Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 11/02/2564 ]
วัคซีนไทยใกล้สำเร็จ เริ่มทดลองในคนมี.ค.-พ.ค.นี้

 วัคซีนไทยใกล้สำเร็จเริ่มทดลองในคนมี.ค.-พ.ค.นี้
          ผู้จัดการรายวัน360 - "อนุทิน" เผยองค์การเภสัชกรรมเตรียมทดสอบวัคซีนโควิด-19 "NDV-HXP-S" ในมนุษย์ ระยะที่ 1 กับอาสาสมัคร 210 คน ช่วงเดือน มี.ค.นี้ และระยะที่ 2 เม.ย.-พ.ค. อาสาสมัครอีก 250 คน เพื่อประเมินความปลอดภัยและความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกัน หลังประสบความสำเร็จ กระตุ้นภูมิคุ้มกันดีจากการทดลองในสัตว์ พร้อมเตรียมขึ้นทะเบียนวัคซีนจากจีน ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 157 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย
          ผู้จัดการรายวัน360 - "อนุทิน" เผยองค์การเภสัชกรรมเตรียมทดสอบวัคซีนโควิด-19 "NDV-HXP-S" ในมนุษย์ ระยะที่ 1 กับอาสาสมัคร 210 คนช่วงเดือน มี.ค. นี้ และระยะที่ 2 เม.ย.-พ.ค. อาสาสมัครอีก 250 คน เพื่อประเมินความปลอดภัยและความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกัน หลังประสบความสำเร็จ กระตุ้นภูมิคุ้มกันดีจากการทดลองในสัตว์  พร้อมเตรียมขึ้นทะเบียนวัคซีนจากจีน ศบค. เผยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 157 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย
          วานนี้ (10 ก.พ.) องค์การเภสัชกรรม (จีพีโอ) กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยมหิดล แถลงผลวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 "NDV LaSota-S Hexapro COVID-19 vaccine (NDVHXP-S)" ชนิดเชื้อตาย ด้วยเทคโนโลยีฟักในไข่ไก่ ที่เตรียมศึกษาวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 1 เดือนมีนาคม 2564 หากเสร็จสิ้นกระบวนทุกอย่าง และขึ้นทะเบียนตำรับกับทาง อย. คาดจะสามารถผลิตวัคซีนได้ถึงปีละประมาณ 25-30 ล้านโดส
          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เปิดเผยถึงความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีนจากเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก โดยองค์การเภสัชกรรม (จีพีโอ) ซึ่งปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตวัคซีนหลายชนิด รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกแสดงให้เห็นว่าปริมาณวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ทั่วโลกในปี 2019 จำนวนกว่า 1.48 พันล้านโดส กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยเทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ฟัก ซึ่งมีความปลอดภัยสูง มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพที่ดีเช่นเดียวกับการผลิตด้วยเทคโนโลยีอื่น และเป็นไปตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก
          ทั้งนี้ การพัฒนาวัคซีนโดยเทคโนโลยีใช้ไข่ไก่ฟัก พบมีบริษัทอื่นในต่างประเทศใช้สำหรับผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยเช่นกัน เมื่อ เสร็จสิ้นกระบวนการพัฒนาวัคซีนทั้ง 3 ระยะ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนตำรับ (Rolling Submissions) กับทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคาดจะสามารถผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศได้ประมาณ 25-30 ล้านโดสต่อปี รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยใช้เทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ฟักนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางของการสร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนของไทย
          "หากในอนาคตวัคซีนได้ผลดี เป็นที่ต้องการมาก เชื่อว่าจะสามารถขยายกำลังการผลิตได้ โดยอาจจะมีภาคีเครือข่ายมาให้การสนับสนุนเพิ่มเติมด้วย ซึ่งความก้าวหน้านี้สะท้อนว่าไทยไม่ได้ขี่ม้าตัวเดียว แต่มีการพัฒนาถึงขั้นเป็นเจ้าของคอกม้าร่วมกับคนไทยทุกคน โดยมีเป้าหมายจะผลิตวัคซีนเพื่อให้ประเทศปลอดภัย รวมทั้งยังสามารถดูแลประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศอื่นๆ ที่ต้องการวัคซีนอีกด้วย" นายอนุทิน กล่าว
          นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การฯ ได้ส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 NDV-HXP-S ไปทำการทดสอบความเป็นพิษในหนู ที่ประเทศอินเดีย พบวัคซีนมีความปลอดภัย และทดสอบประสิทธิภาพ (Challenge study) ในหนูแฮมสเตอร์ (Hamsters) ที่ประเทศสหรัฐฯ โดยผลเบื้องต้นพบวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สอดคล้องกับผลการศึกษาความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ที่วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาได้ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์
          ด้าน ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าศูนย์วัคซีน และหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 กล่าวว่า วัคซีน NDV-HXP-S ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยมี ข้อดี คือ เป็นการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟักที่ จีพีโอ มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจัดเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศา ซึ่งเป็นองศาที่มีความเสถียรค่อนข้างสูง ที่สำคัญคือการผลิตวัคซีนนี้ ใช้เชื้อไวรัสที่ไม่ก่อโรคในคน และก่อโรคน้อยมากในนก เรียกว่าไวรัสนิวคาสเซิล พร้อมกับใส่ชิ้นส่วนโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) และใส่สารโปรตีน อะมิโนแอซิด เพื่อให้มีความคงที่ เสถียร และมีภูมิคุ้มกันที่กว้างขึ้น ต่อสายพันธุ์ที่จะมีการกลายพันธุ์ในอนาคต
          สำหรับการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 จะเริ่มมีการทดสอบในเดือนมีนาคม จำนวนอาสาสมัคร 210 คนและระยะที่ 2 ประมาณเดือนเมษายนพฤษภาคม ในอาสาสมัครอีก 250 คน โดยในการศึกษาระยะที่ 1 และ 2 จะเป็นการประเมินความปลอดภัยความทนทานและความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีน ทั้งนี้คาดว่าในปี 2565 จะสามารถเริ่มการยื่นขอรับทะเบียนตำรับ และจะทำการผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่โรงงานผลิต(วัคซีน) ชีววัตถุ ขององค์การฯ ที่ จ.สระบุรี ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีเทคโนโลยีไข่ไก่ฟักที่ใช้ผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว พร้อมปรับมาใช้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ทันที
          นพ.วีรพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ กล่าวเสริมว่า การทดสอบวัคซีน NDV-HXP-S ในระยะที่ 1 และ 2 จะทดสอบในอาสาสมัครที่เป็นคนไทย เพื่อผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการแบ่งการทดสอบในกลุ่มอาสาสมัคร 3 ระยะ ในระยะที่ 1 กลุ่มอาสาสมัครจะได้รับวัคซีน ในกลุ่มวัคซีนหลอก และวัคซีนจริง และในบางกลุ่มที่จะการฉีดสารเสริมเร่งวัคซีน เพื่อประเมินประสิทธิภาพ และคัดเลือกกลุ่มที่ดีที่สุดเข้าสู่การทดลองระยะที่ 2 ในส่วนระยะที่ 3 หากในประเทศมีจำนวนผู้ป่วยน้อย ก็อาจต้องมีการทดสอบในต่างประเทศ
          นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมถึง การนำเข้าวัคซีน Sinovac ของบริษัท Sinovac Biotech ประเทศจีน ว่า หลังจากได้จัดหาวัคซีนจำนวนทั้งสิ้น 63 ล้านโดสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดส่งที่เป็นไปตามเงื่อนไข เพื่อมาทำการฉีดให้กับประชาชนไทยและคนกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ในส่วนของวัคซีน Sinovac จากประเทศจีนที่ได้มีการสั่งซื้อจำนวน 2 ล้านโดส จะแบ่งการจัดส่งเป็นภายในปลายเดือน ก.พ. ล็อตแรก 2 แสนโดส หลังจากมีการตรวจคุณภาพ ตรวจสูตรการผลิตเรียบร้อย ซึ่ง อย. จะเร่งขึ้นทะเบียนวัคซีนดังกล่าวให้ทันก่อนจะมาถึงไทย โดยเบื้องต้นได้รับข้อมูลเอกสารการผลิตวัคซีน Sinovac จากผู้ผลิตประเทศจีนที่ได้มีการขึ้นทะเบียนการใช้วัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็จะเริ่มฉีดภายในต้นเดือน มี.ค. ไป พร้อมกับมีการจัดส่งเพิ่มอีก 8 แสนโดส และในเดือน เม.ย.อีก 1 ล้านโดส
          หลังจากนั้น ภายในปลายเดือนพ.ค.-มิ.ย. 64 วัคซีนจากแอสตร้า เซนเนก้า ที่ผลิตร่วมกับสยามไบโอ ไซเอนซ์ ในประเทศไทยจะเริ่มทยอยส่งล็อตแรก 26 ล้านโดส ดังนั้น เมื่อดูจากตารางเวลาการจัดส่งวัคซีนนั้นมีความต่อเนื่องกัน จึงอยากให้ประชาชนไว้วางใจในการจัดหาวัคซีน ซึ่งทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แน่นอน
          ไทยพบติดเชื้อโควิดเพิ่ม 157 ราย
          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 157 ราย ส่วนผู้ป่วยมีการรักษาหายเพิ่ม 548 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 23,903 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 21,329 ราย ผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มอีก 548 ราย รวมเป็น 18,914 ราย กำลังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 4,909 ราย ราย โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสม อยู่ที่ 80 ราย.

 pageview  1210888    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved