Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 02/11/2563 ]
บทเรียนชุมชนท้องถิ่น กับภารกิจดูแลผู้สูงวัย ฝ่าโควิด-19

  การดูแลกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะผู้สูงอายุในภาวะวิกฤตโควิด-19 มีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งระดับท้องถิ่น เชื่อมโยงสู่ระดับประเทศ และการจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การทำงานเป็นไปได้อย่างมี ประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมรับสังคมสูงวัยหลังวิกฤตผ่านพ้น
          เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีอภิปราย "การดูแล ผู้สูงอายุในช่วงวิกฤต...บทเรียนจากไทยและ ต่างประเทศเพื่ออนาคต" โดยมีตัวแทนจากภาคส่วน ท้องถิ่นรวมฉายภาพการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ด้วยการประสานความร่วมมือของทั้ง อสม. รพ.สต. สถานศึกษาในพื้นที่ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสำหรับผู้สูงวัย เพื่อเตรียมพร้อมสังคมในอนาคต
          "นายรังสรรค์ นันทกาวงศ์" นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี ซึ่งพื้นที่มีประชากรราว 3 หมื่นคน ผู้สูงอายุ 15% หรือราว 4-5 พันคน ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การดูแลผู้สูงอายุในระดับท้องถิ่นว่า การดูแลผู้สูงอายุเริ่มต้นจากขอถ่ายโอนสถานีอนามัยจากกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นศูนย์การแพทย์ พร้อมจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตจำนวน 3 แห่ง สมาชิกราว 4,000 คน เป็นผู้สูงอายุกว่า 900 คน เพื่อจัดกิจกรรม ชะลอความชรา โดยใช้งบประมาณของ สปสช. และครูจิตอาสา ล่าสุด ในปี 2563 นี้ ได้มีการเปิดศูนย์สันทนาการและฟื้นฟู ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกราว 20 คน รับสมาชิกอายุ 70 ปี ขึ้นไป เฉพาะในตำบลเท่านั้น เนื่องจากต้องการเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยคิดค่าบริการ วันละ 300 บาท
          นอกจากนี้ ชุมชนยังมีบริการ Long Term Care โดย Care Giver ซึ่งผ่านการอบรม 420 ชั่วโมง จำนวน 27 คน ในการเยี่ยมบ้านพร้อมกับทีมแพทย์ และสหวิชาชีพ นักจิตวิทยา ขณะนี้ ดูแลผู้ป่วยติดเตียง  180 คน พร้อมสร้างมูลนิธิ "ข้างเตียงเคียงกัน" เพื่อขอรับบริจาคสนับสนุนการทำงานของ Care Giver ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ และตัดชุดใหม่ รวมถึงมีเตียงให้กับผู้ป่วยติดเตียงยืมใช้ตามบ้านจำนวนกว่า 200 เตียง
          ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยวัยที่สามนครเชียงราย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่รวบรวมความรู้ หลักสูตรต่างๆ ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุข "นางอุบลวรรณ แสนมหายักษ์"ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยวัยที่สาม นครเชียงราย อธิบายว่า มหาวิทยาลัยวัยที่สาม รับคนอายุ 55 ปีขึ้นไป เราสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ ผู้สูงอายุก่อนโควิด-19 ระบาด จากหลักสูตรที่ ผู้สูงอายุทั้ง 65 ชุมชน ช่วยกันคิดและได้รับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาร่วมออกแบบ
          หลักสูตรแรกคือ "หลักสูตรศาสนา" เรียนรู้เรื่องของการประดิษฐ์สิ่งของในงานมงคล การอยู่ร่วมกันต่างศาสนา  ถัดมา คือ "หลักสูตรสุขภาพวัยที่สาม" สอนเรื่องโภชนาการ การดูแลตนเอง สุขภาพจิต นอกจากนี้ หลักสูตรยังครอบคลุมไปถึง การใช้คอมพิวเตอร์และมือถือ การรู้เท่าทันสื่อ ศิลปวัฒนธรรม ปลูกต้นไม้ การจัดการขยะในบ้าน การท่องเที่ยว สังคมและความสุข และหลักสูตรเศรษฐกิจ สอนในเรื่องการทำหน้ากากผ้า โดยช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มีการทำหน้ากากผ้าไปกว่า 6 หมื่นชิ้น แจกจ่ายให้กับคนในชุมชน รวมถึงแรงงานข้ามชาติฟรี
          นางอุบลวรรณ กล่าวต่อไปว่า การที่จะสามารถ ดูแลผู้สูงอายุในภาวะวิกฤตได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ต้องใช้ฐานข้อมูลที่ชัดเจน ดังนั้น อนาคตอยากให้มี การเข้าถึงข้อมูลผู้สูงอายุทุกกลุ่ม รวมถึงพัฒนา ช่องทางการสื่อสารจากภาครัฐ เพื่อให้การรับรู้เท่ากัน นอกจากนี้ ควรเตรียมคนตั้งแต่อายุ 40-50 หรือวัยเด็ก โดยเฉพาะเรื่องการเงิน เพื่อพร้อมรับสังคมสูงวัย สุดท้าย คือ นโยบายท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ และ
          ภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาช่วยกัน
          นายแพทย์สกานต์ บุนนาค สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 มีข้อดี คือ การจัดทำข้อมูลง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ในระดับ รพ.สต. จะรู้ว่ามีคนป่วยที่ไหน ความรุนแรงของความเจ็บป่วยเป็นอย่างไร ทำให้เวลาวิกฤต เราสามารถชี้เป้าในระดับตำบลได้ เกิดเครือข่าย สามารถลงระบบการดูแลทุกกลุ่มวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน อสม. ยังทำหน้าที่ดูแลกลุ่มเสี่ยงได้อย่างใกล้ชิด รวมถึงโรงพยาบาลสามารถลดความแออัดลงได้
          "เรื่องของฐานข้อมูลก็สำคัญเพื่อให้บริการประชาชนได้ตรงจุด ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือ ข้อมูลสุขภาพอยู่ที่ตัวของประชาชน ซึ่งขณะนี้ กรมการแพทย์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) อยู่ระหว่างการจัดทำแอปฯ พัฒนาความเชื่อมโยง ระหว่างคนไข้ อสม. รพ.สต. และ รพ. เป็นแพลตฟอร์มเดียวกัน  เพื่อเป็นพื้นฐานในการรองรับวิกฤตได้มากขึ้น" นายแพทย์สกานต์ กล่าว
          ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวเสริมว่า เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 สสส. มีส่วนร่วมในการสนับสนุนงานวิชาการในโจทย์ที่สำคัญ เช่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดภาวะตกงาน หรือเกิดหนี้สินอย่างเดียว แต่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ขณะเดียวกัน เรื่องผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ สสส. ให้ความสำคัญเพราะสถานการณ์ผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง เพิ่มสูงขึ้น ความรู้เท่าทันดิจิทัล การเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ล้วนเป็นโจทย์ที่สำคัญ
          ที่ผ่านมา สสส. ได้ออกแบบสื่อร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข เรื่องชีวิตวิถีใหม่ สติ๊กเกอร์ โปสเตอร์ และสื่อเฉพาะในแต่ละกลุ่ม เช่น แรงงานข้ามชาติ กลุ่มหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้สูงอายุคนพิการ เพื่อให้แต่ละกลุ่มได้เลือกใช้วิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกับความต้องการของตัวเอง รวมถึงศูนย์ให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน จัดตั้งครัวกลาง ประสานความร่วมมือ ระหว่างผู้ให้และผู้รับ รวมถึงการหนุนกลุ่มเปราะบาง ในการออกแบบชีวิตตนเองในสลัม 4 ภาค เกิดการวางแผนแต่ละพื้นที่ว่าจะประคับประคองชุมชน
          สำหรับการดำเนินงานต่อไป สสส. เตรียมจัดทำ อีเลิร์นนิ่ง ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในการ ทำช่องทางให้ผู้สูงอายุเตรียมความพร้อม ความรู้ที่ ผู้สูงอายุต้องรู้จะอยู่ในแพลตฟอร์มดังกล่าว พร้อมกับ ร่วมมือ Young Happy พัฒนา "เกษียณคลาส" รวบรวมสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องรู้ ทั้งการดูแลสุขภาพ กิจกรรมทางกายที่เหมาะ รวมความรู้จากแหล่งต่างๆ เพื่อสร้างสื่อให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุต่อไป

 pageview  1210911    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved