Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 27/09/2555 ]
รู้ทันมะเร็งลำไส้ใหญ่เช็กอาการ-รักษาหายขาด

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงานว่าปีพ.ศ.2552 มีการตรวจพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่ในประเทศไทยถึงร้อยละ 10.3 ซึ่งนับเป็นอันดับที่ 3 ของจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ทั้งหมด ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันที่สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น อันเป็นระยะที่แพทย์ให้ความเห็นว่ายัง 'รักษาให้หายขาดได้'
          ผศ.นพ.ยุทธนา ศตวรรษธำรง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารและตับ ร.พ. บำรุงราษฎร์ บอกว่า จากการศึกษาพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่มีผลโดยตรงคือ กรรมพันธุ์และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีสารก่อมะเร็งเป็นประจำ เช่น เนื้อแดง อาหารปิ้งย่าง รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ โดยร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่คือผู้มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป สังเกตสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ได้จากความเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียบ่อย อุจจาระมีก้อนเล็กลงหรือมีมูกเลือดปน ร่วมกับอาการทางร่างกาย เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือผอมซูบซีด ควรพบแพทย์ทันที
          "การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ได้ผลดีที่สุดคือ การส่องกล้อง ซึ่งสามารถตรวจดูลักษณะภายในของลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ทั้งหมด หากพบว่ามีความผิดปกติแพทย์จะเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อตรวจวัดระยะอาการ และแสดงตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ เพื่อการวางแผนกำหนดวิธีการรักษาในลำดับถัดไป ซึ่งแพทย์ต้องตัดเอาชิ้นเนื้อไปตรวจด้วย"
          มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบตั้งแต่ในระยะแรกๆ รักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งทำได้ทั้งการผ่าตัดใหญ่ หรือการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งใช้กับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดเล็กและยังไม่กระจายไปยังตำแหน่งอื่น บางกรณีที่เนื้องอกโตมากจนเกิดการอุดตัน ขับถ่ายไม่ได้ ต้องมีวิธีการพิเศษ 2 วิธีคือ ผ่าตัดเปิดหน้าท้องดำเนินการ และการส่องกล้องไปยังจุดที่อุดตันเพื่อดำเนินการ
          ผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระที่ 3-4 ซึ่งโรคลุกลามไปมากแล้ว การรักษาจำเป็นต้องใช้การให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสงร่วมกับการผ่าตัดควบคู่กันไป
          "กลุ่มเสี่ยงที่มีญาติป่วยโรคนี้ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองปีละหนึ่งครั้งตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตรวจแล้วไม่พบมะเร็ง แต่มีติ่งเนื้อปรากฏขึ้นในลำไส้ใหญ่ พวกนี้ควรส่องกล้องซ้ำทุก 1-3 ปี เพราะติ่งเนื้อชนิดหนึ่งจะใช้เวลาประมาณสิบปีในการเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง"       การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ ใหญ่วิธีที่ได้ผลดีที่สุดคือการส่องกล้อง เนื่องจากเหมาะสมต่อการตรวจวินิจฉัยโรค และการวางแผนกำหนดวิธีการรักษาได้ในที่สุด
 

 pageview  1220595    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved