Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 26/04/2564 ]
ตั้งเป้าฉีด5หมื่นโดสต่อวัน

 ภาคเอกชนเร่งหาพื้นที่ชงบิ๊กตู่สู้โควิด28เม.ย.พิษรอบ3โอนบ้านฮวบ
          'บิ๊กตู่'นัดถก กกร. 28 เม.ย. รับมือโควิด ฟื้นฟู ศก. 'จุรินทร์' ยันภูเก็ตรับต่างชาติ 1 ก.ค. ธุรกิจสปาเจ็บหนักพิษโควิดปิดถาวรแล้ว 70%
          'บิ๊กตู่'ถกเอกชน28เม.ย.
          เมื่อวันที่ 25 เมษายน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก
          หนังสือพิมพ์มติชนรายวันรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงโดยเร็ว พร้อมเร่งกำหนดมาตรการรับมือผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจ วันที่ 28 เมษายนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เชิญภาคเอกชน อาทิ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง มาประชุมหารือแนวทางจัดหาและกระจายวัคซีนของเอกชน ภายหลังเอกชนแสดงความประสงค์จัดหาวัคซีนร่วมกับรัฐ เพื่อกระจายสู่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน
          หารือรับมือโควิด-ฟื้นฟูศก.
          น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจะหารือการรับมือผลกระทบและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชนและประชาชน เพื่อนำมาแก้ไขสถานการณ์ ผลการหารือครั้งนี้ จะมีส่วนนำไปกำหนดมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ต่อไป หลังจากสถานการณ์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่การจะออกมาตรการใดนั้น จะต้องพิจารณารอบด้าน ให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด สาระสำคัญการประชุมร่วมกันครั้งนี้ คือการนำข้อมูล ข้อเสนอแนะไปพิจารณาเป็นแนวทางรับมือผลกระทบ การเยียวยาประชาชน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีรับทราบและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค การดูแลรักษาพยาบาล และช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้รับผลกระทบ รัฐบาลเตรียมงบประมาณกว่า 3.8 แสนล้านบาท สำหรับการเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ จะมีทั้งโครงการกระตุ้นการใช้จ่าย กระตุ้นการบริโภค รวมถึงการลงทุนก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินทุกพื้นที่ ดังนั้น ขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอ และจะดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด
          'จุรินทร์'ยันภูเก็ตรับต่างชาติ1กค.
          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะรอง นายกฯกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน กล่าวถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกใหม่ ต่อกำหนดการเปิด จ.ภูเก็ต เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยววันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ว่าก่อนหน้านี้ตนได้ประชุมแนวทางการเตรียมเปิดเมืองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของจังหวัดภูเก็ต เพื่อฟื้นฟูจังหวัดร่วมกับจังหวัดและภาคเอกชนในภูเก็ต มีความเห็นร่วมกัน 5 แนวทาง อาทิ การส่งเสริมไทยเที่ยวไทยอย่างเข้มข้น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-1 กรกฎาคมนี้, การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากร 3 กลุ่มในภูเก็ตให้ครบถ้วนภายในเดือนมิถุนายนนี้ คือ ประชาชน ผู้มาทำงานในภูเก็ต และแรงงานต่างด้าว, การเดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวภูเก็ตอย่างเข้มข้น และการจัดกิจกรรมลดค่าครองชีพในภูเก็ต เป็นต้น
          "แม้การระบาดรอบใหม่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวภูเก็ต แต่รัฐบาลพยายามหาช่องทางปรับเปลี่ยนแนวทาง เปิดโอกาสการท่องเที่ยว 2 ทาง คือการให้คนไทยท่องเที่ยวในไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ และรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ผมยังมั่นใจว่าการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมานับหนึ่งได้ เมื่อฉีดวัคซีนทั่วถึง และเป็นไปตามเป้า ขณะที่มาตรการการป้องกันได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกฝ่าย เมื่อสัญญาณผู้ติดเชื้อลดลง การท่องเที่ยวก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้" นายจุรินทร์กล่าว
          เมื่อถามว่า แผนการเปิดภูเก็ต เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า ยังไม่มีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง ขณะนี้ภูเก็ตอยู่ระหว่างการเร่งฉีดวัคซีน เพื่อรองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามา สามารถเร่งฉีดวัคซีนได้ตามเป้า 100,000 โดส มีความคืบหน้ามาก
          หอค้าจี้รบ.เร่งหาวัคซีนมากขึ้นอีก
          นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงแผนของการเร่งฉีดวัคซีนป้องเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ภาคเอกชนร่วมมือกับทางภาครัฐว่า ในส่วนของภาคเอกชนจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ 1.ส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่จะจัดซื้อวัคซีนต่อจากรัฐบาล เพื่อมาจัดจำหน่ายเป็นวัคซีนทางเลือกฉีดให้กับประชาชนทั่วไป ที่มีกำลังทรัพย์และไม่อยากจะรอรับการฉีดวัคซีนจากภาครัฐ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลของจำนวนความต้องการวัคซีน
          นางกอบกาญจน์กล่าวว่า ส่วนที่ 2 คือ การฉีดให้บุคลากรในภาคเอกชน โดยภาคเอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองตามความสมัครใจของแต่ละองค์กรและบริษัท ขณะนี้มีความต้องการแล้วประมาณ 2 ล้านโดส ที่รวมทั้งจะฉีดให้บุคลากรของโรงพยาบาลเอกชนด้วย นอกจากนี้ยังมีส่วนของภาครัฐอีกจำนวน 50-60 ล้านโดส
          นางกอบกาญจน์กล่าวว่า การจัดซื้อวัคซีนจะเป็นยี่ห้อไหนบ้าง ในหลักการคือแต่ละภาคส่วนจัดซื้อวัคซีนมาจากคนละแหล่ง คนละยี่ห้อกัน ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้มีข้อสรุปชัดเจน คณะกรรมการจัดหาวัคซีนอยู่ระหว่างการทำแผน จึงยังไม่แน่ใจว่าจะซื้อยี่ห้อไหน และยังไม่สามารถสรุปยอดอย่างเป็นทางการว่าจะต้องใช้อีกจำนวนเท่าไร สัดส่วนเท่าไร "คณะกรรมการมีการประชุมเรื่องดังกล่าวกันอยู่ตลอดเวลา ทำงานกันอย่างต่อเนื่อง เพราะข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดมีผลต่อการจัดทำแผน โดยหลังจากคณะกรรมการได้จัดทำข้อสรุปเรียบร้อยจะเสนอความคืบหน้าของแผนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบ ในที่ประชุมนายกฯพบปะเจรจากับภาคเอกชนตามนัดหมายในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นจะนำเสนอหลักการของแผนการจัดซื้อและเร่งการฉีดวัคซีน ซึ่งจำนวนวัคซีน 50-60 ล้านโดส รวมกับของเอกชนนั้น ถือว่ายังไม่เพียงพอ อยากให้รัฐบาลเร่งผลักดันการเพิ่มจำนวนการจัดหาวัคซีนเพิ่มขึ้นอีก ภาคเอกชนพยายามติดตามอยู่ตลอดว่ามีวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ มาเพิ่มเติมมากกว่าที่ได้ยินอยู่ในปัจจุบันนี้หรือไม่ เพื่อให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น" นาง กอบกาญจน์กล่าว
          ช่วยหาที่ฉีดวัคซีน5หมื่นโดส/วัน
          นางกอบกาญจน์กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งของแผนงานที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผนโดยตรงคือ การร่วมมือระหว่างหอการค้ากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการประสานงานเพื่อหาสถานที่รองรับการฉีดวัคซีนของสำหรับประชาชนทั่วไป ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้ได้ส่งสรุปไปให้ทาง กทม. รับรู้ความคืบหน้าเรื่อยๆ และ กทม.ตอบกลับมาว่าใช้จุดไหนได้หรือไม่ได้ ซึ่งจะมีข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา ถามว่าปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนไหม ตอบได้ว่ามี แต่อยู่จำนวนหลักพันรายเท่านั้น เนื่องจากจำนวนสถานที่ยังไม่มาก และจำนวนวัคซีนยังน้อง ตามแผนที่ร่วมมือกับกทม.ตั้งเป้าเดือนมิถุนายนนี้จะฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 5 หมื่นโดส หลังจากที่มีการ นำเข้าวัคซีนล็อตใหญ่เข้ามาในไทย
          "จำเป็นต้องจัดหาสถานที่รองรับคนจำนวนมากที่รับการฉีดวัคซีน 5 หมื่นโดสต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงจากความแออัด เพราะแต่ละคนต้องใช้เวลานานในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีน ต้องมีการพักเพื่อดูอาการและผลข้างเคียงหลังจากฉีดด้วย รวมทั้งต้องมีการจัดการเรื่องข้อมูล ต้องทำการประสานและเชื่อมโยงข้อมูลกันทุกจุดบริการ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของข้อมูลการใช้บริการ รวมทั้งแนวคิดการจัดการระบบรอคิวเข้าใช้บริการ ประชาชนที่มาจะได้ไม่ต้องรอนาน และมาแออัดในสถานที่บริการ นอกจากนี้ จะต้องทำข้อมูลการนัดผู้ใช้บริการมารับการฉีดรอบที่สอง และก็มีการจัดทำใบรับรองการเข้ารับฉีควัคซีนแล้วหรือ พาสปอร์ตวัคซีนด้วยในจุดบริการเลย" นางกอบกาญจน์กล่าว
          รายงานข่าวระบุว่า ในแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 แบ่งเป็น ส่วนของเอกชนที่จะฉีดให้กับบุคลากร ประมาณ 1 ล้านโดส ส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่จะเปิดเป็นวัคซีนทางเลือกสำหรับประชาชนทั่วไปอีก 10 ล้านโดส ในขณะที่ภาครัฐจัดหาได้แล้ว 24 ล้านโดส และอยู่ระหว่างที่ภาครัฐกำลังเจรจาอีก 35 ล้านโดส
          เล็งแก้พ.ร.บ.จัดซื้อกระทุ้งเบิกจ่าย
          นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมกำลังพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ครั้งใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาและลดอุปสรรคในการทำโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ พร้อมกับเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ซึ่งมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เร่งดำเนินงานแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วน หลังจากที่ผ่านมา การใช้ระเบียบ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ฉบับปัจจุบัน มีอุปสรรคหลายประเด็นจนกระทบให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างล่าช้า
          "ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรมบัญชีกลาง อาทิ กองการพัสดุภาครัฐ กองความร่วมมือและความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กองระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและราคากลาง เร่งรวบรวมข้อมูลเรื่องอุปสรรคปัญหา ทุกด้าน ทุกประเด็น และหาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขเพื่อยกร่างการแก้ไข พ.ร.บ.อย่างเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาแม้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง จะมีข้อดีอยู่หลายเรื่อง แต่ในข้อที่เป็นอุปสรรคก็ต้องมีการปรับปรุงเช่นกัน เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างทำได้คล่องตัว มีประสิทธิภาพ และเกิดความโปร่งใส" นายประภาศกล่าว และว่า เรื่องใหญ่ที่มีการปรับปรุง เช่น การวางระเบียบเรื่องการอุทธรณ์และร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน จากที่ผ่านมาได้เกิดการร้องเรียนเรื่องที่ไม่มีมูล หรือร้องเรียนเพื่อกลั่นแกล้งจำนวนมาก ทำให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างหลายโครงการไม่สามารถเดินหน้าได้ และกระทบให้การเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้น ระเบียบใหม่จะกำหนดบทลงโทษเพิ่ม หากพิจารณาพบว่าการร้องเรียนเป็นเรื่องที่ไม่มีมูล หรือมีเจตนาเพื่อประวิงเวลา กลั่นแกล้งคู่แข่ง จะต้องมีบทลงโทษเสียค่าปรับ รวมถึงอาจถูกขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าร่วมรับงานประมูลของภาครัฐ ซึ่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯปัจจุบันไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้
          อุตฯอาหารลุ้นส่งออกแตะ1ล้านล.
          นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปและประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แม้ไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่แต่ภาพรวมการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น คาดว่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ส่งผลให้การบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นมั่นใจว่าในปี 2564 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะเติบโตได้ประมาณ 5-7% หรือมีมูลค่าประมาณ 1,000,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่การส่งออกอาหารมีมูลค่าอยู่ที่ 980,703 ล้านบาท ลดลง 4.1% จากปี 2562
          นายวิศิษฐ์กล่าวว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดของสินค้าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์โควิด-19 อาทิ 1.ขนาดบรรจุหรือปริมาณสินค้าอาหารมีแนวโน้มลดลงเพื่อตอบสนองผู้บริโภคระดับครัวเรือนมากกว่าภาคธุรกิจห้าง ร้าน โรงแรม ที่ชะลอตัวลงตามทิศทางเศรษฐกิจ 2.อาหารไม่แพงแต่ตอบโจทย์โภชนาการที่ดีตามทิศทางเศรษฐกิจ ทั้งอาหารพื้นฐานจากโปรตีนและพืชที่ทำเป็นเนื้อสัตว์ที่หลายประเทศกำลังนิยมเพื่อมุ่งใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กำลังเป็นเทรนด์มาแรง และ 3.ผลไม้เพื่อการบริโภคในบ้านที่เติบโตค่อนข้างมากโดยเฉพาะตลาดเอเชีย
          กนอ.กระตุ้นลงทุนช่วงโควิด
          ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. ได้วางนโยบายดำเนินงานรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะสานต่องานเดิมที่วางไว้ แต่จะปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ เร่งหาแนวทางการดึงดูดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งมาตรการการตลาดและมาตรการเชิงรุกออกไปหารือกับนักลงทุนโดยตรง ทั้งนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังต้องเร่งสานต่อนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ได้แก่ โครงการสมาร์ท ปาร์ค โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 เป็น 2 โครงการหลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และผลักดันนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (เอสอีแซด) ได้แก่ นิคมฯ สระแก้ว นิคมฯ สงขลา เร่งดึงดูดการลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้เศรษฐกิจดี จ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดการส่งออกสินค้าชายแดนเพิ่มสูงขึ้นด้วย
          นายวีริศกล่าวว่า รวมทั้งดำเนินการตามแผนลดความเสี่ยงในทุกด้านที่จะกระทบต่อการดำเนินกิจการในนิคมฯ ของ กนอ. โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำและพลังงาน ให้เพียงพอทั้งในปัจจุบันและอนาคต แนวทางเหล่านี้บางส่วน กนอ.ดำเนินการจะเร่งผลักดันเต็มที่ แต่บางมาตรการอาจต้องใช้เงินลงทุนสูงจึงมีแผนร่วมมือกับบริษัทพันธมิตรที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำเข้ามาร่วมลงทุน นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า โดยจะเร่งจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอในระยะยาว
          ธุรกิจสปาเจ็บหนักปิดถาวรแล้ว70%
          นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย เปิดเผยว่า จากประกาศของกรุงเทพมหานคร ใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ จำนวน 31 แห่ง อาทิ โรงภาพยนตร์ สวนสนุก พิพิธภัณฑ์ รวมถึงสถานประกอบการนวดแผนไทยนวดเท้า มีผลบังคับใช้ 14 วัน นับตั้งแต่ วันที่ 26 เมษายนนี้เป็นต้นไป เบื้องต้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินและคาดไว้แล้วว่าจะออกมาในรูปแบบนี้แน่นอน เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ที่เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาให้ได้ก่อน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้ธุรกิจนวดสปาต้องปิดตัวลงเพิ่มอีก โดยในปัจจุบันธุรกิจนวดสปาสามารถประกอบธุรกิจต่อได้เพียง 20% เท่านั้น จากจำนวนผู้ประกอบการในระบบกว่า 9,000 ราย ส่วนอีก 80% ที่ปิดตัวลงนั้นประเมินว่าเป็นการปิดตัวชั่วคราว 10% ส่วนอีก 70% ปิดถาวรเรียบร้อย เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปกว่า 1 ปีแล้ว ทำให้เมื่อลูกค้าไม่มี เปิดร้านแล้วรายได้ไม่เข้า ก็ต้องจำใจปิดตัวลง โดยคาดว่าหากครบ 14 วันตามประกาศสั่งล็อกดาวน์แล้วสถานการณ์การระบาดยังไม่ดีขึ้น น่าจะได้เห็นภาพธุรกิจสปาปิดตัวลงอีก เหลือเพียง 10% จากทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่ มีสายป่านยาว อาทิ มีสินค้าเฉพาะตัวที่จำหน่ายแยกย่อยเพิ่มเติมจากบริการนวดสปา แต่หากเป็นร้านนวดสปาเพียงอย่างเดียวคงไปต่อลำบาก
          นายกรดกล่าวว่า ตั้งแต่การระบาดรอบแรกจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่มีมาตรการออกมาช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจนวดสปา หรือได้อานิสงส์เชิงบวกจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอื่นๆ ของรัฐบาลทั้งสิ้น แม้ธุรกิจนวดสปาจะได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ก็ตาม จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการออกมาเยียวยาด้านการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นรายเล็กจริงๆ เพราะมีจำนวนมากในธุรกิจรวม ส่วนมาตรการอื่นๆ ของรัฐบาลก็อยากให้พิจารณาเพื่อเปิดช่องให้ธุรกิจนวสปามีส่วนร่วมด้วย อาทิ มาตรการคนละครึ่ง หากจะมีออกมาใหม่ก็อยากให้อนุมัติใช้บริการนวดสปาได้ด้วย และการช่วยเหลือของสำนักงานประกันสังคมในการจ่ายค่าจ้างพนักงานที่ถูเลิกจ้าง เพราะสถานประกอบการปิดตัวลงชั่วคราว ผ่านการสมทบเงินเดือนให้ 70% อีก 30% นายจ้างจ่ายเอง เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน
          ยังไม่มีแผนกู้เงินเพิ่ม1ล้านล.
          นางแพรติเซีย มงคลวณิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวกระทรวงการคลังเตรียมกู้ฉุกเฉินเยียวยาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ อีก 1 ล้านล้านบาทว่า สบน.ยังไม่ทราบเกี่ยวกับนโยบายการกู้เงินดังกล่าว แต่ปัจจุบันพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ยังมีเหลืออยู่และสามารถใช้ได้จนถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม หากจะจัดทำแผนกู้เงินเพิ่มจะต้องทำในกรณีมีความจำเป็น ไม่มีงบประมาณเหลือใช้แล้ว รวมถึงต้องรู้ว่าจะกู้เงินนำไปใช้ทำอะไร มีวัตถุประสงค์ในการกู้ที่ชัดเจน
          นางแพรติเซียกล่าวว่า นอกจากนี้ จะต้องมีการหารือในคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขยายกรอบเพดานการก่อหนี้สาธารณะตามกรอบวินัยการเงินการคลังด้วย เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะในสิ้นปีงบประมาณนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 57-58% ต่อผลิตภัณฑ์มวลประเทศ (จีดีพี) แต่หากจะกู้เพิ่มขึ้น หนี้สาธารณะก็อาจสูงเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตาม หนี้สาธารณะของไทยที่ทยอยปรับสูงขึ้นนั้น เป็นทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นทั่วโลก ซึ่งทุกประเทศได้ก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายดูแลแก้ปัญหาโควิด-19
          นางแพรติเซียกล่าวว่า ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น สบน.ได้กู้เงินแล้ว 6.6 แสนล้านบาท จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินแล้วกว่า 7 แสนล้านบาท และในกระเป๋ายังมีวงเงินจากการกู้มาเหลืออยู่ 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการจ่ายเงินในโครงการเราชนะ ซึ่งภายในเดือนเมษายนนี้ สบน.มีแผนจะกู้เงินอีก 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) เพื่อมาใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ตามมติ ครม.ด้วย

 pageview  1210871    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved