Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 21/10/2563 ]
กลิ่นหอม จากธรรมชาติ ผ่อนคลายให้ความสดชื่น

 นอกจากการมองเห็น การได้ยิน การรับรู้รสและการสัมผัส "กลิ่น" และการได้กลิ่นเป็นอีกสิ่งสำคัญซึ่งมากไปด้วยเรื่องน่ารู้หลายมิติ โดยเฉพาะกลิ่นหอมจากพืชพรรณไม้ธรรมชาติที่แวดล้อมใกล้กับตัวเรา...
          "สุคนธบำบัด" การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมเพื่อการผ่อนคลาย โดยศาสตร์ดังกล่าวที่ผ่านมาได้รับการกล่าวขานถึงมายาวนาน โดยองค์ความรู้ ความเป็นมา การคิดค้นนำประโยชน์จากสิ่งที่เป็นธรรมชาติมาประยุกต์ดูแลสุขภาพกายใจด้วยสุคนธบำบัด หลากเรื่องน่ารู้จากศาสตร์แขนงนี้ จากเสน่ห์กลิ่นหอมของนานาพืชพรรณไม้ที่มีเอกลักษณ์
          นายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบาย ให้ความรู้ นำองค์ความรู้ตำราวิชาการสุคนธบำบัดที่ทางกองการแพทย์ทางเลือก และผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านสุคนธบำบัดของไทยซึ่งศึกษารวบรวมร่วมกันไว้ นำมาเผยแพร่ว่า สุคนธบำบัด เป็นศาสตร์และศิลปะที่นำมาใช้กันมายาวนาน เป็นการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อสร้างเสริมและปรับสมดุลของร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ซึ่งการใช้สารสกัดจากพืชหอม และน้ำมันหอมระเหยมีอย่างแพร่หลายในยุโรปและซีกโลกตะวันออกมาก่อน ทั้งนี้ด้วยที่ค้นพบประโยชน์ของพืชหอมมากขึ้น และมีวิธีการสกัดที่ดีขึ้น
          คุณหมอเทวัญเล่าอีกว่า ศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของการใช้น้ำมันหอมระเหย การใช้ประโยชน์ปรากฏหลักฐานการใช้มากว่า 5,000 ปี จากชุมชนที่มีอารยธรรมโบราณ เช่น อียิปต์ กรีก โรมัน จีน ฯลฯ โดยจากหลักฐานภาพได้แสดงให้เห็นถึงการนำน้ำมันหอมระเหย (essential oil) จากพืชชนิดต่าง ๆ มาใช้ในหลายลักษณะ
          แต่ทั้งนี้การใช้กลิ่นบำบัดอาการทางร่างกาย และปรุงแต่งอารมณ์ที่เรียกกันในปัจจุบันว่า สุคนธบำบัด (aromatherapy) ใช้ครั้งแรกโดยนักเคมีชาวฝรั่งเศส ซึ่งครั้งนั้นใช้น้ำมันจากลาเวนเดอร์ ซึ่งก็ทำให้มีความสนใจถึงคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยกันอย่างกว้างขวาง ทำให้ศาสตร์แขนงนี้เริ่มแพร่หลาย ทั้งมีการสกัดกลิ่นอื่น ๆ เพิ่มขึ้น
          "สำหรับประเทศไทยอโรมาเทอราพีน่าจะมีขึ้นประมาณยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยเข้ามาในสายของการแพทย์ทางเลือก นำมาใช้เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างหนังสือตำราสุคนธบำบัดเล่มนี้ ค้นคว้าจัดทำขึ้นช่วงที่ศาสตร์แขนงนี้ได้รับการกล่าวถึง โดยครั้งนั้นก็ได้เข้าร่วมทำงานในคณะบรรณาธิการ ตำราดังกล่าวนี้ได้รวบรวมองค์ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์จากท่านผู้รู้ เผยแพร่เพื่อเป็นเอกสารวิชาการสำหรับการค้นคว้านำไปประกอบการศึกษาต่อเนื่องต่อไป"
          อย่างไรก็ตาม กลิ่นแต่ละกลิ่นมีผลต่อร่างกายไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติมีสารทางเคมีที่ต่างกัน การรับรู้ของแต่ละบุคคลก็ต่างกัน อย่างบางคนนอนไม่หลับเมื่อได้รับกลิ่นน้ำมันหอมระเหยจาก คาโมมายด์ หรือพืชพรรณไม้ที่ใกล้ตัวของไทยหลายชนิด อย่างเช่น กระดังงา ก็ช่วยให้ผ่อนคลาย หลับสบายได้ดีขึ้น
          ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก ให้ความรู้เพิ่มถึงพืชใกล้ตัวอีกหลายชนิด ที่มีคุณสมบัติเด่น ให้กลิ่นหอม ดังเช่น กุหลาบ กระดังงา มะลิ ฯลฯ หรือพืชต่างประเทศ เช่น ลาเวนเดอร์ โรสแมรี่ ฯลฯ หรือในกลุ่มพืชสมุนไพร พืชที่นิยมปลูกนำมาจัดแต่งสวนก็มีหลายชนิด ไม่เพียงให้ความรื่นรมย์ สีสันรูปทรงสวย ในความหอมยังโดดเด่นอย่างเช่น ตะไคร้ มะกรูด ขิง ขมิ้น ไพล ฯลฯ ให้กลิ่นสดชื่น ช่วยในการผ่อนคลาย โดยกลิ่นหอมของพืชแต่ละชนิดมีคุณสมบัติน่าศึกษาต่างกัน
          อีกทั้งน้ำมันหอมระเหยบางชนิด ยังสามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อ สร้างเสริมบรรยากาศให้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยไล่ยุงและแมลงบางชนิด รวมทั้งใช้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ฯลฯ ทั้งนี้การนำมาใช้ต้องทราบอย่างถ่องแท้ ใช้อย่างถูกต้อง เหมาะสม อาทิ ขมิ้นชัน พืชล้มลุกสูงประมาณหนึ่งเมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในสีเหลืองเข้มจนถึงสีแสดเข้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
          โดยลักษณะทางพฤกษศาสตร์ยังกล่าวถึงลักษณะใบ ซึ่งเรียวและปลายแหลม ดอกเป็นช่อ สีเหลืองอ่อน มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย อินเดีย จีนและหมู่เกาะอินเดียทางตะวันออก การสกัดกลั่นโดยใช้ไอน้ำจากเหง้า ซึ่งจะได้น้ำมันหอมระเหย น้ำมันที่ได้จะมีสีเหลืองอมส้ม กลิ่นเผ็ดร้อน โดยสรรพคุณของน้ำมันหอมระเหยช่วยแก้ปวด แก้อักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ฯลฯ
          ขิง พืชที่มีกลิ่นโดดเด่น เป็นพืชล้มลุกเช่นเดียวกัน ทั้งยังนำมาปรุงนำมารับประทาน เป็นส่วนผสมในอาหารมากด้วยคุณประโยชน์ ส่วนสรรพคุณของน้ำมันหอมระเหยช่วยแก้ปวด ฆ่าเชื้อโรค ฯลฯ ตะไคร้หอม ก็เช่นกัน สามารถนำใบกลั่นด้วยไอน้ำซึ่งจะได้น้ำมันหอมระเหยซึ่งก็มีข้อเด่นหลายด้านช่วยทั้งการดับกลิ่นและยังช่วยไล่แมลง ฯลฯ
          ขณะที่ ส้มโอ ใช้ใบ ดอก เปลือกผลนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยได้ซึ่งให้ความหอม อย่างส่วนดอกช่วยให้นอนหลับสบายคลายเครียด ผิวเปลือกแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย ฯลฯ และที่คุ้นเคยคู่ครัวเรือน กะเพรา พืชสมุนไพรใกล้ตัวชนิดนี้ปลูกขึ้นง่าย ให้กลิ่นเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนำมาปรุงอาหารยังนิยมนำใบใส่ลงในน้ำร้อนเป็นชา นอกจากให้กลิ่นหอมยังช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด และเมื่อสูดดมกลิ่นช่วยบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก
          นอกจากนี้มีข้อมูลกล่าวถึงพืชให้ดอกสีสันสวยอย่าง จำปี มีการสกัดนำกลิ่นมาใช้ กุหลาบมอญ ดอกกุหลาบเล็ก ๆ เมื่อนำมา สกัดน้ำมันหอมระเหยจะได้กลิ่นหอมของกุหลาบ ซึ่งก็นำมาใช้ประโยชน์หลายประการ เป็นอีกตัวอย่างของอโรมาเทอราพีที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และเมื่อมีความผ่อนคลายร่างกายก็จะปรับสมดุล
          อย่างไรก็ตามย้อนกลับไปในวิถีไทย กลิ่นหอมชวนชื่นใจเหล่านี้ มีการนำมาใช้อยู่แล้วในวิถีชีวิตของเรา โดยคุณหมอเทวัญเล่าทิ้งท้ายเพิ่มว่า การร้อยมาลัยมะลิที่นำมาบูชาพระ หรือนำมามอบให้แก่ผู้ใหญ่ บุคคลที่เคารพ เมื่อสัมผัสกับกลิ่นหอมของดอกไม้ก็เหมือนอโรมาเทอราพี เพียงแต่ไม่ได้นำมาทำเป็นสารสกัดน้ำมันหอมระเหย แต่ ใช้ดอกมะลิสด อีกทั้งมีความหอมจากดอกไม้ ใบไม้อีกหลายชนิด ทั้งยังมีการประดิษฐ์สร้างสรรค์เทียนหอมให้กลิ่นความหอมซึ่งมีที่มาจากธรรมชาติ
          สร้างกลิ่นหอมที่มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ สร้างการรับรู้ให้ความรู้สึกที่ต่างกัน โดยในความต่างยังเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ ๆกลิ่นหอมจากธรรมชาติจากนานาพรรณไม้จึงไม่เพียงบอกเล่าเฉพาะความหอม...
          แต่มากด้วยเรื่องราวน่ารู้ ส่งต่อการศึกษาการค้นคว้าต่อเนื่องต่อไป.

          "เป็นศาสตร์และศิลปะที่ใช้กันมายาวนาน"

 pageview  1210910    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved