Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 16/11/2563 ]
แก้ฝุ่นจิ๋วห้ามรถบรรทุกวิ่ง โลจิสติกส์ป่วน-ต้นทุนพุ่ง

 รัฐตื่นตัวฝุ่น PM 2.5 ถล่มกรุง "บิ๊กป้อม" สั่งงัดแผนแก้พื้นที่เสี่ยง ห้ามเผาพืชเกษตร 9 จังหวัดภาคเหนือ "สรท." โอดห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงเทพฯ ทำธุรกิจชะงัก กระทบต้นทุน ชี้โลจิสติกส์ป่วนแน่ เผยท่าเรือคลองเตยอาจสะดุด 1 แสนตู้ แฉต้นตอรถเครื่องดีเซลเกลื่อนเมือง รถใหม่จดทะเบียนพุ่ง 1.18 ล้านคัน กทม.ประชุมด่วน 17 พ.ย. จ่อปิดไซต์ก่อสร้าง-โรงเรียน 437 แห่ง
          ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ " รายงานว่า วันนี้ (13 พ.ย. 63) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการ มอบนโยบายให้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เร่งแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกรุงเทพฯและปริมณฑล พร้อมให้เร่งติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศให้มากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง
          งัดแผนป้องกันเผาป่า
          นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืช หรือวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตรว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มักทวีความรุนแรงในเดือนธันวาคมเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้มาตรการแรกคือใช้แผนป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งจะเข้มข้น ขึ้นตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2563-31 พฤษภาคม 2564 ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก
          ลดเผาอ้อย 1.2 ล้านไร่
          นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า มีนโยบายลดการเผาอ้อยให้เหลือไม่เกิน 50% ซึ่งพบว่ามีตัวเลขปริมาณอ้อย ไฟไหม้เพียง 37.18 ล้านตัน หรือคิดเป็น 49.65% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด เท่ากับไทยลดพื้นที่การเผาอ้อยได้ถึง 1.2 ล้านไร่ ซึ่งในฤดูกาลผลิต 2563/2564 จะนำ 3 มาตรการให้ชาวไร่ลดการเผา โดยหาก ลดอ้อยไฟไหม้เหลือ 20% จะให้ราคาสูงกว่าผู้ที่ขายอ้อยไฟไหม้
          นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้จัดทำแผนบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ โดยปีนี้เน้นสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ลงลึกในระดับชุมชน และทำแผนระดับหมู่บ้าน จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2563
          รถดีเซลเกลื่อนถนน
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากต้นตอปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่มาจากเครื่องยนต์ดีเซลนั้น จากอดีตถึงปัจจุบัน "ไม่ได้ ลดลง" เลย สังเกตจากตัวเลขรถยนต์จดทะเบียนใหม่ของกรมการขนส่งทางบก มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี
          8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค. 2563) ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ มีรถปิกอัพและรถแวนจดทะเบียนใหม่ 191,721 คัน รวมรถปิกอัพ-แวนที่จดทะเบียนแล้วทั้งหมด 6,856,963 คัน รถใช้งานในภาคเกษตรกรรม 336 คัน รวมจดทะเบียนทั้งหมด 109,050 คัน
          ขณะที่ตัวเลขรถจดทะเบียนใหม่ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ประเภทรถบรรทุก 8 เดือนแรกมีจำนวน 58,019 คัน รวมทั้งหมด 1,187,328 คัน รถเครื่องยนต์ดีเซลป้ายแดงแจ้งจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่รถเก่าก็ไม่ได้หายไป จากท้องถนน รวมถึงรถแท็กซี่ที่รัฐผ่อนผัน ให้ต่ออายุการใช้งานเพิ่มจาก 9 ปีเป็น 12 ปี
          เปิดแผนแก้ฝุ่นจิ๋ว
          นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพ มหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า 17 พ.ย.นี้จะประชุม คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ กทม. มี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมการขนส่งทางบก กรมธุรกิจพลังงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ หลังฝุ่นเริ่มกลับมาในฤดูหนาวที่อากาศปิดในเดือน ธ.ค. 2563-ก.พ. 2564
          ห้ามรถบรรทุกเข้ากรุง
          กทม.เตรียมการรับมือ 3 ระดับ ได้แก่ 1.ค่าฝุ่นไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เช่น ห้ามรถยนต์บรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป วิ่งเข้าพื้นที่ กทม.ช่วงเวลา 06.00-21.00 น. ให้วิ่งได้ถึงถนนกาญจนาภิเษก ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2563-28 ก.พ. 2564 รอการพิจารณาจากกองบังคับการตำรวจจราจร จากปัจจุบันให้วิ่งเข้าได้ในช่วงเร่งด่วนเช้าและเย็น แต่ประกาศใหม่จะห้ามตลอดเวลา
          "อยู่ที่ตำรวจจะออกประกาศคุมทั้งพื้นที่ หรือแยกเป็นพื้นที่ รอผลวันที่ 18 พ.ย.นี้ ที่ตำรวจประชุม เพราะมีสภาอุตสาหกรรมฯไม่เห็นด้วย"
          นอกจากนี้จะมีการกำกับดูแลไซต์ก่อสร้าง เช่น ให้ล้างพื้นที่ ล้อรถบรรทุก ฉีดพ่นละอองน้ำงดกิจกรรมกลางแจ้งในโรงเรียนเฉพาะเด็กเล็ก, ติดเครื่องตรวจวัดฝุ่นใน 20 สวนสาธารณะ
          จ่อปิดไซต์ก่อสร้าง-โรงเรียน
          2.ค่าฝุ่นระดับ 51-75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เช่น ปิดการเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. จำนวน 437 แห่ง ไม่เกิน 3 วัน/ครั้ง, ห้ามจอดรถริมถนนสายหลักสายรอง, ให้รถเก็บขนมูลฝอยให้เสร็จก่อนตี 4, และ 3.ค่าฝุ่นระดับ 76-100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เช่น หยุดการก่อสร้างอาคารและรถไฟฟ้า 5-7 วัน, ปิดการเรียนไม่เกิน 15 วัน/ครั้ง, ให้บุคลากรของ กทม.เหลื่อมเวลาทำงาน และงดใช้รถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น
          คมนาคมประชุมด่วน
          แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า วันที่ 16 พ.ย.นี้จะมีประชุมเรื่องฝุ่น PM 2.5 มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นประธาน มีติดตามการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา และมีข้อเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา โดยมาตรการระยะสั้นปี 2563-2564 เช่น บำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสภาพรถ ปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน แก้ปัญหารถติด ลดฝุ่น, มาตรการระยะกลางปี 2565-2569 เช่น ส่งเสริมขนส่งสาธารณะ เพิ่มจุดจอดรถ เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นพลังงานสะอาด มาตรการภาษี จำกัดการใช้รถเก่า และมาตรการระยะยาวปี 2570-2575 เช่น บังคับมาตรการทางภาษี จำกัดการเดินทาง ห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่ เป็นต้น
          แหล่งข่าวจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า กรมจะลดอายุรถที่ตรวจ สภาพรถครั้งแรกโดย ตรอ. ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาให้ โดยแนะว่าควรลดจำนวนปีรถจะตรวจสภาพครั้งแรก จากเดิมอายุ 7 ปี เหลือ 5 ปี
          โอดสูญรายได้ 100 ล้าน/วัน
          นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. คัดค้านออกนโยบายห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้า กทม. เวลา 06.00-21.00 น. เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด กทม.ชี้แจงว่า คำสั่งยังไม่ได้บังคับใช้ ต้องรอกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) พิจารณาออกคำสั่งในส่วนของตำรวจจราจรก่อน
          "รถบรรทุกบนถนนมี 30,000-40,000 คัน/วัน หรือคิดเป็น 2% จาก 5-6 ล้านคัน/วัน ขอ กทม.คุมรถยนต์ดีกว่า เพราะผู้ประกอบการจะสูญเสียรายได้วันละ 100 ล้านบาท และเกิดภาวะสินค้าตกค้างที่ท่าเรือคลองเตยไม่น้อยกว่า 2,000 ตู้ วันที่ 16 พ.ย.นี้ ตำรวจจราจรนัดสมาคมไปหารือแล้ว"
          สหพันธ์ขนส่งฯค้าน
          นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาของภาครัฐที่ไม่ตรงจุด ซ้ำยังเป็นการสร้างปัญหาใหม่ ทำให้จราจรติดขัดมากขึ้นอีก ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีมากขึ้น เนื่องจากทางหลวงหมายเลข 9 ก่อนถึงสุวรรณภูมิ-รังสิต-วังน้อย เป็นการข้ามจากภาคตะวันออกไปภาคใต้ และภาคตะวันตกเข้ามาในกรุงเทพฯ เมื่อไม่ให้ใช้วงแหวนเข้าเมือง แน่นอนว่ารถต้องติดหนัก
          "หากประกาศแล้วส่งผลกระทบต่อการสัญจรก็คงต้องร้องเรียน ผมพูดมาหลายครั้งแล้วว่า การห้ามรถใหญ่วิ่งนั้นไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ว่าเราห่วงเรื่องต้นทุนผู้ประกอบการจะเพิ่ม แต่การออกประกาศจะทำให้รถยิ่งติด ฝุ่นจะยิ่งเพิ่ม"
          สรท.เดือดร้อน
          นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สรท.ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนส่งเข้าเขตพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ในเวลา 06.00-21.00 น. เพราะจะกระทบต่อการขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออก ที่ต้องขนส่งผ่านกรุงเทพฯชั้นใน เพื่อไปขึ้นเรือ ณ ท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งแต่ละเดือนมีปริมาณกว่า 30,000 ตู้ หากประกาศห้าม 3 เดือนเท่ากับกระทบ 1 แสนตู้สินค้า ผู้ประกอบการอาจเสียเวลาและมีต้นทุนเพิ่มขึ้น
          "จากเดิม 24 ชม.อาจขนส่งได้ 2-3 เที่ยว หากประกาศห้าม รถต้องจอดค้างคืนในรอบนอก เมื่อส่งเสร็จก็อาจกลับไม่ทันเวลาที่กำหนด ซึ่ง 24 ชม.อาจวิ่งได้แค่ 1 เที่ยว หรือต่ำกว่านั้น ระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศ ทางเอกชนมองว่ากระทบแน่นอน ในแง่ที่ต้องเปลี่ยนบรรทุกไปใช้รถยนต์ขนาดเล็กแทน ซึ่งต้องใช้รถจำนวนมากขึ้น ต้นทุนก็เพิ่ม เช่น เดิมบรรทุก 1 คัน ก็อาจต้องใช้รถยนต์แทน 6 คัน

 pageview  1210908    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved