Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 17/03/2563 ]
สู้โรคร้ายในเชิงรุก

 ตามรายละเอียดมาตรการป้องกันควบคุม โรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ของประชาชนแต่ละกลุ่มในร่างรายงานคาดการณ์การระบาดและมาตรการในระยะที่ 3 โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้จัดทำเตรียมไว้ตามสมมติฐานในปัจจุบัน เป็นคำแนะนำแนวทางปฏิบัติที่ครอบคลุมการจัดกิจกรรมการรวมกันของคนหมู่มาก ระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศ สถานประกอบการ สถานที่ทำงาน สถานศึกษา วัด โบสถ์ มัสยิด ศาลเจ้า ค่ายทหาร เรือนจำ และทัณฑสถาน นับได้ว่าเป็นมาตรการที่ลงลึกในรายละเอียด มีแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
          เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางแล้วว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะเข้าสู่ระยะที่ 3 คือการแพร่ระบาดในหมู่คนในประเทศด้วยกันเองอย่างยากจะหลีกเลี่ยง หนทางที่พอจะทำได้ในขณะนี้คือชะลอเวลาให้อยู่ในมาตรการควบคุมระยะที่ 2 ต่อไปให้นานที่สุด นั่นก็หมายถึงการจำกัดขอบเขตหรือควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งต้องอาศัยการดำเนินอย่างเป็นกระบวนทัพ เพราะตามมาตรการที่ออกมานั้นจะต้องมีฝ่ายติดตามตรวจสอบอย่างทั่วถึงด้วย เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นแนวทางที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ อย่างเช่น การควบคุมการขนส่งสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารร่วมบริการ  สองแถว มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ล้วนยากต่อการควบคุมทั้งสิ้น ลำพังเรื่องควันดำ ก็ยังแก้ไม่ตก
          ประเทศไทย มีกรุงเทพมหานครเป็นแหล่งรวมของทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ราชการ ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางราง ทางเรือและอากาศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความนิยม เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีประชากร ประชากรแฝง และนักท่องเที่ยวรวมกันจำนวนมหาศาล อันหมายถึงความหนาแน่นของประชากรสูงยิ่ง จึงไม่น่าแปลกที่กรุงเทพฯ จะกลายเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้น "ยาแรง" ที่กำลังจะคลอดออกมาเป็นระยะเพื่อชะลอการเข้าสู่ความรุนแรงขั้น 3 เป้าหมายใหญ่จึงน่าจะโฟกัสที่กรุงเทพฯ โดยการร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อให้มาตรการต่างๆ เป็นจริงและที่สุดจะเป็นต้นแบบได้
          การออกมาตรการใดๆ หากไม่มีแรงผลักดันในเชิงรุกเพื่อให้ "สาร" เข้าถึงประชาชนทุกส่วนก็ไม่เป็นผล เพราะการควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้จำกัดวงอยู่แต่เฉพาะผู้ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเท่านั้น หากแต่ประชาชนทุกๆ คนก็ล้วนเป็นทั้งผู้ช่วยหยุดยั้งการระบาด และก็อาจเป็นพาหะของโรคได้เช่นกัน ผลวิจัยของซูเปอร์โพลล์ชี้ว่า ประชาชนทุกกลุ่มทั้งฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ฝ่ายไม่สนับสนุน และกลุ่มพลังเงียบกว่าร้อยละ 70 เห็นว่า ควรปรับปรุงเรื่องอุปกรณ์และสิ่งจำเป็นทางการแพทย์ใหม่ มีรถตรวจสอบโควิด-19 เคลื่อนที่ ตามจุดเสี่ยง มีนโยบายควบคุมที่เคร่งครัดจัดเต็ม จัดสถานที่ดูแลผู้สงสัยติดเชื้อแยกต่างหากจากโรงพยาบาล ควรมีสถานที่กักกันแยกออกจากโรงพยาบาล และ จุดวัดไข้ คัดกรอง ไม่ควรทำที่โรงพยาบาลเพื่อลดความแออัด และภารกิจของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น คือตัวอย่าง ที่รัฐควรเร่งลงมือทำให้เป็นรูปธรรม

 pageview  1210937    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved