Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 27/03/2555 ]
รายงานพิเศษ: แนะรับมือพิษหมอกควันห่วงโรคปอด -ไซนัสอักเสบ

  สถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือ กำลังกลายเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะส่งผล กระทบในวงกว้างทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และที่สำคัญคือผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพประชาชน เห็นได้จากรายงานสถิติของหลายจังหวัดพบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้วจำนวนมาก ส่วนใหญ่ป่วยจากโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หอบหืด และโรคตาอักเสบ
          ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จึงแนะวิธีปรับตัวเพื่อป้องกัน และการดูแลตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ โดยฝุ่นละอองที่เราเห็นลอยฟุ้งอยู่ในอากาศมีชื่อเรียกเป็นทางการคือ Particulate Matter (PM) ซึ่งอาจอยู่ในสภาพของเหลวหรือของแข็งขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในอากาศ จนทำให้เรามองเห็นในภาพกว้างเป็นลักษณะหมอกหรือควัน
          จากข้อมูลคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่ง
          ชาติ กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า 9 จังหวัดในภาคเหนือ มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ เกินค่ามาตรฐาน 0.12 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
          ทั้งนี้ ระบบทางเดินหายใจแบ่งเป็นส่วนบนและส่วนล่าง ตั้งแต่โพรงจมูกและช่องปาก ผ่านช่องคอ กล่องเสียง หลอดลมใหญ่ หลอดลมฝอย ไปจนถึงถุงลม
          ปอดซึ่งเป็นส่วนปลายสุดของทางเดินหายใจ
          เมื่อฝุ่นละอองเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาภายในร่างกาย เริ่มตั้งแต่เกิดอาการแพ้หรืออักเสบในโพรงจมูก โพรงไซนัส ช่องคอ และหลอดลม จนทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หอบหืด เนื่องจากเมื่อฝุ่นละอองเข้าไปถึงส่วนที่อยู่ลึกที่สุดของทางเดินหายใจ คือ ถุงลมปอด เมื่อฝุ่นละอองสะสมเป็นปริมาณมากเกินความสามารถที่จะกำจัดออกไปได้ จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อปอด จนเกิดเป็นโรคปอดอักเสบ เมื่อเป็นเรื้อรังก็จะ
          ทำให้เกิดพังผืด หรือรอยแผลเป็นภายในปอดได้ ฝุ่นละอองแต่ละชนิดจะทำลายปอดแตกต่างกัน เมื่อปอดถูกทำลายจะเสียสภาพความยืดหยุ่น และขาดประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนก๊าซอย่างถาวร มีผลกระทบต่อเนื่องต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมา
          ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีหมอกควันหรือฝุ่นละออง หรือควรใช้หน้ากากอนามัยชนิดกรอง 3 ชั้นปิดปากและจมูก หรืออาจติดระบบกรองอากาศในบ้าน ปลูกพืชคลุมหน้าดิน
          สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคความดัน โรคระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ควรเตรียมยาประจำตัวให้พร้อม ป้องกันอาการกำเริบ หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ควรรีบพบแพทย์ทันที
 

 pageview  1210899    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved