Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 11/03/2564 ]
มะเร็งรักษาได้ทุกที่ เชื่อมต่อหน่วยบริการปลดเปลื้องความทุกข์ ปชช.

 ความทุกข์ระทมของผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิด คือ ความยากลำบากในการรอคอยการรักษา ซึ่งระยะเวลาที่ทอดยาวออกไป หมายถึง ประสิทธิภาพของการรักษาที่ค่อยๆ ลดลง
          ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ให้สิทธิประโยชน์ในการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดฟรี! หากแต่ก็ยังมีอุปสรรคของการเข้ารับบริการ นั่นคือ การเดินทางไกลจากชนบทเข้าสู่ตัวเมือง หรือจากต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพมหานคร
          มากไปกว่านั้น ด้วยโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก แทบทุกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษา จึงตกอยู่ในสถานการณ์ผู้ป่วยหนาแน่น แออัด รอคิวนาน
          กว่าจะมีการนัดหมายเพื่อให้เข้าไปรับยาเคมี-ฉายแสงด้วยรังสีรักษา บางรายนานหลายเดือน
          ทว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นมา ความทุกข์ระทมของผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากเริ่มได้รับการคลี่คลาย การประกาศนโยบาย "โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม" หรือ Cancer Anywhere ของ "นายอนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบบริการสำหรับรักษาโรคมะเร็งในผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง
          นโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม นอกจากจะมีการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่อเนื่องโดย "ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแล้ว" ยังเปิดช่องให้โรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ สามารถชักชวนโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาเป็น "เครือข่าย" การรักษาได้อีกด้วย
          นั่นหมายถึง จำนวนหน่วยบริการที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการลดความหนาแน่น และลดระยะเวลาการรอคิวได้อย่างมหาศาล
          ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การจัดบริการของเขตสุขภาพที่ 6 จ.ชลบุรี ซึ่งโรงพยาบาลใหญ่อย่าง "โรงพยาบาล (รพ.) มะเร็งชลบุรี" ได้ทำการเชื่อมต่อการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือเอ็มโอยู (MOU) ร่วมกับ "รพ.วิภาราม อมตะนคร"
          "นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์" ผู้อำนวยการ รพ.มะเร็งชลบุรี บอกเล่าถึงสถานการณ์ผู้ป่วยมะเร็งว่า เดิมผู้ป่วยที่ต้องใช้รังสีรักษาในเขตสุขภาพที่ 6 มีประมาณปีละ 3,000 ราย ขณะที่ รพ.มะเร็งชลบุรี มีเครื่องฉายแสง 3 เครื่อง ขีดความสามารถทั้งปี สามารถฉายแสงได้ประมาณ 1,800 ราย จึงมีผู้ป่วยอีกราว 1,200 ราย จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาที่กรุงเทพฯ
          นพ.อัครฐานกล่าวว่า สำหรับผู้ที่รักษาตัวอยู่ที่ รพ.มะเร็งชลบุรี ด้วยข้อจำกัดข้างต้น ทำให้อาจต้องใช้เวลารอคอยการรักษาถึง 8 สัปดาห์ ทั้งที่ปกติไม่ควรเกิน 6 สัปดาห์ นั่นทำให้ทางโรงพยาบาลต้องมองหาวิธีการระบายผู้ป่วยไปยังภาคเอกชน เมื่อมีโครงการโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ซึ่งเปิดช่องให้สามารถทำได้ ทางโรงพยาบาลจึงได้ประสานความร่วมมือและจัดทำเอ็มโอยู ร่วมกับ รพ.วิภาราม อมตะนคร เพื่อให้บริการร่วมกันเป็นเครือข่าย ผลปรากฏว่าสามารถทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงรังสีรักษาได้อย่างทันเวลาตามที่กำหนดไว้
          "ปัจจุบันผู้ป่วยเป็นมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัย หรือกำลังวินิจฉัยนั้น สามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ทุกที่ในโรงพยาบาลร่วมโครงการ โดยจะมีการส่งต่อผ่านระบบเดอะ วัน (The ONE) ซึ่งเป็นโปรแกรมบันทึกข้อมูลประวัติการรักษา จองคิวการรักษา ที่พัฒนาขึ้นโดยกรมการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว และถือเป็นมิติใหม่ของทางการแพทย์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ยกระดับบัตรทองให้ผู้ป่วยสามารถรักษาได้ทุกที่อย่างแท้จริง" ผู้อำนวยการ รพ.มะเร็งชลบุรี ระบุ
          ด้าน "นนทชพร จันทร์เงียบ" บุตรสาวของ ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด เล่าว่า มารดาเคยรับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ คนแน่น และได้รับการปฏิบัติที่ไม่ค่อยดี ในอดีตคิดว่า เป็นเพราะมารดาใช้สิทธิบัตรทองซึ่งเป็นการรักษาฟรี จึงต้องยอมรับสภาพ และมารดาก็เป็นทุกข์อย่างมากถึงขนาดไม่อยากรับการรักษาอีกต่อไป
          "ขณะที่เราไม่มีทางออก ก็ได้ฟังวิทยุว่า นโยบายยกระดับบัตรทอง โรคมะเร็งรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2564 เลยรีบหาข้อมูลเพิ่มเติม และโทรศัพท์ไปยัง รพ.มะเร็งชลบุรี ทันที เมื่อเจ้าหน้าที่รับสาย แนะนำ แล้วก็บอกว่าให้ไปจองคิวนัดในวันพรุ่งนี้ได้เลย ตอนนั้นรู้สึกตกใจมากว่า ทำไมง่ายขนาดนี้" เธอเล่านนทชพรบอกอีกว่า เมื่อไปถึง รพ.มะเร็งชลบุรี เจ้าหน้าที่ทุกคนให้การต้อนรับดีมาก มารดาก็อยากรักษาที่โรงพยาบาลนี้ตลอดไป จึงได้กลับไปขอใบส่งตัวมาจาก รพ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามภูมิลำเนา เมื่อกลับมาอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ รพ.มะเร็งชลบุรี บอกว่าไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแล้วนะ ใช้บัตรประชาชนใบเดียวก็พอ
          "เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็ได้แต่คิดว่าเราจะทำอย่างไงต่อ เงินเราก็ไม่มี มันตันไปหมด หาหนทางไม่ได้ แต่พอมาถึงวันนี้ ทุกอย่างกลับดีกว่าเดิมขึ้นมาก ดีชนิดที่ว่าไม่เคยคิดเลยว่าบัตรทอง หรือ 30 บาท จะสามารถได้รับบริการดีได้ขนาดนี้" นนทชพรระบุ
          "นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา" เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงผู้ป่วยโรคมะเร็งว่า ถ้าได้รับการวินิจฉัยและเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก็ดีขึ้นเร็วตามลำดับ
          "ที่ผ่านมา จะเคยเห็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเร็ว แต่รักษาช้า ตรงนี้นอกจากจะกระทบต่อร่างกายแล้ว ยังตามมาด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ขณะที่โรงพยาบาลก็มีความยากลำบาก เนื่องจากมีภาระงานเพิ่มขึ้น ฉะนั้น โครงการโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อมจะมาเป็นที่พึ่งของผู้ป่วย และช่วยไม่ให้ผู้ป่วยต้องล้มละลายจากการรักษาผมคิดว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยพยายามทำให้เกิดขึ้น ด้วยความร่วมมือ
          จากทุกภาคส่วน สำหรับเอกชนจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีทรัพยากร ก็พยายามจะนำทรัพยากรในส่วนนี้มาใช้ นั่นเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และต่อจากนี้ไป สปสช.จะพัฒนาระบบนี้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นในกลุ่มโรคอื่นๆ ด้วย" นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว อนึ่ง นโยบาย "โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม" เริ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 เมื่อผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง และมีสิทธิในระบบบัตรทอง จะสามารถเลือกเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพรักษา ภายใต้การตัดสินใจร่วมกับแพทย์ โดยจะเป็นการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว
          ทั้งนี้ สธ.ได้จัดเตรียมระบบบริการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต โดยปรับระบบบริการให้สอดคล้องกับบริบท ศักยภาพ และทรัพยากรที่มีในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรองรับนโยบาย ขณะที่ สปสช.จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการจัดบริการ

 pageview  1210886    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved