Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 10/02/2564 ]
แนะวัยรุ่น เซฟเซ็กส์ ไม่ยุ่งของมึนเมา ปลูกฝังเพศสร้างเกราะป้องกันตั้งแต่เด็ก

  กรุงเทพธุรกิจ   ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.)ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา เนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ หัวข้อ "เด็กของเรา... เรื่องเหล้าเรื่องเพศ" กิจกรรมเนื่องใน วันวาเลนไทน์เตือนสติวัยรุ่นเซฟเซ็กส์รักตัวเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวของมึนเมา แนะปลูกฝังเรียนรู้เรื่องเพศสร้างเกราะป้องกันตั้งแต่วัยเด็ก
          ประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC : United Nations Office on Drugs and Crime) พบว่ากว่า 87% ของคดีการล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน เพื่อหาผู้กระทำผิดหรือ ให้ทางการรับรู้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่ม สูงขึ้นถึง 66% ภาคใต้ มีความรุนแรงในครอบครัวถึงร้อยละ 48.1 และกรุงเทพฯ พบความรุนแรงในครอบครัว น้อยที่สุด ร้อยละ 26 ซึ่งปัจจัย ที่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ รายได้ของครอบครัว และการใช้สารเสพติด  เช่น สุรา บุหรี่ เป็นต้น
          พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิต13 กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ค่านิยมวาเลนไทน์มักจะมีเรื่องเลิฟกับเซ็กส์เข้ามาเกี่ยวข้อง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเซ็กส์เพิ่มมากขึ้นคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ การดูแลตัวเอง การยับยั้งชั่งใจลดลง ทำให้ตกไปอยู่ ในสถานการณ์ที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ เกิดมี เพศสัมพันธ์ ซึ่งผลกระทบตามมามากมาย ทั้ง ติดเชื้อ ท้องไม่พร้อม จากสถิติพบว่า คนที่ตั้งครรภ์ ไม่พร้อมมักจะดื่มเหล้าตั้งแต่อายุยังน้อย  ยิ่งเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีคนดื่มเหล้า ทำให้ ได้เห็นพฤติกรรมการดื่ม ยิ่งทำให้เกิดความเคยชิน เมื่ออายุ 18 ปี จะรู้สึกว่าโตแล้ว ดื่มเหล้าได้แล้ว
          "วัยรุ่นมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นชัดเจน สิ่งที่เขามักใช้แก้ไขปัญหาคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นการจัดการควรทำร่วมกันทุกภาคส่วน ควรให้เด็กมีความเข้มแข็งทางจิตใจ เชื่อมั่นในตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง เวลาเจอปัญหาสามารถจัดการได้ ซึ่งครอบครัวมีส่วนสำคัญในการสนับสนุน การให้เวลาพูดคุย ชื่นชม ปรับทุกข์ ส่วนชุมชน โรงเรียน ต้องเข้มแข็ง มีระบบดูแลช่วยเหลือเฝ้าระวัง สำหรับวาเลนไทน์ปีนี้อยากเตือนวัยรุ่นทุกคนว่า อย่าเอาตัวไปอยู่ในจุดที่เสี่ยง สถานที่ลับตาคน ฝึกปฏิเสธให้เป็น ต้องรู้จักเซฟเซ็กส์และไม่ควรมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปยุ่งเกี่ยว"พญ.วิมลรัตน์กล่าว
          สิรินยา  บิชอฟหรือซินดี้ ดารานักแสดง  กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นแม่ลูกสองมีประสบการณ์การเลี้ยงลูกให้เข้าใจเรื่องเพศตนเห็นว่าสังคม ยังมีสื่อที่สอนเกี่ยวกับเรื่องเพศสำหรับเด็กน้อยมาก  จึงได้ศึกษาและเขียนหนังสือเด็กนำเสนอในรูปแบบ การ์ตูนที่พูดถึงสิทธิในร่างกายของตัวเอง สอนให้เรียนรู้เรื่องร่างกาย เคารพตัวเอง เข้าใจในสิทธิของร่างกายตัวเองและเคารพสิทธิทางร่างกายของคนอื่นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย หนังสือเล่มนี้ ถือเป็นเครื่องมือในการพูดคุยกับลูกตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้เขาดูแลความปลอดภัยของเขาได้ ถ้าพ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกเข้าใจการเคารพสิทธิของคนอื่นตั้งแต่เด็ก จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงหรือแก้ปัญหาไปได้ โดยเฉพาะการลดปัญหา การไปทำร้ายคนอื่น
          ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันว่าจะพูดคุย อย่างไรให้เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่ง ของความเจริญเติบโตของคน หลายคนอาจจะมองว่าอยากให้ลูกปลอดภัย แต่ไม่มีการให้ความรู้ ทักษะเบื้องต้นในเรื่องเพศของพวกเขา และถ้าไปรอจนกระทั่งวัยรุ่น อาจจะไม่ทันการณ์ ต้องมีการพูดคุยเรื่องเพศตั้งแต่เด็ก
          "สิ่งที่พ่อแม่สอนเรื่องเพศ เป็นการสอน เพศศึกษาและอยากให้พ่อแม่ทุกคนพูดคุย กับลูก อย่าอายที่จะพูดคุยเรื่องเพศและเรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวทางร่างกาย โดยไม่ต้องรอ ให้เป็นหน้าที่ของครูหรือหมอ พ่อแม่ต้องปรับ ตัวเอง ค่อยๆ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในครอบครัว หากพ่อแม่ไม่รู้ อย่าปัดลูกหรือปฎิเสธว่า ลูกไม่ควรรู้ แต่ให้ไปหาข้อมูลมาพูดคุยกับลูก" ซินดี้ กล่าว
          จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิ หญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เรื่องความรัก เรื่องเพศ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีความสัมพันธ์และไปด้วยกัน  ความรุนแรงมีหลายกรณีมาจาก การดื่มเหล้า ใช้เป็นเครื่องมือนำไปสู่การถูกคุกคามทางเพศ ถูกข่มขืนโดยผู้ชายที่ใช้อำนาจเหนือกว่าเป็นคนกำหนดสะท้อนจากการรวบรวมข่าวความรุนแรงทางเพศทางปี 62 พบถึง 9 ข่าว กรณีที่แฟน/อดีตแฟน ใช้การบังคับและหลอกไปข่มขืน ปัจจัยกระตุ้นมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น สิ่งที่อยากเสนอให้เป็นทางออกคือ ต้องมี หลักสูตรให้ความรู้ รณรงค์เกี่ยวกับความเท่าเทียม ทางเพศ การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้และต้องให้ความสำคัญ ควรมีหลักสูตร ทุกระดับ ตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยม มหาวิทยาลัยตลอดจนในครอบครัวก็ต้องสร้างการเรียนรู้ในเรื่องนี้ด้วย
          "การเรียนหลักสูตรเพศศึกษาในระดับประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษายังไม่ได้มีความ ชัดเจนอย่างจริงจัง อีกทั้งครอบครัวก็มองว่าพูดเรื่องเพศไม่ได้ แต่สื่อละครต่างๆ ก็ยังมีการทำมายาคติเกี่ยวกับเรื่องเพศ การข่มขืนเป็นเรื่องปกติ ทำให้เพศชายมีความคิดว่าตนเองมีอำนาจเหนือกว่าและผู้หญิงหากเป็นแฟนใครแล้วต้องยอม ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่และเป็นรากเหง้าของปัญหา ทุกทุกฝ่ายต้องเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด ปรับโครงสร้างต้องไม่ทำให้ชายเป็นใหญ่ ทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องเท่ากัน ทั้งหญิงชาย" จะเด็จ กล่าวทิ้งท้าย
          ขณะที่ เอ (นามสมมติ) อายุ 32 ปี กล่าวว่า จากประสบการณ์ชีวิตการเป็นคุณแม่ วัยรุ่นอายุ 18 ปี คบกับแฟนเจอกันในร้านเหล้าเกเรไม่เรียนต่อหางานรับจ้างรายวันทำ พอเลิกงาน ก็ดื่มเหล้ากับแฟนเมาหลังเลิกงานทุกวันทะเลาะกับคนข้างบ้านประจำใช้ชีวิตแบบนั้นมาตลอด รู้ตัวอีกทีก็ตั้งครรภ์ได้ 2-3 เดือนถึงมาหยุดดื่ม ส่วนแฟนเริ่มไม่ใส่ใจดูแลไม่ทำงานเอาแต่เมาเหล้าหาเรื่องทะเลาะตบตีทุกวันหลังจากคลอดลูกได้ไม่นาน ก็เลิกลากันไปเพราะทนพฤติกรรมทำร้ายร่างกายไม่ไหว
          "ชีวิตแม่วัยรุ่น กว่าจะผ่านมาได้มันยากลำบากมาก นอนร้องไห้ทุกวันต้องทำงานทุกอย่างทั้งเป็นรปภ. ทำงานกระเป๋ารถเมล์ ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกเพราะพฤติกรรม การดื่มทำให้เขาเป็นเด็กสมาธิสั้น พัฒนาการช้า ทุกเดือนต้องไปโรงพยาบาลเพื่อรับยาอย่างต่อเนื่องตอนนี้เราเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ทำทุกอย่างเพื่อลูกอยากฝากถึงวัยรุ่นให้มีสติ รักตัวเอง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหล้า ยา และอบายมุขเพราะมันทำลายชีวิตทำลายอนาคตเราจริงๆ" เอ (นามสมมติ) กล่าว

 pageview  1210888    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved