Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 29/06/2563 ]
ไทยไร้ป่วยต่อเนื่อง34วัน สธ.อ้างพรก.ฉุกเฉินจำเป็น

 จี้เยียวยานร.ป.1ถึงม.6 1พัน3เดือน
          "สธ." ยันต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะจำเป็น  แค่  พ.ร.ก.โรคติดต่อ ไม่พอ  "ศบค." สุดปลื้มไม่ติดเชื้อในสถานที่กักตัวรัฐ 2 วันติดต่อกันและไม่มีเชื้อในประเทศ 34 วันแล้ว ขณะที่คนไทยเดินทางกลับอีกลอต 593 คน "เทพไท" จี้รัฐบาลเยียวยานร.ชั้น ป.1-ม.6 คนละ 1 พันบาท 3 เดือน ลดภาระผู้ปกครองรับเปิดเทอม "อัสสัมชัญ" พร้อมรับมือเปิดเทอม 1 ก.ค. ใช้มาตรการคัดกรองเข้ม หมอประกิตแจงข้อมูลคลาดเคลื่อนไทยเป็นที่ 1 ของเอเชีย ขณะที่ทั่วโลกผ่าน 7 เดือน ติดเชื้อไวรัสมรณะไปแล้วทะลุ 10 ล้านราย วันเดียวป่วยเพิ่มกว่า 4.3 หมื่นคน
          ติดเชื้อทะลุ 10 ล้าน
          เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลกทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเกิน 10 ล้านรายแล้ว ถือเป็นจุดสำคัญของการแพร่ระบาดของโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจที่คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบครึ่งล้านคนในช่วงระยะเวลาเพียง 7 เดือนเท่านั้น โดยทวีปอเมริกาเหนือ, ลาตินอเมริกา และยุโรปพบผู้ป่วยติดเชื้อเท่ากันราวร้อยละ 25 ตามมาด้วยเอเชียร้อยละ 11 และตะวันออกกลางร้อยละ 9 ขณะที่สหรัฐอเมริกาโดยมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์รายงานว่าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่อีก กว่า 43,000 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อสะสมในสหรัฐเกิน 2.5 ล้านราย และเสียชีวิตเกิน 125,000 ศพ หรือราว 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิต เกิน 495,000 ศพ
          ไม่พบในสถานที่กัก 2 วัน
          วันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย วันนี้ไม่พบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ และไม่มีผู้ติดเชื้อในสถานที่กักตัวของรัฐเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,162 ราย หายป่วยสะสม 3,053 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดสะสมคงที่ 58 ศพ และไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกัน 34 วัน สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ 10,081,545 รายและเสียชีวิต 496,866 รายโดยวันเดียวกันนี้เป็นวันแรกที่ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อทั่วโลกพุ่งสูงทะลุ 10 ล้านคน ส่วนคนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศ จะเดินทางถึงประเทศไทยในวันเดียวกันนี้อีก 5 เที่ยวบิน จำนวน 593 ราย และในวันที่ 29 มิ.ย. อีก 3 เที่ยวบิน จำนวน 491 ราย
          ยกไทยคุมโรคดีสุดในโลก
          ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอป กินส์ มีการประเมินและจัดอันดับประเทศไทยอยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่มีการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ดีที่สุดในโลก ว่าได้เห็นจาก ข่าวแล้วว่ามีการจัดอันดับ ให้ไทยอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น แต่ยังไม่ได้ดูในรายละเอียดว่ามีการประเมิน และพิจารณาจากอะไรบ้าง แต่นับว่าเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยมาก ถ้าดูจากสถานการณ์ภายในประเทศไทยเอง ตอนนี้ถือว่ามาตรการที่ทำมาประสบความสำเร็จสูงมาก แต่มีประเด็นที่เรายังสามารถปรับปรุงได้อีกมากเช่นเดียวกัน เรื่องนี้ยังต้องดูกันต่อไปพอสมควร
          ปชช.ร่วมมืออยู่บ้าน
          นพ.ธนรักษ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากในระยะหนึ่ง ก่อนจะค่อย ๆ ลงมา ความสำเร็จตรงนี้มองว่า เป็นเพราะประชาชนให้ความร่วมมือดีมาก ถ้าเกิดประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ คงจะเป็นเรื่องยากมากที่จะควบคุมโรคนี้ได้ ถ้ามองย้อนกลับ ไปมาตรการรัฐ มาตรการสาธารณสุขยังทำอย่างเข้มข้น เต็มที่อยู่แล้วเหมือนเดิม ที่เราประสบความสำเร็จชัดเจนว่า ถ้าวันนั้นคนไทยไม่ให้ความร่วมมือโรคคงไม่หยุด เราเห็นว่าโรคโควิดหยุดชัดเจนเมื่อคนไทยเริ่มหยุดอยู่บ้านมากขึ้น ดูจากจำนวนคนใช้บริการรถไฟฟ้าเหลือเพียง 20% ทุกคนใส่หน้ากากผ้าเมื่อต้องออกมานอกบ้าน มีการล้างมือ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เราควบคุมโรคได้สำเร็จ
          ไทยล็อกดาวน์น้อย
          ต่อข้อถามว่าเป็นเพราะเราใช้กฎหมายหนักอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ นพ.ธนรักษ์ ตอบว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นแค่ส่วนหนึ่งถ้ามองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ปิดอะไรบ้างจะรู้สึกเลยว่าเราปิดไม่เยอะ ที่ปิดหนักจริง ๆ คือการปิดพรมแดน ส่วนธุรกิจในเมืองไทยนั้นปิดน้อยมาก เช่น ธุรกิจผับ บาร์ส่วนหนึ่ง ถ้าตอนกลางวัน คนยังไปทำงานได้ ปิดห้างสรรพสินค้าไม่ได้มากหรือยาวนาน ต่างชาติจะเรียกการปิดกิจการของไทยว่า เป็นแบบซอฟต์ล็อกดาวน์ด้วยซ้ำไป ถ้าเทียบกับต่างประเทศถือว่าเราปิดเบามาก อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องดูยาว ๆ การจะคุมสถานการณ์โรคได้ทุกส่วนต้องร่วมมือกันชั่งน้ำหนักให้ได้ ตนพูดเสมอว่ามาตรการทางสาธารณสุขเป็นมาตรการที่ไม่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของ สธ.ที่ต้องแสดงฝีมือแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางสุขภาพของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้ได้ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องตัดสินใจด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่ตัดสินใจด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ไม่ให้กระแสอะไรต่าง ๆ นำพา
          ยันต้องมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
          ต่อข้อถามว่าวันนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลายมากแล้วถ้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใช้เพียง พ.ร.บ.โรคติดต่อ อย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ ตอบว่า ไม่พอ เนื่องจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ ยังมีข้อจำกัดในการใช้บาง อย่าง ยกตัวอย่างข้อหนึ่งคือ กฎหมายให้อำนาจผู้ว่าราชการ มีอำนาจในการดำเนินการ แต่กรรมการใหญ่ไม่มีอำนาจเหนือผู้ว่าฯ ถ้าผู้ว่าฯต่างคนต่างทำจะลำบากมาก ประกาศเคอร์ฟิว ไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจที่ส่วนกลาง ถ้าเรามีอำนาจที่ส่วนกลางคณะกรรมการโรคติดต่อ ต้องทำอะไรได้ทุกอย่างเกือบจะเท่า ๆ กับ ศบค. ทั้งนี้คิดว่าต้องมีการทบทวน พ.ร.บ.โรคติดต่อมากอยู่เหมือนกัน
          ม.จอนส์ ฮอปกินส์ยกย่องไทย
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้โพสต์ข้อความผ่านทาง ทวิตเตอร์ @DrPrakit_ASH ระบุว่า #มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ เลื่อนไทยจากอันดับที่ 6 มาเป็นที่ 1 ของประเทศที่ป้องกัน#COVID19 ดีเยี่ยม เรารักษาสุขภาพไว้ได้ แม้จะเสียหายทาง #เศรษฐกิจ แต่อเมริกามัวแต่ห่วงเศรษฐกิจ เลยเสียทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ พิสูจน์สัจธรรม ถ้าไม่มีสุขภาพ ยากที่จะรักษาเศรษฐกิจไว้ได้
          แจ้งข้อมูลทวิตเตอร์ผิด
          ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาฯมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้โพสต์ทวิตเตอร์ ว่า จากที่ก่อนหน้านี้โพสต์ระบุว่าการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของไทยจัดอยู่ในอันดับ 1 ของโลกนั้น ขออภัยขอแก้ไขข้อมูลทวีตก่อนหน้านี้ครับ ประเทศไทยเป็นที่ 1 ของเอเชีย และอันดับที่ 2 ของโลก ที่ฟื้นตัวดีจาก Covid-19 โดยการประเมินขององค์การอนามัยโลก และหน่วยงานในมาเลเซีย#คนไทยต้องช่วยกัน#ผ่านพ้นวิกฤต
          "เทพไท" จี้รัฐเยียวยา นร.
          ส่วนนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรี ธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงกรณีที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักวิจัยซูเปอร์โพล มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อตัวเลือกหรือทางออกของสภาพคล่องทางการเงินกว่า 1,200 ตัวอย่าง ครอบคลุมทั่วประเทศระหว่างวันที่ 1 มี.ค.-25 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่อง ต้องพึ่งพาโรงรับจำนำ ว่า ต้องยอมรับความจริงว่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้มีผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจในทุกระดับ ตั้งแต่มหาเศรษฐีคนรวยถึงคนจนคนรากหญ้า คนชั้นกลางหรือระดับรากหญ้า ต้องหาทางออกด้วยการพึ่งพาโรงรับจำนำ เพื่อนำเงินมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้กำลังมีการเปิดภาคเรียนใหม่ของโรงเรียนต่าง ๆ ในวันที่ 1 ก.ค.นี้
          ป.1-ม.6 คนละพัน
          นายเทพไท กล่าวอีกว่า ตนอยากจะเรียกร้องตามข้อเสนอเดิม ที่เคยเสนอต่อรัฐบาลและ รมว.ศึกษาธิการ มาแล้วขอให้มีการเยียวยากลุ่มนักเรียนคนละ 1,000 บาท จำนวน 3 เดือน ให้แก่นักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึงชั้น ม.6 ขณะนี้พ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียนกำลังรอคอยความชัดเจน และความช่วยเหลือจากรัฐบาล ดังนั้นขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบดำเนินการเยียวยาช่วยเหลือ กลุ่มนักเรียนทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสังกัดโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ก่อนจะมีการเปิดภาคเรียนวันที่ 1 ก.ค.นี้
          เปิดเทอมหวั่นมาตรการ รร.
          ขณะที่สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไร? กับการเปิดภาคเรียนทั่วประเทศ (วันที่ 1 ก.ค. 63)" โดยดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 23-27 มิ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 1,253 คน สรุปผลได้ว่าสิ่งที่ประชาชนวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปิดภาคเรียนมากที่สุด คือ มาตรการป้องกันโควิด-19 ของสถานศึกษา ร้อยละ 73.68 รองลงมาคือการเรียนของบุตรหลาน การเรียนผ่านสื่อออนไลน์ ร้อยละ 70.04 การดูแลตัวเองของบุตรหลานที่สถานศึกษา ร้อยละ 69.83 การดูแลบุตรหลานของสถานศึกษา ร้อยละ 69.80 และสุขภาพร่างกาย ร้อยละ 66.31 ตามลำดับ
          แนะป้องกันเคร่งครัด
          เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากฝากถึงสถานศึกษา พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 45.74 ระบุว่า ควรกำหนดมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ให้ชัดเจนและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด รองลงมาร้อยละ 32.27 ระบุว่า ควรดูแลเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิด เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง ร้อยละ 16.08 ระบุว่า จัดรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมทันสมัย คำนึงถึงความปลอดภัยให้มากที่สุด ร้อยละ 15.13 ระบุว่า รักษาความสะอาด พ่นยาฆ่าเชื้อทั่วบริเวณก่อนเปิดเรียนและหลังเลิกเรียน และร้อยละ 6.50 ระบุว่า ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดี แนะนำ ให้ความรู้เพื่อห่างไกลจากโรคโควิด-19
          ส่วนสิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 42.40 ระบุว่า มีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ที่ชัดเจนเข้มงวด รองลงมาร้อยละ 24.67 ระบุว่า สนับสนุนงบประมาณ เครื่องมือ อุปกรณ์ ด้านการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ ร้อยละ 17.20 ระบุว่า จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานศึกษาทุกแห่งโดยเคร่งครัด สม่ำเสมอ ร้อยละ 12.80 ระบุว่า สนับสนุน ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าเดินทาง และร้อยละ 9.07 ระบุว่า การออกมาตรการ ต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วย ทั้งนี้สวนดุสิตโพลสรุปว่าจากผลการสำรวจ ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่กังวลเรื่องของมาตรการในการป้องกันโควิด-19 อยากให้สถานศึกษากำหนดมาตรการ ในการป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษาให้ชัดเจน และควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการในภาพรวมที่ชัดเจน และทุกคนทุกฝ่ายควรปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด
          อัสสัมชัญพร้อมรับมือ
          ขณะที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เตรียมความพร้อมดูแลนักเรียนวันเปิดภาคเรียนวันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยวางมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส และขั้นตอนการเข้ามาภายในบริเวณโรงเรียน เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรของโรงเรียน โดยกำหนดจุดคัดกรองและการเข้า-ออกเพียงจุดเดียว ผ่านเครื่องสแกนใบหน้าในการตรวจวัดอุณหภูมิ และการบันทึกการเข้าเรียนและเข้าทำงานของบุคลากร ผ่านไปยังระบบแอพพลิเคชั่นที่ทางโรงเรียนอัสสัมชัญใช้อยู่เดิม สำหรับนักเรียนที่มีอุณหภูมิที่สูงเกิน 37.5 องศาฯ ขึ้นไป ต้องเข้าสู่จุดพักสังเกตอาการ โดยมีคุณครูงานสุขอนามัยและพยาบาลวิชาชีพ ตรวจสอบอาการและซักประวัติ เพื่อเข้าสู่การส่งต่อตามมาตรการที่โรงเรียนกำหนด โดยยึดแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ทุกคนที่เข้ามายังโรงเรียนอัสสัมชัญ ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และผ่านจุดคัดกรอง โดยผู้ปกครองนักเรียนและบุคคลภายนอก ที่จะเข้ามาติดต่อหน่วยงานภายในโรงเรียน ให้มาติดต่อได้หลังเวลา 08.00 น.
          มาตรการคัดกรองเข้ม
          ด้านมาสเตอร์โอภาส ธิราศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายปกครอง และประธานกรรมการมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ภราดา ดร.ศักดา สกนธวัฒน์ ผอ.โรงเรียนอัสสัมชัญ ให้วางมาตรการในการดูแลนักเรียนและบุคลากรของโรงเรียน ในวันเปิดภาคเรียน ที่จะมาถึง โดยมีคณะกรรมการร่วมกันกำหนดมาตรการในการรับมือให้ดีที่สุด เนื่องจากเป็นโรคที่อุบัติใหม่ ทางโรงเรียนได้ดำเนินการจัดทำแบบสอบ ถามออนไลน์ สำรวจประวัติการเจ็บป่วยและการเดินทางของนักเรียนและครอบครัว พร้อมดำเนินการตรวจสุขภาพบุคลากรของโรงเรียน ทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในโรงเรียน หารือกับฝ่ายวิชาการในการจัดการเรียนการสอน ให้มีผล กระทบกับการเรียนรู้ของนักเรียนให้น้อยที่สุด ขอให้ทุกคนดูแลตัวเอง ปฏิบัติตามมาตรการของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด โดยดูรายละเอียดมาตรการต่าง ๆ ได้ทางเว็บไซต์ของโรงเรียน www. assumption.ac.th
          แบ่งเวลาเรียน-ออนไลน์
          มาสเตอร์โอภาส เปิดเผยอีกว่า สำหรับการจัดการเรียนการสอน จะให้นักเรียนมาเรียนห้องละ 25 คน ตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยจะแบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม เพื่อสลับวันมาเรียนที่โรงเรียน ดังนี้ กลุ่มที่ 1.คือนักเรียนเลขที่คี่ และกลุ่มที่ 2.คือ นักเรียนเลขที่คู่ สำหรับวันที่นักเรียนไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียน ต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ ตามตารางเรียนปกติพร้อมกับนักเรียนในห้องด้วยระบบ Microsoft Teams, AC Online Classroom พร้อมทั้งจัดเว้นระยะห่างภายในห้องเรียน และภายในบริเวณโรงเรียน การรับประทานอาหาร จะจัดเหลื่อมเวลาในการรับประทานอาหาร นักเรียนต้องนำกระติกน้ำดื่มติดตัวมาโรงเรียน ลดการสัมผัสในการซื้ออาหาร โดยใช้แอพพลิเคชั่นในการชำระค่าอาหาร เว้นระยะห่างในการนั่งรับประทานอาหาร ล้างมืออย่างสม่ำเสมอด้วยสบู่เหลวหรือแอลกอฮอล์เจล ก่อนรับประทานอาหาร พนักงานโภชนาการทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ถุงมือ ผ้ากันเปื้อน และหมวก ตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงาน
          แห่เที่ยวน้ำตกพลิ้ว
          ขณะที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว ต.พลิ้ว อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้มีการเปิดทดสอบเตรียมความพร้อม ก่อนจะเปิดให้บริการในวันที่ 1 ก.ค.นี้ พบว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งไกลและใกล้จำนวนมาก ต่างพากันแห่เข้ามาต่อคิวใช้บริการกันจนแถวยาวตั้งแต่เช้ามืด โดยก่อนเข้าต้องผ่านจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ สแกนคิวอาร์โค้ด ลงทะเบียน เช็กอิน-เช็กเอาต์ผ่านแอพไทยชนะ หากใครไม่สวมหน้ากาก เจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้เข้าอย่างเด็ดขาด โดยทางอุทยานฯ น้ำตกพลิ้ว กำหนดให้นักท่องเที่ยวใช้บริการ 555 คนต่อช่วงเวลาแต่ไม่เกิน 1,665 คนต่อวัน, น้ำตกตรอกนอง 310 คนต่อช่วงเวลา ไม่เกิน 930 คนต่อวัน, น้ำตกคลองนารายณ์ 290 คนต่อช่วงเวลา ไม่เกิน 870 คนต่อวัน และน้ำตกมะกอก 160 คนต่อช่วงเวลา ไม่เกิน 480 คนต่อวัน.

 pageview  1210922    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved