสารเคมีที่ติดมากับผัก เพราะอาหารเจเน้นการกินผัก ดังนั้น ต้องมั่นใจว่าผักที่นำมาปรุงอาหารเจได้ล้างสะอาดปลอดภัยแล้ว รวมทั้งพวกเครื่องปรุงอาหารเจด้วย
          5.ระวังอาหารเจที่มันจัดและเค็มจัด อาหารเจมักจะเป็นพวกทอดและผัด แม้กระทั่งต้มๆ แกงๆ ยังใส่น้ำมันเยิ้มทุกเมนู ทำให้เรามีโอกาสกินน้ำมันเกิน 6 ช้อนชา ใน 1 วันได้ และอาหารเจหลายเมนูมีรสเค็ม นั่นแปลว่าทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป หรือได้รับเกลือ 1 ช้อนชาต่อวัน มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตได้
          6.ระวังการกินแป้งมากจนเกินไป เพราะนอกจากจะได้จากการกินข้าวในปริมาณที่มากเกินแล้ว อาจได้คาร์โบไฮเดรตจากแป้งสาลีที่นำมาแปรรูปให้ดูคล้ายเนื้อสัตว์ หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ แท้ที่จริงให้คาร์โบไฮเดรตล้วนๆ
          7.ควรกินอาหารเจที่มีเมนูที่หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพียงพอ อาหารเจก็เหมือนเมนูอาหารธรรมดาทุกอย่าง ที่มีทั้ง แกง ต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง ยำ อบ น้ำพริก ยกเว้นเปลี่ยนจากเนื้อสัตว์เป็นถั่วเมล็ดแห้ง ไม่ปรุงด้วยผัก 5 ชนิด และเครื่องปรุงต้องทำจากผลิตภัณฑ์ถั่วเมล็ดแห้งและเกลือ
          8.กินเจระวังน้ำหนักขึ้น เพราะกินแป้งมากเกิน เนื่องจากไม่ได้กินเนื้อสัตว์มันระโหยเลยอัดแป้งเข้าไปซะล้นเกิน อีกอย่างเป็นเพราะกินอาหารเจที่มันระย่องเป็นประจำ
          9.กินเจตามสูตร 2:1:1  สามารถลดน้ำหนักได้ โดยแบ่งจานข้าวออกเป็น 4 ส่วน ใน 2 ส่วน หรือครึ่งจาน เป็นผักที่สะอาดหลากหลายชนิด อีก 1 ส่วน เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่วเมล็ดแห้ง และเหลืออีก 1 ส่วน เป็นข้าวกล้อง แต่ต้องควบคู่การออกกำลังกายไปด้วย จะลดน้ำหนักได้แน่นอน
          "เทศกาลถือศีลกินเจเป็นวิถีชีวิตที่ดีงาม เหมาะที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องรอให้ถึงเทศกาลกินเจแล้วค่อยทำ เช่น เมื่อออกเจแล้วอาจกินมังสวิรัติ หรือแมคโครไบโอติกต่อได้ โดยเน้นการกินผักผลไม้ต่อไป แต่อาจดื่มนม กินไข่ กินปลา มากกว่าเนื้อสัตว์ใหญ่ เป็นต้น แต่อย่าลืม! ออกกำลังกายและสลัดความเครียดออกให้เร็วเมื่อรู้ว่าตัวเองเครียด" นายสง่ากล่าวทั้งนี้ นายสง่ากล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าทำได้จนกลายเป็นวิถีชีวิต มั่นใจได้เลยว่า เราจะบรรลุซึ่งสุขภาพดีตลอดปีตลอดไป

 pageview  1210912    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved