Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 06/06/2555 ]
ชี่กง-ลมปราณ

เกี่ยวกับ "ชี่กง" เรื่องนี้มีความรู้จากศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปความได้ว่า ความเป็นมาของชี่กง หรือวิชาลมปราณ เกิดขึ้นเมื่อไรนั้น จนถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันโดยตรง อย่างไรก็ตาม ตามหนังสือประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่สุดคือซ่างซู เคยบันทึกไว้ว่า เมื่อ 4,000 กว่าปีก่อนยุคถั่งหยาว ภาคกลางของจีนเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ก็มีการใช้ "การรำ" เพื่อรักษา "อาการกล้ามเนื้อเส้นเอ็นหดเครียด"
          ครั้นถึงยุคอินซาง บรรพบุรุษ จีนได้สร้างปฏิทิน เครื่องมือที่ทำจากหินกระดูก จนเข้าสู่ยุคเครื่องมือสำริด การผลิตภาคการ เกษตรก้าวหน้าขึ้น ประชาชนก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ก้าว หน้าขึ้น มนุษย์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ทั้งสังเกตเห็นโครงสร้างส่วนต่างๆ ของร่างกาย เริ่มมีความรู้ความเข้าใจถึงโรคภัยไข้เจ็บบ้างแล้ว รวมถึงเริ่มมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยารักษาโรคในระดับหนึ่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นการวางพื้นฐานในการเกิดวิชาขับเคลื่อนลมปราณ หรือการรำ ที่คล้ายคลึงกับการฝึกขับลมปราณเพื่อความแข็งแกร่งของร่างกายในทุกวันนี้
          พอถึงยุคชุนชิว ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจต่อสังคมและธรรม ชาติลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เริ่มมีความกระตือรือร้นในการแสวงหากฎเกณฑ์การเกิด แก่ เจ็บ ตาย พร้อมกับวิธีบำรุงรักษาอนามัย วิธีการขับเคลื่อนลมปราณค่อยๆ เป็นที่นิยมใช้กัน
          ทั้งหมดล้วนแต่เป็นข้อมูลที่อุดมสมบูรณ์ต่อการพัฒนาทฤษฎีว่าด้วยวิชาขับเคลื่อนลมปราน กระทั่งยุคฉินฮั่น การแพทย์มีความก้าวหน้ามาก ส่งผลดีต่อการพัฒนาวิชาขับเคลื่อนลมปราณ นับเป็นยุคที่ชี่กงถูกนำมาปฏิบัติเข้มข้นมากขึ้น ไม่เพียงนำมาใช้เพื่อป้องกันการเกิดโรค ยังนำมาใช้รักษาโรคหลายชนิด นักบวชลัทธิเต๋า นายแพทย์ได้นำมาป้องกันรักษาโรค ผู้รู้บางคนนำมาใช้บำรุงร่างกาย
          ยุคหมิงชิง การฝึกชี่กงเพื่อบริหารร่างกายให้แข็งแกร่งแพร่หลาย เภสัชกรสำคัญของจีน หลี่สือเจิน ก็ได้พูดถึงปราณ คือช่องทางเดินของการฝึกขับเคลื่อนลมปราณ ขณะที่บางสำนักบรรยายถึงรายละเอียดของการฝึกขับเคลื่อนลมปราณ จวบจนมาถึงยุคใกล้ปัจจุบัน การพัฒนาของชี่กงแยกออกเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่เกิดสงครามฝิ่นใน ค.ศ.1840 ถึงการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนประมาณ 100 ปี ด้วยสาเหตุต่างๆ การพัฒนาชี่กงอยู่ในสภาพชะงักงัน แต่หลังค.ศ.1949 ชี่กงพัฒนาค่อนข้างมากด้วยความเอาใจใส่ของรัฐบาล
          การพัฒนาชี่กงหลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 (ค.ศ.1949-1965) วิธีการรักษาโรคด้วยชี่กงได้รับการปรับปรุง ขุดค้นและเผยแพร่อย่างเต็มที่ วิธีการรักษาโรคแบ่งออกเป็นสายเหนือที่เมืองถังซาน เน้นการเดินลมปราณภายใน
          ส่วนสายใต้เน้นการเดินลมปราณเพื่อการผ่อนคลาย ในช่วงเวลา ดังกล่าว จีนก็ได้ขุดค้นและปรับปรุงวิธีรักษาโรคด้วยชี่กงที่มีผลการรักษาที่ชัดเจน เพื่อนำออกเผยแพร่ พร้อมกันนั้นก็มีความคืบหน้าในการศึกษาวิจัยผลการรักษาควบคู่ไปด้วย
          ช่วงที่ 2 (ค.ศ.1979-1996) เป็นช่วงที่เกิดความวุ่นวายในประเทศจีน กิจกรรมชี่กงถูกปิดตาย จนถึงหลังการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเต็มคณะครั้งที่ 3 สมัชชาใหญ่สมัยที่ 11 กิจกรรมชี่กงจึงได้รับการพื้นฟูและพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยปลายทศวรรษ 70 นักวิทยาศาสตร์จีนค้นคว้าวิจัยผลจากการฝึกลมปราณ ปูทางให้การดำเนินกิจกรรมชี่กงอยู่ในรูปการเคลื่อนไหวมวลชนและเกิดกระแสสูงในทศวรรษ 80 ส่งผลดีต่อการแพร่หลายในการเผยแพร่วิธีการรักษาโรคด้วยชี่กง รวมถึงการศึกษาชี่กงในเชิงลึกและการแลกเปลี่ยนวิชา การชี่กงระหว่างประเทศ แต่ก็ได้เกิดผลลบบางประการ เนื่องเพราะมีคนฉวยโอกาสหลอกลวงทรัพย์สิน โฆษณาชวนเชื่อให้เกิดความงมงาย หรือฉวยโอกาสจัดตั้งองค์กรผิดกฎหมาย เป็นภัยต่อความสงบเรียบ ร้อยทางสังคม
          ช่วงที่ 3 (ค.ศ.1996-ปัจจุบัน) ชี่กงได้เข้าสู่ขั้นตอนจัดระเบียบให้อยู่ในกรอบกฎหมายบ้านเมืองภายใต้การควบคุมดูแลการพัฒนาแบบสุขภาพสมบูรณ์ ในเดือนมิถุนายน ปี 2001 การกีฬาแห่งชาติจีนตั้ง "ศูนย์ควบคุมชี่กงเพื่อสุขภาพ" ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจกรรมชี่กงโดยเฉพาะ จัดระเบียบการดำเนินกิจกรรมชี่กงทั่วประเทศ จนถึงสิ้นปี 2004 ศูนย์จัดทำหลักสูตรการฝึกลมปราณเพื่อสุขภาพให้เป็นระบบ เช่น รำแบบสัตว์ 5 ชนิด ฝึกลมปราณตามหลัก ฝึกลมปราณตามเคล็ด 6 ตัวอักษร ฝึกลมปราณตามกระบวนท่า 8 ท่า เป็นต้น
 

 pageview  1210929    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved