Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 07/07/2558 ]
สพฉ.เตือนภัยใกล้ตัว ไฟรั่ว ไฟช็อต ไฟดูด หน้าฝน
 ช่วงฤดูฝนภัยใกล้ตัวที่น่าเป็นห่วง นอกจากอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว ยังมีอันตรายจากไฟฟ้าดูด ไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าช็อต อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ตลอดเวลา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) จึงแนะนำวิธีการป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าช็อต และการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นแก่ผู้ประสบเหตุ กรณีหยุดหายใจต้องรีบช่วยฟื้นคืนชีพอย่างเร่งด่วนก่อน ที่สำคัญก่อนจะถูกตัวผู้บาดเจ็บจะต้องตัดกระแสไฟให้เรียบร้อย โดยหาวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้ามาป้องกันตัวเสมอ
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า  ก่อนอื่นทุกบ้านควรตรวจสอบให้ดีว่า ภายในบ้านมีกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไม่  ด้วยวิธีง่ายๆ คือ ให้ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด แล้วดูที่แผ่นจานในมิเตอร์หมุนหรือไม่ หากหมุนแสดงว่าไฟฟ้าในบ้านรั่ว จะต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว และหากผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูด หรือถูกไฟฟ้าช็อต จะแสดงอาการออกมาอย่างไร ขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้าที่โดนช็อตว่ามีความรุนแรงแค่ไหน บางครั้งอาจเพียงแค่ทำให้ล้มลงกับพื้น หรือบางรายอาจถึงขั้นรุนแรงคือ มีอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย หายใจเร็ว หมดสติ และหยุดหายใจ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิต และอาจทำให้เกิดบาดแผลไหม้ตรงผิวหนัง และกินลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงด้วย
          "การช่วยเหลือนั้นไม่ยาก ก่อนอื่นผู้ที่เข้าช่วยเหลือจะต้องตั้งสติให้ดี  หากพบผู้ป่วยฉุกเฉินจะต้องโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ผ่านสายด่วน 1669 ทันที โดยต้องจำไว้เสมอว่า ห้ามสัมผัสตัวผู้ถูกไฟช็อตด้วยมือเปล่าเด็ดขาด ควรใช้วัสดุที่ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้าป้องกันตัวก่อน เช่น ถุงมือยาง ผ้าแห้ง พลาสติกแห้ง เป็นต้น" เลขาฯ สพฉ.กล่าว
          เลขาฯ สพฉ.กล่าวต่อว่า ต้องตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุทันที ยกเว้นเป็นสายไฟแรงสูง ควรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย จากนั้นให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปในพื้นที่ปลอดภัย เพราะบางครั้งสถานที่ที่ถูกไฟช็อตอาจอยู่ใกล้ป้ายโฆษณา หรือต้นไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายซ้ำได้ โดยต้องเคลื่อนย้ายอย่างถูกวิธีด้วย เพราะบางครั้งการเคลื่อนย้ายอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บมากขึ้น
          กรณีผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากไฟบ้านทั่วไป และมีเพียงบาดแผลไม่ลึก ไม่มีอาการผิดปกติอื่น สามารถสังเกตอาการที่บ้านได้ ยกเว้นผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคไต โรคหัวใจ ควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการอีกครั้ง กรณีผู้ป่วยที่หมดสติจะต้องพิจารณาว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจหรือไม่ หากหยุดหายใจจะต้องรีบทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ (ซีพีอาร์) ทันที
          เลขาฯ สพฉ.ย้ำว่า ผู้ช่วยเหลืออย่าตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ให้มีสติเสมอ ก่อนทำการช่วยเหลือให้โทรแจ้งการแพทย์ฉุกเฉินทันที เพื่อทีมแพทย์จะได้เดินทางมาระหว่างที่กำลังช่วยเหลือเบื้องต้น ให้ทำตามขั้นตอนวิธีการที่แนะนำ อย่าทำอะไรแรงโดยพลการอย่างเด็ดขาด เพราะชีวิตที่สูญเสียไปมันไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้
          ฉะนั้น จึงขอให้พี่น้องประชาชนดูแลความปลอดภัยในบ้านพักอาศัยของตัวเองด้วย เพราะช่วงนี้เป็นหน้าฝน โอกาสจะเกิดไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าช็อตนั้นมีขึ้นได้ทุกเวลา แต่หากไม่ประมาทก็จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
 pageview  1220587    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved