Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 03/05/2555 ]
ปิดตำนาน "เพื่อนบ้านเถื่อน 2555"

"ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย" คือหัวข้อเอกสารของนายประวิทย์ เคียงผลอธิบดีกรมการจัดหางานที่อธิบายถึงการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งทำต่อเนื่องมาหลายปีจนนำไปสู่การเหลือจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่พิสูจน์สัญชาติอีกเพียง 1 แสนกว่าจากผู้ลงทะเบียนทั้งหมดกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งหลังจากนี้ไปแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จะต้องเป็นแรงงานที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น...
          ขณะที่เครือข่ายทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติทั้ง พม่า ลาว และกัมพูชา ยังไม่เชื่อว่านโยบายข้างต้นจะเป็นไปได้ เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา "โครงการส่งเสริมการป้องกันเอดส์ แรงงานข้ามชาติประเทสไทย" จัดให้มีการเสวนาหัวข้อ "ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ" โดยนายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า งานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเชิญตัวแทนจากภาครัฐ เอ็นจีโอและแรงงานข้ามชาติมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ เนื่องจากมีแรงงานกลุ่มนี้อยู่ในเมืองไทยทั้งนอกระบบและในระบบไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านคน ในแต่ละวันมีการเคลื่อนย้ายเข้าออกตลอดเวลา นโยบายการปิดตำนานจึงอาจนำไปสู่ปัญหารุนแรงหลายด้าน
          "ยกตัวอย่างเช่น เรื่องโรคติดต่อ คนไทยมองว่าพวกเขาเป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง วัณโรค ดื้อยา ฯลฯ มาแพร่ระบาด ส่วนเพื่อนบ้านเรามองว่า ไทยส่งออกเชื้อโรคร้ายแรงอย่างเอดส์ ส่งออกคนพิการบาดเจ็บ จากการทำงาน ปัญหาเรื่องค่าแรงที่ไม่เท่าเทียมกัน การละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ รัฐจะบริหารจัดการให้แรงงานเพื่อนบ้านกว่า 3 ล้านคน อยู่ร่วมกันอย่างมี ความสุขกับคนไทยได้อย่างไร"
          นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ นายแพทย์ด้านพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข แสดงถึงผลรายงานวิจัยล่าสุดว่า โครงสร้างประชากรของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ในแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าผู้เสียชีวิต ในปี 2553 คาดการณ์ว่าผูหญิงไทยจะมีบุตรประมาณ 1.8 คน แต่ตัวเลขสถิติที่เกิดขึ้นจริงนั้น ผู้หญิงมีบุตรเพียง 1.5 คน เท่านั้น ทำให้เกิดภาวะความต้องการแรงงานจากประเทศอื่นเข้ามาเสริม นอกจากนี้สภาพภูมิประเทศที่ชายแดนไทย-พม่า ยาว 2401 กม., ไทย-กัมพูชา 803 กม., ไทย-ลาว 1810 กม. จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะห้ามไม่ให้มีการเข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่มีกองกำลังตำรวจและทหารจำนวนมาก ยังไม่สามารถปราบปรามแรงงานเถื่อนจากเม็กซิโกได้ ดังนั้นการจะอยู่ร่วมกันได้ ต้องสร้างระบบที่ดี เช่น ระบบประกันสุขภาพ งานวิจัยพบว่าแรงงานที่มีระบบประกันสุขภาพจะดูแลตัวเองได้ดีกว่าแรงงานเถื่อน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ วัณโรค เอดส์ ฯลฯ ทั้ง 2 ฝ่ายควรปรับทัศนคติหาวิธีการอยู่ร่วมกัน
          ขณะที่ นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวประเด็นเรื่องค่าจ้างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยมองว่าไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติหรือแรงงานไทย ล้วนมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไม่แตกต่างกัน ดังนั้นควรมีนโยบายเพิ่มค่าแรง 300 บาทให้แก่แรงงานทุกคนในประเทศไทย เพราะแรงงานหลายล้านคนกลุ่มนี้ยังอาศัยอยู่ในไทย หากมีรายได้เพิ่มก็จะใช้จ่ายเพิ่ม ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น แต่ความจริงที่น่าเศร้าคือ วันนี้ แม้แต่ค่าแรงไทยยังไม่ได้ 300 บาททุกคน หรือบางโรงงานก็ใช้วิธีขี้โกง ให้ค่าจ้างวันละ 300 แล้วไปตัดค่าสวัสดิการหรือตัดงบประมาณด้านต่างๆ อยางเสนอให้ผู้ใช้แรงงานรวมตัวกัน เพื่อเจรจาต่อรองให้ได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม
          ภูเบศร์ จันทนิมิตร นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายเปิดตำนานว่า เป็นเรื่องที่ดีและผู้ประกอบการทุกคนอย่างทำให้ทุกอย่างถูกกฎหมาย มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง แต่ปัญหาคือ วิธีการทำงานของระบบราชการมีความซับซ้อน กำหนดระยะเวลาสั้นมากไป ทำให้ต้องใช้แรงงานเถื่อนทดแทน เช่น เรือประมง มีโควต้ารับแรงงานได้ 50 คน เมื่อขึ้นทะเบียนถูกต้องแล้วในต้นปีแต่พอกลางปีแรงงานหนีหายไป 30 คน เรือประมงต้องการคนใหม่เพิ่มอีก 30 คน แต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ เพราะเลยกำหนดเวลากลายเป็นผิดกฎหมายให้ที่พักพิงคนต่างด้าว ไม่มีใครอยากใช้แรงงานต่างด้าว ถ้ามีแรงงานไทย วันนี้เรือประมงอยากได้คนงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน จ่ายเงินเดือนให้เดือนละ 1 หมื่นบาทพร้อมกินอยู่กับนายจ้าง หากได้คนไทย 1 แสนคน จะคือแรงงานข้ามชาติให้ 1 แสนคนเลย พร้อมเสนอให้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้งปีไม่ต้องมีกำหนดเวลา
          "นรา รัตนรุจ" ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดระบบแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางานอธิบายว่า นโยบายปิดตำนาน เป็นเรื่องสำคัญ จากตัวเลขแรงงานอยู่นอกระบบที่มีไม่ต่ำกว่า 1.6 ล้านคน ทั้งผู้ติดตาม ครอบครัว ผู้ย้ายเข้ามาใหม่ ฯลฯ คงต้องช่วยกันทำให้พวกเขามาอยู่ในระบบให้ได้ พร้อมปรับปรุงพัฒนาเป็นแรงงานคุณภาพ ตัวอย่างจากเกาหลี จัดตั้งศูนย์รับคนต่างด้าวมาอบรมก่อนปล่อยให้นายจ้างมารับไปทำงาน เช่น อบรมเรื่องค่าจ้าง สิทธิในหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ ส่วนปัญหาการกำหนดระยะเวลาขึ้นทะเบียนนั้น ยอมรับว่าการปล่อยให้แรงงานจากเพื่อนบ้านเดินทางเข้าออกประเทศไทยได้อย่างเสรีทั้งปีนั้น อาจมีผลกระทบเรื่องความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คงต้องถามความคิดเห็นจากหลายกระทรวง
          "มาสิน ตุ้ม" ชาวกัมพูชา เดินทางมาจาก จ.ตราด เล่าว่า สำหรับพวกเขาแล้ว ทุกคนอยากขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายทั้งสิ้น แต่การมีบัตรก็ใช่ว่าจะปลอดภัยหรือไม่ถูกรังแก เพราะหลายครั้งเจ้าหน้าที่ขอดูบัตร เมื่อยื่นให้ก็จะฉีกทิ้งต่อหน้าต่อตาทันที หลายคนทำงานหนักเพื่อเอาเงินมาซื้อหลักประกันสุขภาพ แต่เมื่อเป็นโรคร้ายแรงบางอย่าง โรงพยาบาลก็ไม่รักษา หลายคนอยู่ประเทสไทยมานาน พอถูกจับหรือถูกไล่กลับบ้าน ก้ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร อยากให้ทุกฝ่ายหาวิธีอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
          ตัวแทนแรงงานจากกัมพูชากล่าวสรุปสั้นๆ ว่า
          "จับพวกเราใส่รถไปส่งชายแดน แค่เจ้าหน้านที่หหันหลังไปนั่งกินข้าว เราก็เดินอ้อมกลับเข้าไปในชายแดงไทยใหม่แล้ว คนที่ได้ประโยบน์และอยากให้มีแรงงานเถื่อน คือ กลุ่มหาเรื่องรีดไถเงินจากพวกเราได้"

 pageview  1210912    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved