Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 03/04/2563 ]
วิธีสังเกตข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19

เฟซบุ๊ก (Facebook) เผยแพร่ การสร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ด้วยวิธีสังเกตข่าวปลอมด้วยตัวเองเกี่ยว กับโควิด-19 ฉบับ "We Think Digital Thailand"
          เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กระจายไปยังทั่วโลก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคชาวไทยต้องรู้เท่าทันและรับข่าวสารที่ถูกต้อง
          Facebook จึงเตรียมความพร้อมในการรับมือเพื่อป้องกันการเผยแพร่ข่าวปลอม โดยร่วมมือกับพันธมิตรด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตลอดถึงการประสานงานกับองค์การอนามัยโลกและองค์กรอื่น ๆ ในการเชื่อมผู้ใช้งานเข้ากับเนื้อหาที่เป็นการให้ความรู้ โดยจะปรากฏอยู่ด้านบนสุดของ News Feed นอกจากนี้ยังได้วางแผนเปิด ตัวศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ในประเทศไทย เร็ว ๆ นี้
          ทั้งนี้จากสถานการณ์ปัจจุบันส่งผลให้ผู้คนแบ่งปันข่าวสารต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น จากข้อมูลการศึกษาของ You Gov ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย Facebook ระบุว่าในประเทศไทย มีเพียง 42% และ 41% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่บอกว่าพวกเขามั่นใจว่าตัวเองสามารถระบุข่าวปลอมและโปรไฟล์ปลอมได้ ตามลำดับ
          เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานหลีกเลี่ยงการได้รับข้อมูลที่ไม่เป็นจริงและข่าวปลอมทั้งหลาย Facebook ประเทศไทย ได้เปิดตัวโครงการ "We Think Digital Thailand" ขึ้น โดยเป็นโปรแกรมที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีให้กับชาวไทย ครอบคลุมหัวข้อการเรียนรู้ต่าง ๆ
          รวมถึง "เคล็ดลับการสังเกตข่าวปลอม" ซึ่งจะมี 5 ขั้นตอนง่าย ๆ ให้ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ บนหน้าฟีดได้ก่อนกดปุ่มแชร์         โดยขั้นตอนที่ 1 คือ  ตรวจสอบลักษณะของโพสต์ สังเกตวิธีพาดหัวข่าว ข่าวปลอมส่วนใหญ่มักใช้คำพาดหัวข่าวที่เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกหรือใช้เทคนิคเพื่อดึงดูดความสนใจ เช่น ใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) จำนวนมาก หัวข้อข่าวที่ใช้ถ้อยคำแบบสุดโต่งหรือกล่าวอ้างเกินความเป็นจริง และควรพิจารณาชื่อของเว็บไซต์หรือที่อยู่ของเว็บไซต์ (URL) เว็บไซต์ที่น่าสงสัยส่วนมากมักพยายามลอกเลียนแบบจากเว็บไซต์จริงโดยแทรกจุดแตกต่างเล็กน้อยเข้าไป หากไม่มั่นใจให้เปิดหน้าต่างเบราว์เซอร์ขึ้นมาใหม่  จากนั้นให้ไปที่เว็บไซต์จริงและลองเปรียบเทียบ URL ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่
          ขั้นตอนที่ 2 คือ ตรวจสอบเว็บไซต์เมื่อตัดสินใจกดลิงก์แล้ว ให้วิเคราะห์ลักษณะหน้าเพจของบทความ ตรวจสอบชื่อของผู้เขียนแล้วค้นหาข้อมูลดูว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ โดยอาจพิจารณาจากบทความอื่น ๆ ที่เขียนขึ้นโดยผู้เขียนคนเดียวกัน แนะนำให้อ่านข้อมูลในส่วน "เกี่ยวกับเรา" บนหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ เพื่อทำความรู้จักเว็บไซต์หรือองค์กรนั้นให้มากขึ้น
          ขั้นตอนที่ 3 คือ สังเกตบุคคลอ้างอิงในบทความ หากบทความอ้างอิงหรือยกคำพูดของผู้เชี่ยวชาญมา แต่ไม่มีการกล่าวชื่ออย่างชัดเจน  อาจบ่งบอกได้ว่าบทความดังกล่าวเป็นข่าวปลอม แนะนำให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลอีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงนั้นเป็นความจริง โดยอาจดูเพิ่มเติมจากบทความหรืองานศึกษาอื่น ๆ
          ขั้นตอนที่ 4 คือ เปรียบเทียบจากการพาดหัวข่าวและแหล่งข้อมูลอื่น ๆ  ลองดูแหล่งข่าวอื่นว่ามีการรายงานข่าวเดียวกันหรือไม่ และตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ข้อมูลจะมีแนวโน้มความน่าเชื่อถือมากขึ้นหากมีแหล่งข่าวจำนวนมากรายงานถึง
          และขั้นตอนที่ 5 คือ รับฟังข้อมูลอย่างเป็นทางการล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จากองค์กรด้านสุขภาพและอนามัยของท้องถิ่นและนานาชาติเท่านั้น
          ทั้งนี้หากพบโพสต์ใด ๆ ที่นำเสนอเรื่องราวและข่าวปลอม อย่าลังเลที่จะกดรายงาน โดยคลิกที่เครื่องหมายจุดเล็ก ๆ 3 จุด (.) ที่ด้านมุมขวาบนของโพสต์ จากนั้นกดค้นหาการสนับสนุนหรือรายงานโพสต์  และคลิกที่ ข่าวปลอม สามารถไปที่ศูนย์ช่วยเหลือของ Facebook เพื่อดูรายละเอียดการ รายงานโพสต์ต่าง ๆ ได้ที่ https://www. facebook.com/help/ 1380418588640631/

 pageview  1210935    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved