Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 12/02/2564 ]
เปิดชื่อ10จังหวัดฉีดวัคซีน

  ประเดิมสู้ภัยโควิด-19 ฤกษ์ลงเข็มก.พ.-เม.ย.
          สธ.ได้ฤกษ์ลงเข็มฉีดวัคซีนสู้ภัยไวรัสมรณะ เปิดชื่อ 10 จังหวัด สมุทรสาคร-กรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมฯ- สมุทรปราการ-ระยอง-ชลบุรี-จันท์-ตราด-ตาก ก.พ.-เม.ย. ฉีดวัคซีนอันดับแรกก่อนใคร กั๊ก 6.6 หมื่นโด๊ส เผื่อพื้นที่ระบาดใหม่ "ศบค." เร่งค้นหาเชิงรุกในกรุงเทพฯ พบติดเชื้ออีก 6 เขต ภาษีเจริญ-บางแค-บางบอนคลองเตย-สาทร-ปทุมวัน เตือน อย่าไปในพื้นที่คนพลุกพล่าน ส่วนสมุทรสาครไล่ตรวจหาไม่หยุด 15-19 ก.พ. ได้วันละ 8 พันคน
          สมุทรสาครป่วยอีก 73 คน
          เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 11 ก.พ. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ว่า  วันนี้มีติดเชื้อใหม่ 201 ราย แบ่งเป็น  1.เป็นการติดเชื้อในประเทศ 185 ราย โดยมาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 96 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก  89 ราย ในจำนวนนี้เป็นการค้นหาเชิงรุก จ.สมุทรสาคร 73 ราย ตาก  14 ราย กทม. 1  ราย และ  จ.ระยอง 1 ราย 2.มาจากต่างประเทศ 16 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม  24,104 ราย หายป่วย  19,799 ราย อยู่ระหว่างรักษา  4,225 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมยอดคงที่ 80 ศพ ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ป่วยสะสม 107,849,724 ราย เสียชีวิต  2,364,864 ศพ
          กรุงเทพฯ ค้นหาเข้มข้น
          พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ วันนี้มีผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวัง 16 ราย โดยกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 14 ราย ยังมีการสอบสวนโรคและค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดในพื้นที่โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ตลาดชุมชนขณะนี้มีการตรวจหาเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ไปแล้วทั้งสิ้น 59,845 ราย โดยมี2 เขต ที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อคือสัมพันธวงศ์และสะพานสูง ใน 1-2 วันนี้มีเขตที่พบผู้ติดเชื้อ 6 เขต คือ ภาษีเจริญบางแคบางบอน คลองเตยสาทร และเขตปทุมวัน ต้องเฝ้าระวังเข้มข้นเพราะพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ในเมืองมีคนเข้าออกจำนวนมาก ใครไปในพื้นที่มีประชาชนพลุกพล่านขอให้ระมัดระวังตัวเอง
          สมุทรสาครไล่ตรวจ
          ผช.โฆษกฯ เปิดเผยว่า ขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่18 ธ.ค.มีรายงานผู้ติดเชื้อครั้งแรก มาตรการต่างๆ ได้ออกมาโดยพื้นที่เป้าหมายการค้นหาเชิงรุกใน จ.สมุทรสาคร มีทั้งหมด1,880 แห่ง ตั้งแต่วันที่26 ธ.ค.-8 ก.พ. มีการค้นหาเชิงรุกไปแล้ว 1,048 แห่ง เป็นการค้นหาเชิงรุกโรงงานขนาดใหญ่ 97 แห่ง ขนาดกลาง223 แห่ง ขนาดเล็ก953 แห่ง นอกจากนี้ยังค้นหาเชิงรุกในตลาดสด 15 แห่ง ชุมชน952 แห่ง สำหรับโรงงานขนาดใหญ่ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10%จำนวน 9 แห่ง ที่เราได้ใช้มาตรการให้พนักงานโรงงาน เดินทางได้เฉพาะโรงงานกับหอพัก หรือหอพักกับโรงงาน (บับเบิ้ลแอนด์ซีล) นั้นเราดูแลคนงานไปทั้งสิ้น 42,424 ราย หวังว่าคนที่อยู่ในโรงงานแล้วไม่มีอาการสามารถทำงานได้จะมีภูมิคุ้มกัน
          5 วัน วันละ  8 พันคน
          พญ.อภิสมัย ระบุว่า ทั้งนี้มีการคิดมาตรการว่าในวันที่ 15-19 ก.พ. รวม 5 วัน จะเริ่มตรวจภูมิคุ้มกันส่วนตัวให้ได้วันละ 8,000 รายเป็นต้นไป โดยที่ประชุม ศบค. ยังคุยกันว่าถ้าตรวจแล้วพบภูมิคุ้มกันธรรมชาติ ควรให้เขากลับบ้านไปใช้ชีวิตปกติได้หรือไม่ แล้วจะพิจารณาผ่อนคลายได้หรือไม่ เป็นแผนที่เราคุยกันไว้ขอให้ติดตาม ทางกรมควบคุมโรคได้อธิบายว่า โรคติดต่ออยู่กับสังคมมนุษยชาติมานาน เราคุ้นเคยกับวัณโรค เอดส์ โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหม่ที่ระยะยาวต้องเรียนรู้จะอยู่กับโรค เหมือนภูเขาน้ำแข็งที่มียอดโผล่ขึ้นมา ผู้ติดเชื้อเหมือนกับยอด สิ่งที่ต้องทำกันคือเราจะรอให้ติดเชื้อมาก ๆ ไม่ได้เมื่อเจอแล้วต้องไปหาค้นหาและสอบสวนโรค เพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมโรค เป้าหมายให้เป็นศูนย์คงไม่ได้ แต่เมื่อเจอแล้วต้องรักษา
          เล็งฉีดวัคซีน 10 จว.
          ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการกระจายวัคซีน จำนวน 2 ล้านโด๊สแรก จากซิโนแวคประเทศจีน ว่า พื้นที่เป้าหมายการฉีดในระยะเร่งด่วนช่วงเดือน ก.พ.เม.ย. จะกระจายใน 10 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ที่พบการติดเชื้อต่อเนื่อง โดยจะให้บริการในสถานพยาบาลที่มีแพทย์ และห้องฉุกเฉินทั้งรัฐและเอกชน โดย 1 คน ฉีด2 เข็ม ประกอบด้วย 1.สมุทรสาคร 8.2 แสนโด๊ส จำนวน 4.1 แสนคน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 6,000 คน ผู้มีโรคประจำตัว36,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.5 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 2.1 แสนคน
          กทม.-นนท์-ปทุมฯ
          นพ.โสภณ เปิดเผยว่า2.กรุงเทพฯ 8 แสนโด๊ส จำนวน4 แสนคน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 32,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 8,000 คน ผู้มีโรคประจำตัว1 แสนคน ผู้ที่มีอายุ60 ปีขึ้นไป 1 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1.6 แสนคน 3.นนทบุรี 26,000 โด๊สจำนวน13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน 4.ปทุมธานี 26,000 โด๊ส จำนวน13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน 5.สมุทรปราการ 28,000 โด๊ส จำนวน14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 5,000 คน
          ระยอง-ชล-จันท์-ตราด
          นพ.โสภณ ระบุต่อว่า6.ระยอง 18,000 โด๊ส จำนวน9,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน 7.ชลบุรี 28,000 โด๊ส จำนวน14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 10,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน 8.จันทบุรี 16,000 โด๊ส จำนวน8,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 6,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน 9.ตราด 12,000 โด๊สจำนวน6,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,000 คน
          กั๊กไว้ 6.6 หมื่นโด๊ส
          นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า10.ตาก 1.6 แสนโด๊ส จำนวน80,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว10,000 คน ผู้ที่มีอายุ60 ปีขึ้นไป 10,000 คน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 50,000 คน รวมวัคซีนทั้งสิ้น1,934,000 โด๊ส จำนวน967,000 คน ส่วนอีก 66,000 โด๊สสำหรับ33,000 คนนั้น จะสำรองไว้เผื่อมีพื้นที่อื่นระบาดเกิดขึ้น โดยจะให้กับพื้นที่ที่อยู่โดยรอบพื้นที่ระบาด เพื่อเป็นการสกัดวงการแพร่เชื้อ ส่วนระยะที่2 จำนวน 61 ล้านโด๊ส จะดำเนินการกระจายในช่วงเดือน มิ.ย. และให้แล้วเสร็จภายในปี 64 มีอัตราการฉีดใน รพ.ที่แพทย์และห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ 1,000 แห่ง วันละ500 โด๊ส 20 วันต่อเดือนเฉลี่ย 10 ล้านโด๊สต่อเดือน หากในอนาคตเมื่อวัคซีนมีความปลอดภัยมากขึ้น อาจพิจารณาขยายการให้บริการใน รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บางแห่งที่มีอุปกรณ์
          นพ.โสภณ เปิดเผยว่าจากการที่กรมควบคุมโรค ดำเนินการสำรวจทัศนคติ ความเห็นของประชาชนเมื่อวันที่ 26 ม.ค.-8 ก.พ. จำนวน 2,879 ตัวอย่าง พบว่ากลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนก่อน คือบุคลากรทางการแพทย์70% ผู้สูงอายุ 40 %ทุกคน 35%ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 33%และเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ 22% ทางวิชาการกลุ่มเด็กและหญิงตั้งครรภ์ ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเพราะวัคซีนเป็นการใช้ภาวะฉุกเฉิน ไม่ได้มีการทดลองใน2 กลุ่มนี้ นอกจากนี้หากไม่มีรายงานการติดเชื้อ การป่วยและเสียชีวิตจากโควิด ยังต้องการฉีดวัคซีนมากน้อยแค่ไหน พบว่ายังต้องการมาก ปานกลางและน้อยรวมประมาณ 70%ไม่ต้องการฉีด 18%และไม่แน่ใจ 12%
          ฉีดวัคซีนกันเชื้อได้
          ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมการกลุ่มที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ ว่าด้วยการก่อภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลก ได้ออกข้อเสนอแนะว่า วัคซีนโควิดของแอสตราเซเนกา มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ควรจัดสรรให้ทั่วในหลายประเทศ เช่นแอฟริกาใต้ ซึ่งพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์ด้วย นอกจากนี้ควรต้องฉีด2 โด๊ส คนที่ได้รับวัคซีนครบทุกโด๊สแล้ว ไม่จำเป็นต้องกักตัวหลังพบรายงานว่า มีคนฉีดวัคซีนแล้วอยู่ใกล้ชิดกับคนติดเชื้อ ไม่พบว่ามีอาการติดเชื้อ ส่วนที่ประเทศมาเลเซีย คณะกรรมการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลมาเลเซีย แถลงว่า มาเลเซียจะขยายโครงการจัดฉีดวัคซีนฟรีให้แก่ประชาชน และครอบคลุมถึงชาวต่างชาติทุกคนที่อาศัยอยู่ในมาเลเซียด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน และแรงงานที่ไม่มีเอกสารถูกต้อง คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนได้ในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ ให้ครอบคลุมร้อยละ 80 ของประชากรทั่วประเทศ 32 ล้านคน
          เว็บไซต์ข่าวโทรทัศน์ดับเบิลยูเอบีซี ในสหรัฐรายงานว่า คณะกรรมาธิการสาธารณสุขรัฐนิวยอร์ก แถลงยืนยันว่ามีชายวัย70 ปี ไม่พบว่ามีประวัติแพ้ยาหรือวัคซีน เข้ารับการฉีดในนครนิวยอร์กเสร็จแล้ว เดินออกมาจากศูนย์ได้เพียง 25 นาที ก่อนจะล้มลงและไปเสียชีวิตที่ รพ. นพ.โฮเวิร์ด ซัคเกอร์ กรรมาธิการสาธารณสุข ระบุว่าเบื้องต้นไม่พบว่าชายคนนี้มีอาการแพ้วัคซีน ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขยืนยันว่าวัคซีนปลอดภัย ทุกคนควรจะสวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างทางสังคมเอาไว้ เพื่อยุติการแพร่ระบาด.

 pageview  1210888    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved