Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 25/09/2555 ]
มหาภัยสวยสยอง..! จาก'กลูต้า'ถึง'คอลลาเจน'

เป็นข่าวที่สร้างความสะเทือนใจ สลดใจ รวมทั้งเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้คนในสังคมไทยยุคปัจจุบันไปพร้อมๆ กัน
          ภายหลังจาก "น้องกระแต" พริตตี้สาวต้องมากลายเป็น "เจ้าหญิงนิทรา" ช็อกไม่ได้สติ เพราะไปใช้บริการฉีดฟิลเลอร์สาร คอลลาเจนเสริมสะโพกกับ "หมอป๊อป" นายธนัช ณัชวีระกุล หมอเถื่อน อายุ 24 ปี ซึ่งล่าสุดถูกตำรวจนำตัวเข้ารับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายแล้ว
          อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับเช่นกันว่า พิษภัย จากการ "เสริมความงาม" ด้วยสารพัดสารเคมี-สารสังเคราะห์นั้น กลุ่มแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ โดยเฉพาะทางองค์การอาหารและยา หรือ "อย." ของไทย ก็ประกาศเตือนอยู่เป็นระยะๆ
          ในอดีตช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าภัยจากการอยากทำ "ผิวขาว" ด้วยวิธีฉีด หรือ รับประทาน "สารกลูต้าไธโอน" มีเสียงเตือนจากวงการแพทย์บ่อยมาก
          กระทั่งมาเกิดกรณี "น้องกระแต" ทำให้สังคมบ้านเราเกิดอาการตื่นตระหนกเกี่ยวกับมหันตภัยจากการเสริมความงามผิดธรรมชาติอีกครั้ง ซึ่งได้แต่ตั้งความหวังว่าน่าจะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ!
          จากข่าวคราวมัจจุราชความงามที่เกิดขึ้นล่าสุด นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการอย. ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า
          ที่ผ่านมา อย.เคยออกข่าวเตือนหญิงสาวหลายครั้งให้ระวังอันตรายจากการฉีดสาร จำพวกคอลลาเจน ฟิลเลอร์โบท็อกซ์ และสาร กลูต้าไธโอน เนื่องจากเป็นการนำสารดังกล่าวมาใช้อย่างไม่เหมาะสม
          รวมทั้งมีการตรวจสอบจับกุม "ผู้ลักลอบ" ฉีดสารข้างต้นโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่เป็นระยะๆ ต่อเนื่อง
          สันนิษฐานได้ว่า พริตตี้สาวรายนี้มีอาการแพ้รุนแรง ช็อก และหมดสติในที่สุด
          "อย. ขอชี้แจงว่า  ยาฉีดคอลลาเจนไม่เคยมีการรับขึ้นทะเบียนตำรับยา เป็นสารที่ยังไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัยเพื่อใช้สำหรับฉีด ซึ่งส่วนใหญ่ พบเป็นการลักลอบนำเข้ามาใช้และนำมาโฆษณาขายและฉีดในราคาถูก ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
          นพ.พิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับสารกลูต้า ไธโอน อย.ก็ไม่ได้รับขึ้นทะเบียน ตำรับยาเช่นกัน กรณีการนำสารกลูต้าไธโอนมาใช้เป็นยาฉีดทำให้ "ผิวขาว" ถือเป็นการใช้ในทางที่ผิด
          สารกลูต้าไธโอนไม่ได้มีข้อบ่งชี้ในการช่วยทำให้ผิวขาวใสขึ้นแต่อย่างใด  ทั้งยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ แพ้รุนแรง หลอดลมตีบ หายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ หากรักษาไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
          "หากผู้บริโภครายใดมีความประสงค์จะฉีดสารใดๆ เพื่อเสริมความงาม ควรเข้ารับบริการฉีดกับสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาลตามกฎหมาย หากเกิดอันตรายจากการแพ้ ทางสถานพยาบาลก็จะรับผิดชอบ และมีเครื่องมือทางการแพทย์พร้อมทั้งยาที่จะช่วยเหลือคนไข้ได้ทันท่วงที
          นอกจากนี้ ควรได้รับการฉีดจากแพทย์เฉพาะทางที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างผิวหนัง กายวิภาค เซลล์วิทยา เนื่องจากจะไม่ฉีดให้กระทบเส้นเลือดหรือเส้นประสาท และสามารถรู้ได้ว่าผู้มารับบริการควรได้รับยาฉีดปริมาณเท่าไหร่
          หากฉีดกับผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ หรือไม่ใช่แพทย์เฉพาะทาง อาจเสี่ยงต่อการฉีดผิดวิธี ทำอันตรายถึงชีวิตตามที่มีข่าวปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ
          เลขาฯ อย. เตือนด้วยความห่วงใยว่า ขอให้กรณีที่เกิดกับพริตตี้สาวรายนี้เป็นอุทาหรณ์ให้ผู้คิดจะ"ฉีดสารเสริมความงามเข้าสู่ร่างกาย" ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน
          ระมัดระวัง ไม่หลงคารมโฆษณาผลิต ภัณฑ์ราคาถูก และเห็นแก่ความสะดวกในการไปฉีดตามบ้าน ตามรถ ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่ไม่ใช่สถานพยาบาล
          ที่สำคัญ ควรสอบถามและขอดูตัวยาที่ใช้ว่ามีการอนุญาตขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพมาตรฐาน
          หากฉีดยากับบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ หรือใช้ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และสถานที่ฉีดยาไม่น่าเชื่อถือ ผลที่ได้อาจไม่คุ้ม นอกจากนั้นยังจะหาตัวผู้รับผิดชอบไม่ได้
          "หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย หรือโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงผ่านทางสื่อต่างๆ สามารถร้องเรียนมายังสายด่วนอย. โทร.1556"  นพ.พิพัฒน์ระบุ
          ด้าน พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์พรมณฑารัตน์ นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย อธิบายว่า
          "การศัลยกรรมหมาย" ถึงการผ่าตัด
          แต่หากเป็นการศัลยกรรมเพื่อความสวยงาม จะมีกระบวนการรักษาหลายรูปแบบ
          หลักๆ คือ ทายา กินยา ฉีดยา และผ่าตัดตกแต่ง
          โดยการทายาและกินยาถือว่ามีอันตรายน้อย นอกจากเกิดอาการแพ้ หรือกินติดต่อกันเป็นเวลานาน
          ส่วนการฉีดสารต่างๆ เข้าร่างกาย จะมีความอันตรายมากขึ้น เพราะสารจะเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจะยิ่งอันตรายมากขึ้น หากฉีดสารที่ไม่ได้รับอนุญาตจากอย. ซึ่งปัจจุบันพบว่าสารที่อย.อนุญาตให้ใช้ในการฉีดเพื่อศัลยกรรมตกแต่ง มีเพียง "ไฮยาลูโรนิก  แอซิด" (hyaluronic acid,  HA) หรือที่รู้จักว่าวิธีฟิลเลอร์ เพราะเป็นสารที่จะสลายไปได้ ไม่อยู่ถาวรในร่างกาย
          นอกจากนี้ ยังต้องฉีดโดยแพทย์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เพราะหากฉีดผิด หรือใช้ปริมาณมากเกินไปก็จะเข้าไปสู่กระแสเลือดและเกิดอาการแพ้ ทำให้ถึงเสียชีวิตได้
          พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์กล่าวว่า การฉีดสารเพื่อเสริมความงาม แก้ไขความบกพร่อง แพทย์จะอธิบายถึงผลข้างเคียง ข้อดี ข้อเสียให้ผู้ฉีดเข้าใจ
          ส่วน "ผู้รับการฉีด" เอง จำเป็นต้องดูแลตัวเอง เริ่มจากมีความรู้เบื้องต้นถึง "ชื่อสาร" ที่จะฉีด และต้องคุยกับแพทย์ให้เข้าใจ โดยขอดูขวดสารที่จะฉีดก่อน ซึ่งบนขวดที่ได้รับอนุญาตจากอย. จะมีชื่อยาทั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ ชื่อทางการค้า ชื่อบริษัทผู้ผลิต ฉลากกำกับยา มีข้อบ่งใช้ ปริมาณที่กำหนด เลขที่ยา
          เมื่อตรวจสอบแล้ว ยังต้องทราบอีกว่า ยา หรือสารทุกชนิด เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีโอกาสเกิดการแพ้ได้เสมอ ทำให้ก่อนใช้ยา แพทย์จะต้องสอบถามประวัติการแพ้ยา หรือ การแพ้สิ่งต่างๆ ตามฉลากกำกับยาด้วย
          "แพทย์ส่วนใหญ่จะต้องมีจริยธรรมในการดูแลคนไข้อย่างดี และมีหน้าที่ตอบคำถาม อธิบายผลดี ผลเสีย และเลือกใช้ยา หรือสารที่มีความปลอดภัย แต่ที่พบส่วนใหญ่พบการใช้สารที่ไม่ได้รับอนุญาตฉีดเข้าร่างกาย เช่น ซิลิโคนเหลว พาราฟิน น้ำมันละหุ่ง น้ำมันมะกอกนั้น มักจะเป็นคนที่ไม่ใช่แพทย์ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับยา คิดว่าฉีดง่ายๆ โดยไม่ทราบถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น
          "เช่น กรณีการฉีดก้นนั้น พบว่าแม้แต่เลือกใช้สารที่ปลอดภัยก็ยังต้องคำนึงถึงปริมาณในการฉีดด้วย เพราะปริมาณดังกล่าวมีพื้นที่กว้างหากฉีดภายในครั้งเดียวก็เสี่ยงที่จะอันตรายถึงแม้จะเป็นสารที่ถูกต้องก็ตาม และยังต้องคำนึงถึงวิธีการฉีด ที่เชี่ยวชาญ เพราะบริเวณดังกล่าวมีกล้ามเนื้อและเส้นเลือดจำนวนมาก หากฉีดพลาดก็จะเป็นอันตรายที่สารจะเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว..
          "สำหรับประชาชน นอกจากเลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานแล้ว ยังต้องพิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของแพทย์ประกอบการตัดสินใจ และไม่หลงเชื่อโฆษณา เพราะนั่นผ่านการตกแต่งด้วยโปรแกรมต่างๆ มาแล้ว" นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทยกล่าว
          ขณะเดียวกัน ในส่วนของภัย "กลูต้าไธโอน"นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณ สุข เคยให้คำเตือนเอาไว้ว่า
          ปัจจุบันพบวัยรุ่นไทยทั้งชายและหญิงนิยมฉีดผิวด้วยกลูต้าไธโอนกันแพร่หลายมากขึ้น เพื่อทำผิวให้ขาวเหมือนดาราเกาหลี แม้ว่าจะเคยมีการเตือนก่อน แต่ดูจะไม่สามารถทำให้กระแสความนิยมหลุดจากความคิดของวัยรุ่นคลั่งขาวแบบหนุ่ม-สาวเกาหลีได้เลย
          วัยรุ่นชาย หญิงและสาวประเภทสองบางคน อยากผิวขาวเร็วๆ จึงหาวิธีการสารพัดทั้งฉีดและกินกลูต้าไธโอน ถือว่าอันตรายต่อตัวเองโดยเฉพาะผลในอนาคตที่อาจเกิดตามมา เพราะเม็ดสีผิวของคนเราต่างกัน
          โดยทั่วไปวงการแพทย์จะใช้กลูต้าไธโอนรักษา ผู้ป่วยที่มีปัญหาตับอักเสบ เพราะกลูต้าไธโอนเป็นสารโปรตีนเบื้องต้น ช่วยเพิ่มการทำงานของตับในการฟอกพิษ ขจัดสารพิษออกจากร่างกาย
          เมื่อเซลล์ตับมีการฟอกสารพิษแล้ว เนื้อเยื่อก็อาจมีการบาดเจ็บ สึกหรอ ดังนั้นตัวสารดังกล่าวก็จะเป็นตัวช่วยในการซ่อมแซมฟื้นฟูสภาพของเนื้อเยื่อตับและช่วยให้มีภูมิต้านทานดีขึ้นด้วย การใช้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญ และใช้ยาเป็นช่วงๆ ไม่ใช้ติดต่อกัน กรณีของการนำกลูต้าไธโอนไปฉีดเพื่อให้ผิวขาวนั้นถือว่าเป็นการประยุกต์ใช้ขึ้นมาเอง เนื่องจากคุณสมบัติรองของกลูต้าไธโอน สามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวหรือที่เรียกว่าเมลานิน (Melanin) จึงมีการนำสารชนิดนี้ไปใช้ในการดูแลผิว
          "ที่น่าห่วงไปกว่านั้น พบว่ากลูต้า ไธโอนที่ฉีดให้บริการวัยรุ่นเป็นของลอกเลียนแบบที่ผลิตในประเทศอื่น โดยพิมพ์ว่าผลิตในอิตาลีเช่นเดียวกันกับที่วงการแพทย์นำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคตับ จึงเกิดปัญหาความบริสุทธิ์ของยา ดังนั้น จึงต้องมีการเฝ้าระวังวัยรุ่นไทยจะได้รับผลกระทบจากกระแสดังกล่าว โดยเฉพาะขณะนี้พบว่าวัยรุ่นที่นิยมฉีดผิวมีตั้งแต่อายุประมาณ 14 ปี ทั้งกลุ่มผู้หญิง ผู้ชาย และเพศที่สาม ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ที่ฉีดสีผิวมักเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน และบางคนฉีดเป็นประจำทุก 1-2 สัปดาห์ เพราะเข้าใจว่าจะยิ่งทำให้ได้ผลลัพธ์ผิวขาวรวดเร็วขึ้น" นายแพทย์จิโรจกล่าว
          นพ.จิโรจกล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่น่าวิตกก็คือปริมาณการฉีดเข้าร่างกายที่เกินขนาด 2-3 เท่าตัว ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียกับสุขภาพ นั่นคือทำให้เม็ดสีผิวลดลง
          เม็ดสีผิวของคนเราสร้างมาจากเซลล์สร้างเม็ดสี (เมลาโนไซต์) ในผิวหนัง มีประโยชน์ เหมือนแผ่นกรองแสง ทำหน้าที่จับอนุมูลอิสระ หากใช้ไปมากๆ และใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เม็ดสีผิวลดลง ภูมิต้านทานของผิวจะลดลง เกิดการระคายเคืองแพ้แสงแดดได้ง่ายขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้
          นอกจากนี้ยังอาจเกิดผลกระทบต่อจอตาโดยตรง ซึ่งมีหน้าที่รับแสงในการมองเห็นทำให้จอประสาทตาอักเสบได้ง่าย ถ้าอักเสบบ่อยๆ อาจถึงขั้นตาบอด
          ประการสำคัญที่สุดที่ขอเน้นย้ำก็คือ ทั้งสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย, อย., แพทยสภา และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ยังไม่รับรองความปลอดภัยของการฉีดกลูต้าไธโอนเพื่อทำให้ผิวขาว
          ส่วนกลูต้าไธโอนชนิดใช้รับประทานนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ขึ้นทะเบียนรับรองโดยอนุญาตให้ใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมีผลต่อสุขภาพน้อยกว่า แต่หากกินนานๆ ก็อาจรบกวนการทำงานของไตได้เช่นกัน
          "หากวัยรุ่นหรือประชาชนต้องการให้มีผิวพรรณดี ขอให้ดูแลรักษาร่างกายให้สะอาด กินอาหารที่มีประโยชน์ เพิ่มการกินผักและผลไม้ที่รสไม่หวานมากให้ได้วันละครึ่งกิโลกรัม เนื่องจากในผักผลไม้จะมีวิตามินซีช่วยบำรุงผิวพรรณให้สดใส ออกกำลังกายทุกวันอย่างน้อยวันละ 30 นาที และดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
          "ถ้ามีความต้องการดูแลผิวให้สุขภาพดีด้วยสามารถใช้ครีมบำรุงที่ผสมสารกันแดด เพราะแสงแดดก็เป็นตัวการทำลายผิวได้" ผอ. สถาบันโรคผิวหนังให้คำแนะนำ
          ถ้ารับฟัง คิด แล้วปฏิบัติตาม ชีวิตจะปลอดภัยอย่างแน่นอน
 

 pageview  1220595    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved