Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 17/08/2563 ]
กรมควบคุมโรคชูมาตรการดูแลสุขภาพ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค..รับมือไข้เลือดออก

 "โรคไข้เลือดออก" เป็นโรคที่รู้จักกันมานาน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี่ที่มียุงลายเป็นพาหะ โรคนี้จะพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น และได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขและการแพทย์ของหลายประเทศทั่วโลก โรคไข้เลือดออกได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางจนทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ใน 30 ปีที่ผ่านมา  มากกว่า 100 ประเทศที่กลายเป็นโรคประจำถิ่น และเป็นโรคที่คุกคามสุขภาพของประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 40 (2,500 ล้านคน)ในขณะที่ยังพบการระบาดของโรคนี้อยู่เป็นระยะโดยจะพบการระบาดมากในช่วงฤดูฝนเพราะมียุงลายชุกชุม ฤดูฝนนี้!!กรมควบคุมโรคแนะมาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค"  รับมือโรคไข้เลือดออกภัยร้ายใกล้ตัว
          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ของกรมควบคุมโรค ในปี 2563 ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2563 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมทั่วประเทศ 38,004 ราย  เสียชีวิต 27 ราย  และจากข้อมูลการกระจายของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรายภาค พบว่าภาคที่อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (82.52) รองลงมาได้แก่ ภาคเหนือ (56.85) ภาคกลาง(40.60) และภาคใต้(38.92)ตามลำดับ โดยพบว่าอัตราป่วยโรคไข้เลือดออกตามกลุ่มอายุ ต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือกลุ่มอายุ 5-14 ปี (185.96) รองลงมาคืออายุ 15-24 ปี(112.37)และอายุ 0 - 4 ปี(64.19)ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มอายุ 45-54 ปีและ 55-64 ปีมีอัตราป่วยตายสูงที่สุด(ร้อยละ 0.17) ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้แก่ มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน ทานยาในกลุ่ม NSAIDS เช่น Ibuprofen และจากการที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาช้า
          "โรคไข้เลือดออก" เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี่พบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น โรคนี้ติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค  เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก  เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้นแล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย โดยเชื้อไวรัสจะใช้เวลาฟักตัวในยุงประมาณ 8-10 วัน  เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัดซึ่งเชื้อจะฟักตัวในคนประมาณ 5-8 วัน และเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายก็จะทำให้คนนั้นป่วยได้  ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ตั้งแต่เริ่มมีอาการของไข้เลือดออก คือ ไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ติดต่อกันประมาณ 3-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ บางคนจะบ่นปวดรอบกระบอกตา ปวดเมื่อยแขนขา ปวดกระดูกและอาจมีผื่นแดงตามตัว ซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน ซึ่งผู้ป่วยบางรายแค่มีอาการไข้ขึ้นสูงพอไข้ลดก็กลับบ้านได้เลย แต่ผู้ป่วยบางรายอาการหนัก จนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานโรคของตัวผู้ป่วย จึงทำให้ความรุนแรงของอาการไข้เลือดออกในแต่ละคนไม่เท่ากัน
          จึงขอแนะนำประชาชนและทุกหน่วยงาน ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและในชุมชน ตามมาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา นอกจากนี้ ประชาชนสามารถป้องกันไม่ให้ยุงกัดได้ โดยสวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ เช่น DEET ใช้กลิ่นกันยุง เช่น ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่นๆ นอนในมุ้ง และหากมีอาการไข้สูงปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หน้าแดง มีผื่น มีรอยจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา เบื่ออาหาร จุกแน่นลิ้นปี่ หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422.

 pageview  1210917    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved