Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 28/09/2563 ]
มูลนิธิรามาฯ ชวนดูแล หัวใจ ตัวเองและผู้อื่น

 ท่ามกลางอุบัติการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกต่างวิตกกังวลถึงปัญหาสุขภาวะอนามัยในสังคม ยังมีอีกหนึ่งภัยเงียบใกล้ตัวที่อาจกำลังคุกคามชีวิตพวกเราทุกคนโดยไม่รู้ตัว อย่าง "โรคหัวใจ" โรคไม่ติดต่อ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในทุกขณะเวลา จากสถิติล่าสุดประเทศไทยพบมีอัตราตัวเลขผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจสูงกว่า 20,000 รายต่อปี หรือทุก ๆ หนึ่งชั่วโมงมีผู้เสียชีวิต 2 คน ในโอกาส "วันหัวใจโลก" ซึ่งตรงกับวันที่ 29 ก.ย. ของทุกปี มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์กรการกุศลที่ให้การสนับสนุนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเคียงข้างคนไทยมาอย่างยาวนาน ให้ความรู้พร้อมชวนคนไทยทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการ "ให้. (กำลัง)ใจ"
          นพ.ธัชพงศ์ งามอุโฆษ อาจารย์สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ หัวหน้างานศูนย์รักษาหัวใจ หลอดเลือด และเมแทบอลิซึม คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล และประธานองค์กรนานาชาติด้านโรคไฟฟ้าหัวใจ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2020 ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจว่า เป็นคำจำกัดความที่ครอบคลุมถึงหลายภาวะและมีหลายชนิด ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับหัวใจห้องบนและห้องล่าง หากเกิดขึ้นกับหัวใจห้องล่าง คนไข้เสียชีวิตทันทีหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าไหลตาย แต่ถ้าหากเกิดกับหัวใจห้องบนส่งผลให้หัวใจเต้นไม่สัมพันธ์กัน หรือเรียกว่า "โรคหัวใจเต้นระริก" ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งมีโอกาสหลุดออกจากหัวใจไปอุดกั้นหลอดเลือดสมอง นำมาซึ่งการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
          หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการของโรคหัวใจเต้นระริก โรคประจำตัวบางชนิดหรือหลายพฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวันก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ อย่างผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น รวมถึง การสูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนมากเกินไป รับประทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูงเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งความเครียด เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นระริกและเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ปัจจุบันภาวะหัวใจเต้นระริกสามารถรักษาได้หลายวิธี แต่ผู้ป่วยส่วนมากไม่มีสัญญาณเตือนก่อน จึงมักมาพบแพทย์เมื่อช้าไป ดังนั้นควรหมั่นสังเกตตนเอง เช่น การเช็กชีพจรสม่ำเสมอ เป็นการตรวจตัวเองได้เบื้องต้น หรือการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด เพื่อลดความเสี่ยง
          สำหรับผู้ที่ต้องการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอด เลือดในเบื้องต้น สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น "Thai CV risk calcu lator" เพื่อให้ทราบถึงเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน และโรคเส้นเลือดสมองตีบตันในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าได้ด้วยตนเอง ซึ่งแบบประเมินนี้ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างขึ้น เพื่อติดตามศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทย ภายใต้โครงการศึกษาพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี เพื่อคนไทยทุกคน
          ขณะที่ พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า นอกจากอยากให้ทุกคนดูแลรักษาสุขภาพกายใจของตัวเอง และคนรอบข้างให้แข็งแรงแล้ว ท่ามกลางสถาน การณ์ที่ผันผวนเช่นนี้ในฐานะตัวแทนของมูลนิธิฯ อยากเชิญชวนทุกคนในสังคมร่วมสืบสานวัฒน ธรรมแห่งการให้และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อ "กำลังใจ" หยิบยื่นพลังบวกให้กันและกัน ร่วมสร้างและส่งต่อกำลังใจนี้ไปยังผู้ป่วยยากไร้ผ่านการสมทบทุนกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ หรือสนับสนุนของที่ระลึกที่มีสัญลักษณ์หัวใจอินฟินิตี้ เส้นสายหัวใจสีแดงที่ต่อกันเป็นรูป "อินฟินิตี้" ที่ใช้สื่อถึงความหมายของ "คำว่า ไม่สิ้นสุด (infinity)" ทุกกำลังใจ ทุกกำลังทรัพย์ แปรเปลี่ยนเป็นพลังแห่งการให้ที่ยิ่งใหญ่ เพื่อใช้สร้างและพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์และความเท่าเทียมในการรักษาที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง เติมเต็มโอกาสและความหวังในการรักษาที่ดียิ่งขึ้นให้พี่น้องคนไทยทุกคนต่อไป.

 pageview  1210916    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved