Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 26/03/2555 ]
คอลัมน์ รู้ทันโรค: โฟกัสสุขภาพชาวออฟฟิศ

สุขภาพจะดีได้ไม่ว่าวัยไหนก็จำเป็นต้องดูแลสุขภาพอนามัยขั้นพื้นฐาน เริ่มตั้งแต่การทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ไม่เครียด ทำจิตใจให้สดใส ผ่อนคลาย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้ ยังต้องหลีกเลี่ยงอบายมุขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
          นอกจากการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแล้ว หากโฟกัสไปที่ "วัยทำงาน" โดยเฉพาะหนุ่มสาวชาวออฟฟิศ คนจำนวนไม่น้อยอาจกำลังเผชิญกับ "Offce syndrome" โรคฮิตคนเมืองที่แสดงออกด้วยอาการปวดสารพัดรูปแบบอย่างแน่นอน
          สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ก็เพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้มนุษย์ต้องเข้ามาเกี่ยวพันกับเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ้ค บางคนนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เกือบทั้งวันไม่ต่ำกว่าวันละ 6 ชั่วโมง โดยแทบจะไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ ยกเว้นช่วงทานข้าว และเข้าห้องน้ำเท่านั้น
          พฤติกรรมดังกล่าวทำให้เกิดอาการปวดต่างๆ ตามมา เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ปวดสะบัก ปวดหลัง ปวดหัว เกิดความเมื่อยล้า ปวดกระบอกตา ตาพร่า ชามือ ชาเท้า ฯลฯ ตลอดจนอาการเมื่อยล้าเรื้อรัง บางคนอาจคิดว่าอาการเหล่านี้เป็นเพียงความเครียด เกิดขึ้นแล้วก็คงหายไป  อย่างไรก็ตามเมื่อไปตรวจรักษาอาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอื่น เช่น ไมเกรน กระดูกคอเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะโรค "Offce syndrome" มีอาการคล้ายกับโรคอื่นๆ ที่มีอาการปวดได้บ่อยนั่นเอง
          เมื่อมีอาการดังที่ได้เล่ามา หากไปตรวจรักษาแล้วไม่หาย หรือมีอาการปวด และอ่อนเพลียเรื้อรัง เหล่ามนุษย์ออฟฟิศอาจเป็นโรคนี้ และน่าจะถึงเวลาที่ต้องรีบทำการรักษา
          สำหรับการดูแลรักษาโรค Offce syndrome นั้นจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาวให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแต่ละคน เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สภาพร่างกาย และจิตใจควบคู่กันไป ซึ่งใครๆ ก็สามารถทำได้หากเข้าใจและเริ่มปฏิบัติอย่างจริงจัง เช่น เคยนั่งนานๆ เมื่อเริ่มปวดเมื่อยก็ถือโอกาสลุกขึ้นเดินยืดแข้งยืดขา บิดขี้เกียจ หรือนั่งบนเก้าอี้แล้วยืดขาออกไปให้สุด แล้วเอนตัวไปข้างหลังยืดกล้ามเนื้อเป็นระยะขณะทำงาน ใช้นิ้วนวดเบาๆ บริเวณที่เกิดอาการปวด พักฟังเพลงเบาๆ เพื่อผ่อนคลาย หลับตานิ่งๆ สักพัก หรือถ้ามีโอกาสมองสีเขียวๆ จากต้นไม้ใบหญ้าก็เป็นวิธีที่ดีไม่น้อย
          อย่างไรก็ตามหากมีอาการเรื้อรังเนื่องจากไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสภาพจิตใจที่เกิดความเครียดลงได้จำเป็นต้องรักษา ซึ่งสามารถทำได้โดย การนวด ฝังเข็ม ทานยาลดปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาลดการอักเสบ ซึ่งจริงๆ แล้วยังไม่ใช่การรักษาที่ต้นเหตุ ทางที่ดีคือต้องปรับเปลี่ยนทั้งตัวเองและสภาพแวดล้อมในระยะยาว เริ่มจากสภาพร่างกาย ที่ต้องเริ่มจากการผ่อนคลายอิริยาบถ หาเวลาออกกำลังกายเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น การเล่นโยคะ การวิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก หาเวลาพักผ่อนด้วยกิจกรรมที่ตัวเองชอบ เช่น ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง เดินทางท่องเที่ยวตามโอกาส เป็นต้น ถ้าหากทำได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เชื่อว่าอาการปวดเมื่อยต่างๆ น่าจะหายไป หน้าตาสดใส ทำงานได้สบายขึ้น ซึ่งจะเห็นผลในระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน
          แต่หากยังไม่ดีขึ้นลองมองสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน แล้วจัดการเปลี่ยนแปลง เช่น แสงไฟไม่เหมาะสม เก้าอี้นั่งไม่สบาย โต๊ะทำงานเตี้ยหรือสูงเกินไป หรือวางไม่ถูกหลัก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ทั้งนายจ้างและคนทำงานเองจะต้องใส่ใจเพราะประสิทธิภาพการทำงานจะดีได้ ต้องมาจากปัจจัยต่างๆที่เหมาะสม
          และหากอาการยังไม่ดีขึ้นอีก ควรพิจารณาแล้วล่ะว่า คุณทำงานหนักเกินไปหรือเปล่า ทำงานเกินกำลังหรือไม่ หรือมีความเครียดที่เกิดจากการทำงานซ่อนอยู่จนคุณสลัดมันออกมาไม่ได้ เมื่อถึงตรงนี้คุณจะต้องปรับสมดุลระหว่างงานและสุขภาพ เพราะหากคุณเลือกทำงานมากจนเกินไป ไม่แน่ว่า คุณอาจต้องอยู่กับโรค Offce syndrome ไปอีกนาน ที่สำคัญยังเสี่ยงต่อโรคร้ายอื่นๆ ที่แฝงมาในช่วงที่ร่างกายคุณอ่อนล้าอีกด้วย
          7 โรคร้ายของวัยทำงาน
          นอกจาก Offce syndrome ซึ่งมนุษย์ออฟฟิศต้องเผชิญแล้ว ยังมีโรคอื่นๆ ที่คุณคาดไม่ถึง
          1) โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคฮิตติดอันดับที่พบบ่อยๆ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่พบว่า 1 ใน 5 เคยเป็นโรคนี้ และส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเพียงครั้งเดียวแต่ถ้าเป็นแล้วเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นอีกถึงร้อยละ 80 สาเหตุสำคัญคือ รักษาความสะอาดไม่ดี ดื่มน้ำน้อย กลั้นปัสสาวะ ชอบนั่งอยู่กับที่นานๆ ท้องผูกหรือท้องเสียบ่อยๆ เบาหวาน และภูมิคุ้มกันต่ำ
          2) โรคปวดหัวไมเกรน โรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นซ้ำซาก เป็นแล้วมักไม่หายขาด มักเกิดจากการเครียดจัด พบบ่อย 1 ใน 4 ของวัยทำงาน ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคก็คือ ความเครียดทางกายหรือใจ เช่น พักผ่อนน้อย ทำงานหนัก ภูมิแพ้ นอนไม่หลับ สูบบุหรี่ เป็นต้น
          3) โรคนิ้วล็อก พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-6 เท่า ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 40-60 ปี มักเป็นกับมือที่ถนัดและใช้งานบ่อย นิ้วที่เป็นมักเป็นนิ้วหัวแม่มือ นิ้วนาง กลาง และก้อย ส่วนใหญ่มักเป็นนิ้วเดียว สาเหตุมักเกิดจากการใช้มือบ่อยๆ เช่น พิมพ์งานทั้งวัน ถือของหนัก ซักผ้า เกี่ยวข้าว กำของระหว่างทำงาน หรืออาจจะเกี่ยวกับโรคเรื้อรังอย่างเกาต์ เบาหวาน หรือรูมาตอยด์ก็ได้ 4) โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคสมัยใหม่ที่เกี่ยวกับความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตที่คนไทยเป็นกันมากขึ้น อาการที่สำคัญคือปวดแสบปวดร้อนบริเวณเต้านมด้านซ้าย  จุกคอหอยเหมือนมีเสมหะตลอดเวลา อาหารไม่ย่อย คล้ายเป็นโรคกระเพาะ การป้องกันคือกินมื้อเย็นให้น้อย และกินก่อนนอน 2-3 ชั่วโมง ไม่เครียด งดเหล้า ชา กาแฟ
          5) โรคริดสีดวงทวารหนัก เราคงคุ้นเคยโรคริดสีดวงทวารในวลี "นั่งไม่ได้เพราะลมมันเย็น" เพราะถ้าเป็นโรคนี้ แล้วจะทำให้ปวดและอักเสบรุนแรง มักเกิดจากการทานอาหารไม่เป็นเวลา ทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกาย เครียด และนั่งอยู่กับที่เป็นประจำ นอกจากนี้คนที่เสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้นมักพบว่าเป็นความดันโลหิตสูง เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคไต และโรคปอด เป็นต้น
          6) โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนอาการที่เด่นๆ คือ มีอาการปวดคลังและร้าวลงมาที่ขา หรือเกิดอาการปวดจนต้องตื่นขึ้นมากลสงดึก ปวดจนเดือนไม่ได้ สาเหตุคือการทำงานที่ต้องก้มหรือโค้งตัวไปด้านหน้า ยก แบก หรือหิ้วของหนักเป็นส่วนใหญ่ น้ำหนักมาก ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้ร่างกายผิดท่า
          7)  โรคภูมิแพ้ หอบหืด ในปัจจุบันคนเป็นโรคนี้ ประมาณ 10 ล้านคน เนื่องจากภาวะมลพิษและสารเคมีนานาชนิดในปัจจุบันไปทำปฏิกิริยากับภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เกิดการอาการแพ้ขึ้น ซึ่งแต่ละคนจะมีปฏิกิริยามากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อมและความแข็งแรงของภูมิคุ้มกัน หลีกเลี่ยงได้โดยไม่ไปสัมผัสกับสิ่งที่ร่างกายแพ้

 pageview  1210899    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved