Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 02/10/2563 ]
ปัดเล่นมือถือ-หน้าเบี้ยว ชี้เส้นประสาทอักเสบติดเชื้อไวรัส

  นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์เปิดเผยว่า จากกรณีที่คุณพ่อรายหนึ่งออกมาเตือน เนื่องจากเลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์มือถือและปล่อยให้เล่นตลอดเวลาติดโทรศัพท์ จึงทำให้ลูกเกิดอาการ ปากเบี้ยว
          อาการปากเบี้ยวหรือหน้าเบี้ยวครึ่งซีกคือภาวะที่กล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง หรือเกิดอัมพาตชั่วขณะ โดยมีสาเหตุมาจากการอักเสบของเส้นประสาทบนใบหน้าส่งผลให้หน้าเบี้ยวครึ่งซีก เป็นผลมาจากเส้นประสาทใบหน้าหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งอยู่ตรงใบหน้าแต่ละข้างทำหน้าที่รองรับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าเช่น ยิ้ม ทำหน้าบึ้ง หรือหลับตารวมทั้งรับรสจากลิ้นและส่งต่อไปยังสมองเกิดการอักเสบ ส่งผลต่อการรับรส การผลิตน้ำตา และต่อมน้ำลาย ปากเบี้ยวถือเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นทันที และมักจะเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง
          นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณใบหน้า ครึ่งซีก ทำให้หน้าเบี้ยว หลับตาไม่สนิท ปากเบี้ยว มีน้ำไหลที่มุมปากและอาจพูดไม่ชัด การรับรสที่ลิ้นผิดปกติ ปวดศีรษะ หูได้ยินเสียงดังขึ้นข้างเดียว ดื่มน้ำลำบาก ทั้งนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดการอักเสบของเส้นประสาทดังกล่าว แต่อาจมีแนวโน้มมาจากการ ติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดภาวะปากเบี้ยว ได้แก่ โรคงูสวัด เป็นต้น ดังนั้น การพักผ่อนน้อย หรือการเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ จึงไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอัมพาต ครึ่งซีก
          นพ.ธนินทร์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เด็กที่อยู่ในวัยเจริญเติบโตควรได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อมีอาการเพื่อ รีบรักษา ซึ่งการรักษาอาการปากเบี้ยวประกอบด้วยการรักษาด้วยยา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่าเดิม
          การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น กระตุ้นเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้าหรือนวดใบหน้า จะช่วยลดภาวะกล้ามเนื้อตึงเกร็ง และการผ่าตัดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
          อย่างไรก็ตาม อาการปากเบี้ยวหรือหน้าเบี้ยวครึ่งซีกยังไม่มีวิธีการป้องกันที่ชัดเจน เนื่องจากสาเหตุเกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทใบหน้าที่มักจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง

 pageview  1210916    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved