Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 23/04/2555 ]
'น้ำพริกปลาทู' ตัวช่วย 'ผู้สูงวัย' สุขภาพดี

  สุมาลี  ตั้งประดับกุล
          ความก้าวหน้าทางการแพทย์และการสาธารณสุข ส่งผลให้ประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีอายุโดยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ประมาณการว่าในอีก 15-20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากปัจจุบัน 7 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน เป็นการส่งสัญญาณถึงภาครัฐและผู้เกี่ยวข้อง ในการกำหนดแผนและนโยบายเพื่อการบริหาร และการบริการส่งเสริมคุณภาพชีวิตแก่ผู้สูงวัย
          ด้วยข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้นักวิจัยไทย เกิดการรวมกลุ่มศึกษาวิจัยภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ในรูปแบบบูรณาการ ที่มองภาพรวมในมิติต่างๆ อาทิ ด้านโภชนาการ ด้านการแพทย์ สุขอนามัย ด้านสิ่งเอื้ออำนวยความสะดวกปลอดภัย ด้านสังคม รวมทั้งด้านนโยบายสาธารณะ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ
อย่างเรื่องของอาหาร ใครว่าไม่สำคัญ

          กลุ่ม นักวิจัยด้านสังคมผู้สูงวัย ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ที่เน้นการศึกษาด้านโภชนาการในผู้สูงวัย จากนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับอาหารที่มีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีสารอาหารที่มีคุณค่าตามท้องถิ่น โดยงานวิจัยจะลงในรายละเอียดที่สอดคล้องกับภาวะสุขภาพของผู้สูงวัยเหล่านั้นด้วย
          อย่างไรก็ตาม หากจะมองกลุ่มประชากร ผู้สูงวัยที่มีสุขภาวะปกติ ไม่มีโรคประจำตัว หรือจะเน้นการสร้างสุขภาวะที่ดี ตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย จะมีกลุ่มนักวิจัยด้านอาหาร ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ที่เน้นศึกษาอาหารเป็นยา ซึ่งสามารถบูรณาการองค์ความรู้การวิจัยร่วมกันได้ ทำให้งานวิจัยเกิดประโยชน์ที่ใช้ได้จริง
          ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.กมล เลิศรัตน์ หัวหน้าเครือข่ายกลุ่มวิจัยสินค้าอาหารและอาหารสุขภาพของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง "อาหารเป็นยา เส้นทางสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขของคนไทยอย่างยั่งยืน" เล่าว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีข้อมูลหลายประการบ่งชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในยุคโลกาภิวัตน์ ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในทุกส่วนประกอบของสายโซ่อาหาร
          นับแต่รูปแบบของการเกษตร การแปรรูป การตลาด ชนิดของอาหาร และพฤติกรรม ของผู้บริโภค เป็นที่มาของการเกิด ภาวะน้ำหนักเกิน (Overweight) และ โรคอ้วน (Obesity)
          สาเหตุสำคัญมาจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ บริโภคอาหารให้พลังงานสูง อาหารประเภทหวาน มัน และเค็มเพิ่มขึ้น บริโภคผักและผลไม้น้อย ทั้งยังขาดการออกกำลังกาย มีภาวะความเครียดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม
          โรคอ้วน ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Chronic Diseases) หรือ โรควิถีชีวิต ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกพรุน และโรคมะเร็งบางชนิด
          โรควิถีชีวิตดังกล่าวได้ระบาดจากประเทศพัฒนาแล้วมาสู่ประเทศกำลังพัฒนารวม ทั้งประเทศไทยด้วย นอกจากจะให้ผลเสียโดยตรงต่อสุขภาพ ยังเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
          ผลคือ ทำให้การมีชีวิตของมนุษย์ที่ยืนยาวขึ้น แต่อยู่อย่างไม่เป็นสุข
          แนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การแก้ไขทั้งปัญหาสุขภาพ และส่งเสริมการเกษตรไทยคือ การสร้างนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพ เน้นใช้อาหารเป็นยา โดยใช้งานวิจัย-พัฒนาอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารไทยเพื่อสุขภาพเป็นแกนนำงานวิจัยและพัฒนาประเทศ
          ที่สำคัญคือ ให้เอกลักษณ์เฉพาะที่เหมาะต่อยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อความอยู่รอดในการแข่งขัน เนื่องจากอาหารไทยมีความหลากหลาย
          ตัวอย่างเช่น แกงแค แกงอ่อม แกงส้ม แกงเหลือง แกงเขียวหวาน แกงมัสมั่น ยำใหญ่ ส้มตำ และผัดไทย เป็นต้น ปรุงจากพืชพื้นเมืองที่มีทั้งผัก ผลไม้ ไม้ยืนต้น เครื่องเทศ และสมุนไพร
          นอกจากนี้ พืชที่ใช้เป็นส่วนประกอบอาหาร ทั้งเครื่องปรุงและเครื่องเคียงบางชนิด และตัวอาหารบางตำรับก็ได้มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า มีสารพฤกษเคมีสูง มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระและออกฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์หรือสารก่อมะเร็ง จึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังดังกล่าวข้างต้น
          สำหรับเมนูแนะนำที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ รศ.ดร.กมล แนะนำ "น้ำพริกปลาทู แกงส้ม ยำใหญ่" หรือ "ส้มตำ ข้าวก่ำ"ถ้าเป็นเมนูจานเดี่ยว แนะนำ "ผัดไทยวุ้นเส้นห่อไข่" และ "ผลไม้ตามฤดูกาล"ส่วนรายละเอียดลึกๆ เกี่ยวกับอาหารโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัยนั้น วันที่ 30 เมษายน ในการประชุมสุดยอดมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติครั้งที่ 1 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา 13.30-15.00 น. ตั้งเป็นเวทีเสวนา มี ศ.นพ.สุรัตน์ โคมินทร์ รศ.ดร.กมล เลิศรัตน์ และตัวแทนจากมูลนิธิโรงพยาบาลอภัยภูเบศร มาเล่าและตอบข้อซักถามทุกข้อ ดำเนินรายการโดย ศ.ดร.อารันต์ พัฒโนทัย
          ไม่เพียงแค่เรื่องของโภชนาการ ที่จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล ประธาน กลุ่มวิจัยผู้สูงวัย ยังจะมาอธิบายถึงโครงการน่าสนใจอื่นๆ คือ กลุ่มดูแลสุขภาพผู้สูงวัย มีการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทางการแพทย์ที่เหมาะกับการรักษา เช่น การนำไหมไทยมาสร้างเป็นเนื้อเยื่อกระดูก ฯลฯ
          กลุ่มดูแลผู้สูงวัยในสังคม เช่น ปัญหาการถูกทอดทิ้ง และยังมีอีกกลุ่มสุดท้ายที่เน้นศึกษา นวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากเทคโนโลยี ซึ่งจะไปสอดคล้องกับกลุ่มวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีโดยการพัฒนาเครื่องตรวจจับการหกล้มของผู้สูงวัยเพื่อการป้องกันได้ทันท่วงที รวมทั้งเครื่องเตือนกินยา ฯลฯ
          จะเห็นได้ว่างานวิจัยที่เกิดจากองค์ความรู้ที่พัฒนาจากคนไทยเอง จะสามารถนำมาสู่การแก้ปัญหาที่เกิดภายในประชากรไทยด้วยกันได้อย่างถูกต้อง ตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม และทรัพยากรที่มีอยู่
          โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติเป็นรอยต่ออีกก้าวหนึ่งของการวิจัยในประเทศที่เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายงานวิจัยที่สามารถสร้างผลงานที่ใช้ได้จริงต่อไป

 pageview  1210908    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved